ประเด็นจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือใกล้ตายมักเกิดสถานการณ์ที่ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย หรือครอบครัวผู้ป่วย เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในตนเอง ตามความเชื่อในคุณค่าการรักษาพยาบาล การมีชีวิต การเจ็บป่วย การตาย และการมีชีวิตหลังการตาย ความสามารถในการตัดสินใจเลือกหรือตัดสินใจของแต่ละบุคคลย่อมก่อให้เกิดประเด็นจริยธรรมต่างๆ ดังนี้ (นิการีหม๊ะ   นิจินิการี, 2547 : 17 - 26)
  1. การรักษาพยาบาลเพื่อการยืดชีวิต ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างมาก และเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย และช่วยชะลอความตาย หรือยืดชีวิตให้ยาวนานออกไป แต่อยู่บนความทุกข์ทรมานของตัวผู้ป่วยเอง และสมาชิกของครอบครัว เพราะการยืดชีวิตโดยร่างกายไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ การยืดชีวิตหรือการชะลอความตายเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยการตัดสินใจซึ่งอาจก่อให้เกิดประเด็นจริยธรรม เช่น การช่วยฟื้นคืนชีพเพราะผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตนเอง มีแต่การตัดสินใจของทีมสุขภาพและญาติ หรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพดีขึ้น มีชีวิตที่ไม่รับรู้ใดๆ จึงมีข้อถกเถียงกันที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรยุติการใช้เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วย

  2. การยุติการรักษาพยาบาลที่ยืดชีวิต ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่กับเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานานในการยืดชีวิต ต้องนอนบนเตียงไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ได้ ต้องทนทุกข์ทรมานมีชีวิตอยู่อย่างไร้คุณค่า ไร้ความสามารถ เป็นภาระในการดูแลของผู้อื่น (เกสรา ศรีพิชญาการ, 2540) อยู่ในสภาพ “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” จากการรักษาพยาบาลที่ยืดชีวิต และจากการมีชีวิตที่ฝืนธรรมชาติ จึงทำให้มีการยุติหรือเลิกการยืดชีวิต คือ เมตตามรณะ หรือการตายอย่างสงบ (euthanasia / peaceful death) เมตตามรณะแบ่งตามความสามารถของผู้ป่วย 2 ประเภท คือ
เมตตามรณะโดยตรง (active euthanasia or mercy killing directly) การกระทำให้ผู้ป่วยตายโดยตรงตามความสมัครใจของผู้ป่วย เช่น การให้ยาในขนาดที่ทำให้ถึงตายได้
เมตตามรณะโดยอ้อม (passive euthanasia) การยอมหรือปล่อยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังโดยไม่ให้การรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ป่วย แต่จะให้การรักษาแบบประคับประคอง หรือบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน จากอาการเจ็บปวด
  1. เมตตามรณะโดยสมัครใจ (voluntary euthanasia) เป็นการให้แพทย์ฉีดยาให้ตนเองหลับโดยไม่ต้องตื่นขึ้นมาพบความทุกข์ทรมาน หรือให้ยุติการรักษาพยาบาลตนเอง จึงเป็นการกระทำตามประสงค์ของผู้ป่วย ผู้ป่วยตัดสินใจด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ (พินิจ รัตนกุล, 2538 : 289 - 309)
  2. เมตตามรณะโดยผู้ป่วยไม่สมัครใจ (involuntary euthanasia) ญาติมีความประสงค์ให้แพทย์ยุติการรักษา และยุติการยืดชีวิตผู้ป่วย เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์แก่ผู้ป่วยแต่กลับทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน การตัดสินใจของทีมสุขภาพต้องอยู่บนพื้นฐานเจตนาดีต่อผู้ป่วย ความเมตตาที่มีต่อผู้ป่วย
ในอดีต ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิที่จะตายและการยื่นคำร้องต่อศาลสั่งเลิกการรักษา ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาที่ขัดแย้งจึงต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วพิจารณาไปก่อน มีการประชุมระหว่างแพทย์และนักกฎหมาย มีความคิดเห็นตรงกันคือ เมตตามรณะโดยตรง (active euthanasia) เห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการเร่งการตาย ส่วนกรณีเมตตามรณะโดยอ้อม (passive euthanasia) ที่เกิดจากความต้องการของผู้ป่วยเอง (voluntary passive euthanasia) ควรจะเป็นเรื่องที่กระทำได้ และการทราบเจตนาของผู้ป่วยที่ชัดเจน คือ การยอมรับเจตนาที่แสดงไว้ล่วงหน้า (แสวง บุญเฉลิมวิภาส และเอนก ยมจินดา, 2546) แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ (พ.ศ.2550 ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2550: 10) “มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิ์ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตคนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง แล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง” การทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย เป็นการแจ้งความต้องการของตนเองให้ญาติ และครอบครัวทราบ ช่วยลดข้อขัดแย้งในครอบครัวในการวางแผนการรักษาผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับความทุกข์ทรมานจากการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยยืดการตายออกไป ซึ่งไม่เกิดประโยชน์หรือไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ นอกจากนั้น ครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจำเป็น ไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวภายหลัง
แม้จะมีกฎหมายรองรับให้บุคคลที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะยืดชีวิตได้นั้น ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจที่ต้องอาศัยการตัดสินใจเชิงจริยธรรมด้วยเมตตาธรรมและความเข้าใจในมนุษย์

สรุป พยาบาลที่เข้าใจชีวิตและความตาย จะแสดงบทบาทของพยาบาลที่ยืนอยู่ข้างผู้ป่วย และครอบครัว ให้ความเข้าใจ ในความเชื่อ ศรัทธา ศาสนาที่ผู้ป่วยและญาติยึดถือ ให้การตอบข้อซักถาม ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้การพยาบาลที่ผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับในคุณภาพที่ครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผู้ป่วยจากไปด้วยความสงบสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ พยาบาลต้องตระหนักและระมัดระวังประเด็นข้อขัดแย้งทางจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 


 

Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล