ภาวะลำไส้หยุดการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัด (postoperative ileus) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลังผ่าตัดระบบทางเดินอาหารซึ่งโดยปกติลำไส้สามารถฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวเป็นปกติได้เองโดยที่ลำไส้เล็กจะกลับมาเคลื่อนไหวภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ลำไส้ใหญ่จะกลับมาเคลื่อนไหวภายใน 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัดแต่หากลำไส้กลับมาเคลื่อนไหวที่นานกว่าปกติ (prolong postoperative ileus หรือ paralytic ileus)จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

 

 การส่งเสริมการฟื้นตัวของลำไส้หลังผ่าตัดมีหลายวิธีด้วยกันหนึ่งในนั้นคือวิธีการเคี้ยวหมากฝรั่งซึ่งจากการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหลังผ่าตัดช่องท้องแบบเปิดในโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557 จำนวน 64 ราย แบ่งเป็น กลุ่มทดลองจำนวน 32 ราย ได้เคี้ยวหมากฝรั่งแบบแผ่น ชนิดปราศจากน้ำตาล รสผลไม้รวม ครั้งละ 1 ชิ้น วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัดจนกระทั่งเริ่มรับประทานอาหารเหลว และกลุ่มควบคุมจำนวน 32 รายไมได้เคี้ยวหมากฝรั่ง พบว่ากลุ่มทดลองมีอัตราการเคลื่อนไหวของลำไส้หลังเคี้ยวหมากฝรั่งมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.00) กลุ่มทดลองมีระยะเวลาที่เริ่มผายลมครั้งแรกหลังผ่าตัดสั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.04) และกลุ่มทดลองมีระยะเวลาที่เริ่มถ่ายอุจจาระครั้งแรกหลังผ่าตัดสั้นกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.02)

การเคี้ยวหมากฝรั่งสามารถส่งเสริมการฟื้นตัวของลำไส้ได้ เนื่องจาก ในระหว่างการเคี้ยวหมาฝรั่งจะเกิดกลไกย่อย 3 กลไก ได้แก่ 1) กลไกการเคี้ยว 2) กลไกการรับรสและ 3)กลไกการรับกลิ่นโดยกลไกย่อยทั้ง 3 กลไกนี้ จะทำให้เกิดสัญญาณประสาท ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปยัง cerebral cortex จากนั้นจะถูกส่งลงไปยังระบบประสาทส่วนกลางบริเวณ hypothalamusแล้วลงมากระตุ้นเส้นประสาทวากัสที่ไปยังระบบทางเดินอาหารซึ่งเป็นการกระตุ้นในระยะที่อาหารยังไม่ตกลงถึงกระเพาะอาหาร (cephalic phase) เส้นประสาทวากัสที่ถูกกระตุ้นนี้จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทภายในที่อยู่บริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้รวมทั้งตับอ่อนให้หลั่งสารสื่อประสาทเพปไทด์และฮอร์โมนต่างๆ อันได้แก่ acetylcholine, GRP, gastrin, histamine, substance P และ serotonin ซึ่งสารต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เกิดการบีบตัวและคลายตัวอย่างเป็นระบบ สัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องเกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้จึงทำให้ลำไส้ฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งสามารถประเมินได้โดยการฟังเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ การผายลมและการถ่ายอุจจาระหลังผ่าตัด

การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นวิธีการหนึ่งที่พยาบาลและแพทย์ควรนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของลำไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก สามารถนำไปใช้ได้ง่าย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย

PDF Download


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1331663