ชีวิตและความตายตามแนวทางหรือทัศนะของศาสนา

ไอคอนของ IDevice ชีวิตและความตายตามแนวทางหรือทัศนะของศาสนา
พระพุทธศาสนา
ความตายในความหมายของพุทธศาสนา
ชาวพุทธ มีความเชื่อว่าความตายเป็นการดับของขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร เมื่อขันธ์ 5 ดับ คือกายกับจิตดับลง จุดนั้นเรียกว่าความตาย ในทางการแพทย์ให้ความหมายของความตายว่า “หัวใจหยุดเต้น” หรือ “สมองหยุดทำงาน” จึงจำกัดอยู่เฉพาะทางกาย หรือรูป เท่านั้น ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มุ่งเน้นเฉพาะมิติทางกาย แต่ในทางพุทธศาสนา ความหมายของความตาย ไม่ใช่เฉพาะทางกาย แต่ยังรวมถึงการดับลงของจิตด้วย ดังนั้น แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในทางพุทธ จึงต้องดูแลครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ
คริสต์ศาสนา ความตายในความหมายของคริสต์ศาสนา
ชาวคาทอลิก เชื่อว่า “ความตาย” คือภาวะที่ร่างกายและวิญญาณแยกออกจากกัน มนุษย์เกิดมาครั้งเดียว และตายครั้งเดียว เมื่อตาย ร่างกายซึ่งเป็นสสารจะสลายกลายเป็นธุลีตามเดิม ขณะที่วิญญาณซึ่งแยกออกจากร่างกายจะถูกนำไปพิพากษาทันทีตามบาปบุญของตน ชาวคาทอลิกยังมีความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพภายหลังความตาย คือ มนุษย์จะถูกตัดสินโทษบาปของตนครั้งแรก เมื่อตายภาวะวิญญาณที่แยกออกจากร่างกาย และถูกนำไปยังสวรรค์ หรือสถานไฟชำระ (นรก) ตามบาปบุญของตนเอง
ศาสนาอิสลาม ความตายในความหมายของศาสนาอิสลาม
ความตาย คือ การกลับสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระอัลเลาะฮ์ ซึ่งเรียกว่า “อายัล” เมื่อชาวมุสลิมทราบข่าวการตายของมุสลิมไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม ก็จะกล่าวข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานว่า “แท้จริงเราเป็นของอัลเลาะฮ์ และแท้จริงเราเป็นผู้กลับไปหาพระองค์”
ความตายตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่า มิใช่การดับสูญหรือการสูญเสีย แต่เป็นการเคลื่อนย้ายสถานที่จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง และถือว่าเนื้อแท้ของมนุษย์มิใช่เรือนร่างอันเป็นวัตถุแต่เป็น “วิญญาณ” (รูห์) ซึ่งยังคงสภาพอยู่ และเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายไปสู่ชีวิตใหม่

Licensed under the Creative Commons Attribution 3.0 License

รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์ ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล