การเตรียมร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้ป่วยและญาติก่อนระยะสุดท้าย

ไอคอนของ IDevice การเตรียมร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้ป่วยและญาติก่อนระยะสุดท้าย

ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย พยาบาลจะต้องประเมินผู้ป่วยว่ามีความพร้อม ยอมรับการเจ็บป่วยของตนว่าการดำเนินของโรคกำลังเข้าสู่ระยะสุดท้าย โดยการประเมินสภาพร่างกาย และจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับรู้หรือรู้สึกว่าอาการของตนเองไม่ดีขึ้น แม้จะได้รับการรักษาเป็นอย่างดี หากผู้ป่วยยังไม่พร้อมหรือไม่ยอมรับการเจ็บป่วยที่กำลังดำเนินเข้าสู่ระยะสุดท้ายได้ ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลสูง มีอารมณ์ปรวนแปรง่ายและมีอารมณ์โกรธ ปฏิเสธ ก้าวร้าว ต่อรอง หงุดหงิดให้เห็นได้ชัดเจน ญาติของผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย พยาบาลควรเตรียมผู้ป่วยและญาติให้พร้อมก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้าย คือ



  1. การประคับประคองด้านจิตใจของผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับอาการของโรค ให้เวลากับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พยาบาลใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติทราบว่ามีความปรารถนาดี และห่วงใย เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับความจริงของโรคที่เป็นมากขึ้น พยาบาลอาจสนทนากับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติยอมรับว่าโรคที่เป็นอยู่กำลังลุกลามมากขึ้น เช่น
    • ขณะนี้คุณรู้สึกอย่างไร
    • ช่วงนี้คุณมีอาการผิดปกติมากไหม
    • คุณคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้คุณมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น
    • คุณอยากบอกอะไรให้เรารับรู้บ้าง
    หากผู้ป่วยหรือญาติต้องการสนทนาหรือรับทราบข้อมูลจากแพทย์ พยาบาลจะเป็นผู้ประสานงานให้ เนื่องจากญาติมักจะเกรงใจไม่กล้าซักถาม เพราะเกรงจะรบกวนแพทย์ หากผู้ป่วยต้องการสิ่งใด พยาบาลต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด และไม่แสดงอาการรีบเร่ง ขณะให้การพยาบาลหรือสนทนาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว การแสดความเห็นใจ เข้าใจผู้ป่วยอย่างจริงใจ โดยการฟังผู้ป่วยและญาติ ใช้ความเงียบเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีเวลาคิดทบทวนความรู้สึกของตนเอง พยาบาลอาจใช้การสัมผัสโดยการจับที่มือหรือแขนผู้ป่วย เพื่อถ่ายทอดพลังความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือเสริมสร้างพลังอำนาจให้กำลังใจผู้ป่วยต่อสู้กับโรคต่อไป

  2. ให้การดูแลความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ความสุขสบายของผู้ป่วย การบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ความเจ็บปวด แผลกดทับ การทำแผลรูเปิดต่างๆ

  3. การประเมินปัญหาความเจ็บป่วย การวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ให้ทางเลือกในการรักษาของผู้ป่วย เพื่อร่วมกันตัดสินใจ สำหรับผู้ป่วยและญาติที่ยอมรับว่าโรคที่เป็นอยู่กำลังดำเนินเข้าสู่ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยและญาติจะรู้สึกสงบ เตรียมพร้อมรับการจากไป โดยไม่กระวนกระวาย พยาบาลจะให้การประคับประคองด้านจิตใจ ทำให้การดูแลด้านร่างกายและความสุขสบายของผู้ป่วย จากการศึกษาของ นิภาวรรณ สามารถกิจ และจันทร์พร ยอดยิ่ง (2541: 40 - 56) พบว่า การจำกัดเวลาเยี่ยมและจำนวนคนเข้าเยี่ยม ทำให้สมาชิกครอบครัวต้องให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของตนอยู่ในความดูแลของบุคลากรทีมสุขภาพที่เปรียบเสมือนคนแปลกหน้า ดังนั้น พยาบาลควรผ่อนผันกฎระเบียบของโรงพยาบาล เช่น ไม่เข้มงวดเวลาเยี่ยม การจัดกิจกรรมทางศาสนาที่เหมาะสม เป็นต้น ให้แก่สมาชิกในครอบครัว

 


Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล