การดูแลภายหลังการตาย (Bereavement Care): แนวทางการช่วยเหลือญาติและครอบครัวของผู้ป่วย

ไอคอนของ IDevice การดูแลภายหลังการตาย (Bereavement Care): แนวทางการช่วยเหลือญาติและครอบครัวของผู้ป่วย
  1. เข้าใจและยอมรับว่าครอบครัวย่อมมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียและการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัวอาจจะแตกต่างกันไป เช่น ความรู้สึกผิดเพราะคิดว่าน่าจะพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เร็วกว่านี้ โดยการช่วยให้ญาติมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกันจะช่วยให้ความรู้สึกผิดลดน้อยลงไปได้

  2. ให้สมาชิกในครอบครัวได้ระบายอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ โดยจัดสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีคนรบกวนและมีความปลอดภัยจากการที่ญาติอาจทำร้ายตนเอง

  3. การติดต่อสื่อสารกับญาติผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหนัก การบอกปัญหาและอาการต่างๆ ของผู้ป่วยหนักให้ญาติทราบ ควรพูดกับญาติหลายๆ คน พร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการประคับประคองทางด้านอารมณ์ของญาติ พยาบาลจะต้องอธิบายให้ญาติผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับแผนการรักษาของแพทย์ เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะตามมาและให้ญาติเตรียมใจ

  4. เปิดโอกาสให้ญาติได้ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยืดหยุ่นกฎระเบียบต่างๆ ของโรงพยาบาล บางครั้งญาติผู้ป่วยหนักจะพบกับความคับข้องใจในกฎระเบียบของการเยี่ยมอย่างมาก เช่น ใช้กฎการเยี่ยมเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ระหว่างครอบครัว ผู้ป่วยหนักบางรายจะมีอาการสงบเมื่อภรรยาหรือบุตรหลานมาเยี่ยม การยืดหยุ่นกฎระเบียบของการเยี่ยมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากญาติไม่ได้อยู่เฝ้าผู้ป่วยพยาบาลควรสอบถามญาติว่าจะติดต่อกับใคร พร้อมขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ

  5. เปิดโอกาสให้ญาติได้แสดงความคิดเห็นต่อการรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์และพยาบาล ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แพทย์และพยาบาลควรปรึกษาญาติเพื่อให้ญาติได้มีเวลาปรับตัวรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะตามมาหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เพราะการชะลอเวลาการเสียชีวิตของผู้ป่วยบางรายจะช่วยด้านจิตใจของญาติให้ผ่านพ้นความรู้สึกผิดและความโกรธต่อสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ขณะที่ผู้ป่วยใกล้จะตายหรือเสียชีวิตใหม่ๆ แพทย์และพยาบาลควรอยู่ใกล้ๆ ญาติสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ญาติอบอุ่นใจและยอมรับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่ผู้ป่วยจะต้องจากไป

    หากผู้ป่วยและญาติต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน พยาบาลจะให้คำแนะนำและฝึกให้ญาติดูแลผู้ป่วย เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การทำแผล การให้อาหารทางสายให้อาหาร เป็นต้น

  6. ช่วยวางแผนและตัดสินใจร่วมกับญาติเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ครอบครัวกำลังประสบอยู่

  7. ช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่สมาชิกในครอบครัวให้ดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติโดยให้การช่วยเหลือตามที่สามารถทำได้ เช่น เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วพยาบาลให้การช่วยเหลือในการแต่งศพ เป็นที่ปรึกษาในการรับศพ การเคลื่อนย้ายศพ การติดต่อสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พยาบาลจะช่วยเหลือญาติให้เข้มแข็งขึ้น สามารถเผชิญกับการสูญเสียได้

Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล