การพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ไอคอนของ IDevice การพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การดูแลด้านร่างกาย พยาบาลให้การพยาบาลที่ตอบสนองปัญหา และความต้องการขั้นพื้นฐานด้วยความนุ่มนวล เอื้ออาทรต่อผู้ป่วย ลดความทุกข์ทรมานต่างๆ เช่น การดูแลความสะอาดร่างกาย ปากฟัน อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก การดูแผล การควบคุมอาการปวด เป็นต้น โดยต้องวางแผนการใช้เวลาดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ รบกวนเวลาผู้ป่วยให้น้อยที่สุด ให้เวลาผู้ป่วยได้มีเวลาสงบจิตใจ และพิจารณาตนเอง

การดูแลด้านจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วยและครอบครัว โดยมีหลักการดูแลที่สำคัญในการให้พยาบาลผู้ป่วยและครอบครัวที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

 

  1. การประเมินความต้องการของผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลประคับประคอง การประเมินปัญหาของผู้ป่วย โดยการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อค้นปัญหา และให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกต่างๆ ออกมา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น พยาบาลควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดถึงความเจ็บป่วย ความตาย ไม่ว่าผู้ป่วยจะพูดออกมาอย่างไร พยาบาลจะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี รับฟังด้วยท่าทีที่สงบ และไม่โต้แย้งกับผู้ป่วย ดังนั้นพยาบาลจึงควรมีประสบการณ์ ทักษะ และเทคนิคที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยบอกเล่าถึงปัญหาของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับความตาย ผู้ป่วยอาจแยกตนเอง อาจมีท่าทีตื่นกลัว หรือซึมเศร้ามาก พยาบาลอาจช่วยด้วยการชวนพูดคุยด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ต้องการให้การช่วยเหลืออะไร พยายามให้ผู้ป่วยแสดงความรู้สึกว่าคิดอย่างไร เช่น
    • มีอะไรที่พยาบาลจะช่วยเหลือคุณได้บ้าง
    • สิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดขณะนี้คืออะไร
    • เราทุกคนเป็นห่วงคุณมาก วันนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง
    • วันนี้อยากเล่าอะไรให้พยาบาลฟังบ้าง

    • นอกจากนี้พยาบาลควรจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช เพื่อขอคำแนะนำถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น รวมทั้งพยาบาลควรมีความจริงใจไม่หลอกลวง หรือแสดงความคิดเห็นคล้อยตามความคิดที่ไม่ถูกต้องของผู้ป่วย การพูดความจริงและแนะนำในสิ่งที่ผู้ป่วยยึดเหนี่ยวหรือมีความเชื่อถืออยู่ เช่น ศาสนาและเหตุผลที่เป็นไปได้จริง จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับรู้กับเหตุการณ์ได้ตรงกับความจริงได้ดีขึ้น การหลอกลวงไม่พูดความจริงจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวหมดศรัทธาในตัวพยาบาล เมื่อผู้ป่วยได้รับทราบความจริงในภายหลัง หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตใจที่อาจรุนแรงต้องส่งปรึกษาจิตเวช

  2. การบอกข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบ โดยอธิบายให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจในการวินิจฉัยโรค ความก้าวหน้าของโรค แผนการรักษา ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้การรับรู้ต่อเหตุการณ์ถูกต้องตามความเป็นจริง การแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะทำได้ตรงจุดมากขึ้น ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวลจะได้หมดไป ทั้งนี้เพราะพยาบาลมีเวลาดูแลผู้ป่วยมาก ย่อมมีโอกาสที่จะอธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจได้ดี การยอมรับและความร่วมมือต่อการรักษาพยาบาลมีมากขึ้น

  3. จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีโอกาสพูดคุยระบายความรู้สึกออกมา

  4. ให้ผู้ป่วยตระหนักในคุณค่าชีวิตและศักดิ์ศรีของตนเอง พยาบาลและญาติจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าชีวิตของผู้ป่วยมีความหมาย และมีค่าแม้จะมีเวลาน้อยแล้วก็ตาม ช่วงใกล้ตายควรมีบุคคลอย่างน้อยสักคนหนึ่งอยู่ใกล้ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกหรือสื่อสารด้วย พยาบาลต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลหนึ่งเหมือนเรา ต้องการความสุข การยอมรับนับถือ การใช้วาจาที่สุภาพนุ่มนวลต่อผู้ป่วยให้เขาได้รับรู้ ไม่ควรห่างเหินผู้ป่วยมาก เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมได้ ควรช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสแสดงบทบาทเดิมเหมือนเมื่อยังปกติอยู่ โดยแนะนำให้ญาติ หรือเพื่อนฝูงที่ผู้ป่วยรักใคร่ไว้วางใจผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยียน แสดงความรักใคร่ห่วงใยเพื่อให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าของตนเองเพิ่มขึ้น พยาบาลควรเป็นผู้รับฟังที่ดี และช่วยให้ผู้ป่วยรำลึกถึงอดีตในส่วนที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและภาคภูมิใจ ผู้ป่วยระยะนี้ต้องการความจริงใจและตรงไปตรงมา เพื่อให้สามารถใช้กลไกการปรับตัวได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีปัญหาอะไรพยาบาลควรเป็นสื่อกลางที่ดี

  5. การสร้างสัมพันธภาพที่ดีและความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยไว้วางใจ และมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่ถูกทอดทิ้งให้รู้สึกหวาดกลัว เจ็บปวด หรือว้าเหว่อยู่ผู้เดียว พยาบาลสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต พยาบาลบางคนมีความรู้สึกวิตกกังวล (Anxiety) ในการที่ต้องดูแลผู้ป่วยใกล้ตายซึ่งส่วนใหญ่แล้วความวิตกกังวลนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเห็นความตาย ถึงแม้ว่าการให้การพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นจะก่อให้เกิดความเครียดและทำร้ายจิตใจ พยาบาลเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด พยาบาลเป็นผู้ที่คอยช่วยให้กำลังใจถ่ายทอดความหวังให้แก่ผู้ป่วย และเป็นผู้นำทางผู้ป่วยไปสู่สุคติ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของพยาบาล

  6. การบรรเทาความทุกข์ทรมานทางกายของผู้ป่วย โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่เกิดจากอาการของโรค พยาบาลจะให้ยาแก้ปวดตามแผนการรักษา และประเมินระดับความปวด (pain score) เพื่อการให้ยาที่มีประสิทธิภาพ และบรรเทาอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย

  7. ความเชื่อ ศาสนา และปรัชญาชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อความตายของผู้ป่วยย่อมมีความหมาย พยาบาลจะได้ประเมินถึงสิ่งเหล่านี้จากผู้ป่วยเพื่อความเข้าใจและให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง บางครั้งผู้ป่วยและญาติเมื่อทราบว่าไม่มีหวังก็ยังต้องการชะลอชีวิตให้นานที่สุด ใครแนะนำอะไรก็เชื่อทำตามคล้ายคนขาดเหตุผล พยาบาลควรให้สติแก่ผู้ป่วยด้วยความเหมาะสม ความเชื่อบางสิ่งที่ไม่ขัดต่อการรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวต้องการก็ควรพิจารณาอนุโลมให้ เช่น การขอให้พระมาให้ศีลต่ออายุ การใช้น้ำมนต์ การทำบุญ การทำละหมาด เป็นต้น

    ผู้ป่วยที่ใกล้ตายเมื่อวิญญาณจะออกจากร่าง ควรให้อยู่ในสภาพที่สงบที่สุด ไม่ว่าผู้ป่วยจะนับถือศาสนาใดก็ตาม พยาบาลควรมีส่วนร่วมช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบทั้งกาย จิตวิญญาณ ตามแนวทางของแต่ละศาสนาเพื่อนำไปสู่สุคติ เมื่อผู้ป่วยเจ็บหนักใกล้จะตาย หรือเรียกว่าเข้ามรณาสันนกาลแล้ว โสตประสาท และจักษุประสาทยังไม่ดับ สิ่งที่สำคัญในระยะนี้ คือ การนำทางจิตวิญญาณ (spiritual guidance) ไม่ว่าผู้ป่วยกำลังจะตายจากสาเหตุใดก็ตาม เพราะทุกศาสนาต่างเชื่อในหลักกฎแห่งกรรมและชีวิตหลังความตาย ซึ่งอาจจะมีรูปแบบและการตีความหมายที่แตกต่างกันเท่านั้น

    • ศาสนาพุทธ มีประเพณีปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล คือ “การบอกหนทาง” ให้แก่ผู้ที่กำลังจะตาย วิธีนี้อาจกระทำได้โดยพระ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข การบอกหนทางดังกล่าว คือ การพูดจูงใจให้เตรียมสติให้ผู้ที่กำลังจะตาย ระลึกถึงกรรมดีหรือบุญกุศลที่เคยทำไว้ หรือบอกให้นึกถึงพุทโธ พุทโธ อะระหังๆๆ ไปเรื่อยๆ จนสิ้นลม อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่มรณาสันนวิถี ซึ่งเป็นวิถีสุดท้ายซึ่งใกล้ชิดกับความตายอย่างมาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้สิ่งใดทางทวารทั้ง 5 ได้เลย ดังนั้นการบอกหนทาง หรือการให้สติแก่ผู้ป่วยควรกระทำในตอนต้นๆ ของมรณาสันนกาลในขณะที่ยังพอมีสติดีอยู่

    • ศาสนาอิสลาม ได้แนะนำการปฏิบัติช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ควรให้บุคคลซึ่งผู้ป่วยรักและไว้ใจมากที่สุดเป็นผู้ดูแล และเตือนให้ผู้ป่วยสำนึกผิดและขออภัยจากอัลเลาะฮ์และเตือนให้กล่าว “ลาอิลาฮะอิลอัลลอฮ์” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะฮ์) ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ดำรงอยู่คู่ชีวิตของชาวมุสลิมตั้งแต่เมื่อแรกเกิดจนถึงยามที่ชีวิตจะดับขันธ์ การเตือนผู้ป่วยด้วยถ้อยคำ “ลาอิลาฮะอิลอัลลอฮ์” ไม่ควรเร่งเร้า หรือกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ และหากผู้ป่วยเคยละเมิดผู้อื่นไว้ก็ฝากขออภัยต่อผู้นั้นเสีย เพราะการสำนึกผิดเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคนและทุกสภาวะ นอกจากนี้ ยังควรเตือนให้ผู้ป่วยได้สั่งเสียเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรื่องอื่นๆ แก่ทายาทหรือผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากช่วงเวลานี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ผู้ป่วยจะได้สั่งเสียแก่ทายาทในสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับในช่วงเวลานี้ นักวิชาการบางส่วนยังเห็นว่าควรให้อ่าน ซูเราะฮ์ยาซีน แก่ผู้ป่วยด้วย หากผู้รักษาเห็นผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักมากแล้ว ก็ควรดูแลโดยการหยอดน้ำเพื่อมิให้ลำคอของผู้ป่วยแห้งผากเกินไป และควรจัดการให้ผู้ป่วยได้นอนหันหน้าไปทางกิบลัต (ที่นครเมกกะ) โดยตะแคงด้านขวา หรือนอนหงายโดยยกศีรษะให้สูงขึ้นหันหน้าไปทางกิบลัตก็ได้หากเป็นการไม่ลำบากเกินไป แต่หากมีอุปสรรคมากให้ผู้ป่วยได้นอนในท่าที่สบายที่สุด

    • ศาสนาคริสต์ เชื่อว่า ความตายเป็นหนทางสู่ชีวิตใหม่ตามความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพทำให้ชาวคาทอลิกไม่หวาดกลัวเรื่องนี้อีกต่อไป โดยเชื่อว่าความตายเป็นเครื่องกระตุ้นให้มนุษย์มีความหวังและซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า หากมนุษย์เชื่อมั่นในพระเจ้าและมอบความรักให้แก่พระองค์ทั้งชีวิต ผู้นั้นก็จะได้ใกล้ชิดพระองค์และมีชีวิตนิรันดร์ ชาวคาทอลิกที่กำลังจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยจะได้รับศีลเจิม ซึ่งเป็นการโปรดศีลให้แก่ผู้ซึ่งกำลังป่วยหนักหรือใกล้จะเสียชีวิต เพื่อให้ได้รับพระพรฝ่ายจิตวิญญาณในการอดทนและต่อสู้กับความเจ็บป่วยต่อไป หรือในกรณีใกล้ตายก็จะเป็นการรับพรก่อนที่จะก้าวสู่อีกมิติหนึ่งของชีวิต ซึ่งก่อนจะประกอบศีลเจิมแก่ผู้ป่วยนี้ บาทหลวงควรสอบถามถึงอาการของผู้ป่วยเพื่อจะได้ประกอบพิธีและเลือกบทอ่านกับบทภาวนาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังควรเตรียมการร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย พร้อมอธิบายความหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ให้เข้าใจไปพร้อมๆ กันด้วย (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2550 : 226 - 295)

  8. ผู้ป่วยบางรายต้องการวางแผนชีวิตบั้นปลายเกี่ยวกับธุรกิจส่วนตัว เช่น การทำพินัยกรรม การวางแผนอนาคตของบุคคลในครอบครัว พยาบาลควรช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาของผู้ป่วยและญาติ พยาบาลควรมีความรู้เกี่ยวกับการทำพินัยกรรมพอสมควร ถ้าไม่รู้ควรปรึกษานิติเวชหรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำพินัยกรรม การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนาก่อนตาย ซึ่งต้องทำเป็นเอกสาร และมีพยานซึ่งอาจเป็นทนายความหรือแพทย์นิติเวช ความรู้สึกของผู้ป่วยใกล้ตายสามารถรับรู้ได้โดยการสัมผัส การมองเห็น และการได้ยินจะค่อยๆ เสื่อมลง และไม่ชัดเจน ซึ่งการได้ยินจะเป็นความรู้สึกสุดท้าย เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัวหรือถึงแก่กรรม

    เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น ซึม หายใจเหนื่อยมากขึ้น ชีพจรเบา ช้าลงหรือเร็วขึ้น ความดันโลหิตลดลง ควรปฏิบัติดังนี้

    1. บันทึกสัญญาณชีพ V/S ทุก 1 ชั่วโมง แจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบทุกครั้ง และใช้โอกาสนี้พูดคุยและให้กำลังใจญาติ
    2. ให้การพยาบาลอย่างนุ่มนวลตามแผนการพยาบาลและแผนการรักษา เช่น การให้ออกซิเจน การดูดเสมหะ การให้ยาระงับปวด เป็นต้น
    3. แพทย์ พยาบาล และญาติผู้ป่วยร่วมปรึกษาหารือกัน และให้ญาติเป็นผู้ตัดสินใจในการให้แพทย์ช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation) หรือไม่ หากญาติตัดสินใจให้ผู้ป่วยจากไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องช่วยฟื้นคืนหรือใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยญาติจะต้องบอกให้ทุกคนในครอบครัวรับทราบ และยอมรับการตัดสินใจของญาติด้วย ในกรณีที่ญาติคนอื่นๆ ในครอบครัวยังยอมรับไม่ได้ พยาบาลจะประสานให้ญาติได้พูดคุยกับแพทย์อีกครั้ง โดยมีพยาบาลร่วมให้ข้อมูลต่างๆ ด้วย เพื่อการตัดสินใจร่วมกันของญาติอีกครั้ง
    4. จัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยได้อยู่กับญาติตามลำพัง และกั้นม่านให้ตามความเหมาะสม บรรยากาศเงียบสงบ
    5. แจ้งให้ญาติทราบ เพื่อแจ้งให้ครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รักของผู้ป่วยทราบ
    6. เมื่อความดันโลหิตเริ่มต่ำมาก พยาบาลจะทำหน้าที่แนะนำให้ญาติผู้ป่วยบอกทางให้ผู้ป่วย โดยให้ญาติจับมือผู้ป่วย และกระซิบบอกทาง โดยให้นึกถึงคุณงามความดีที่ผู้ป่วยกระทำมา ไม่ให้วิตกกังวลเกี่ยวกับลูกๆ หรือผู้ที่อยู่ข้างหลัง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ สามรถดูแลตนเองได้
    7. เมื่อผู้ป่วยจากไปพยาบาลกล่าวแสดงความเสียใจกับญาติผู้ป่วยและให้เวลากับญาติในการแสดงความอาลัยกับผู้ป่วยประมาณ 15–30 นาที หรือเมื่อพร้อม พยาบาลจะเข้าไปทำความสะอาดร่างกาย และแต่งตัวให้ตามที่ญาติจัดเตรียมเสื้อผ้ามาให้

 


Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล