ปฏิกิริยาตอบสนองในระยะสุดท้ายของชีวิต

ไอคอนของ IDevice ปฏิกิริยาตอบสนองในระยะสุดท้ายของชีวิต
        ผู้ป่วยที่กำลังเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต แพทย์และพยาบาลมักถูกผู้ป่วยหรือญาติซักถาม เมื่อต้องบอกข่าวเกี่ยวกับอาการของโรคแก่ผู้ป่วย ด้วยความรู้สึกที่ยุ่งยากใจ ทีมสุขภาพควรเข้าใจปฏิกิริยาตอบสนอง ของบุคคลที่อยู่ในภาวะสุดท้ายของชีวิต ในการปรับตัวของผู้ป่วยเพื่อรับกับความตาย (Dying stages) ตามแนวคิดของ คูเบอร์ รอส (Kubler Ross) ดังนี้
  1. ระยะปฏิเสธ (The stage of denial) เมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับตนเอง ผู้ป่วยมักปฏิเสธความจริง ไม่เชื่อว่าจะเป็นตนเอง ในระยะปฏิเสธนี้ ผู้ป่วยคิดว่าไม่ใช่เรื่องจริง

  2. ระยะโกรธ (The stage of anger) เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นได้ ต่อมาผู้ป่วยรู้สึกโกรธต่อโชคชะตาของตัวเอง หรือกล่าวโทษผู้อื่น หรือระบายอารมณ์ใส่ผู้ใกล้ชิด หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุหรือเหตุผล

  3. ระยะต่อรอง (The stage of bargaining) ผู้ป่วยเริ่มยอมรับแต่พยายามต่อรองกับสิ่งที่ตนเองนับถือหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่มีอำนาจที่มองไม่เห็น อาจบนบานหรือทำบุญสะเดาะเคราะห์กรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความหวังขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวออกไป

  4. ระยะซึมเศร้า (The stage of depression) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้า และแยกตัว เมื่อเริ่มตระหนักว่าตนเองไม่อาจหนีความตายไปได้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมองหาความหมายของชีวิตที่เหลืออยู่

  5. ระยะยอมรับ (The stage of acceptance) ผู้ป่วยยอมรับความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กล้าผจญความตายด้วยจิตใจสงบ ผู้ป่วยเริ่มจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่ หรือการสั่งเสียก่อนที่ตนเองจะเสียชีวิต
        ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้ง 5 ระยะ ในผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องดำเนินไป
ตามขั้นตอนตามลำดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางร่างกาย จิตสังคม จิตวิญญาณ ของผู้ป่วยแต่ละบุคคล


Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล