คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ ได้จัดกิจกรรมอบรมถอดบทเรียน ในหัวข้อ “ถอดบทเรียน : จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ” เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง 508 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยทิพย์ เจี่ยวิวรรธน์กุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุคลากรคณะพยาบาลศาสตร์ มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการถอดบทเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการถอดบทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้คณะฯ ก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป สำหรับบรรยากาศการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นไปอย่างสบายๆ และมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยทิพย์ เจี่ยวิวรรธน์กุล ได้กล่าวถึงประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ว่า จะเป็นการชวนคิด ชวนคุย และชวนทำใน 4 ประเด็นหลัก คือ

บทเรียน/ การถอดบทเรียน

1. คืออะไร
2. สำคัญอย่างไร
3. ควรทำเมื่อใด
4. ทำอย่างไร

เรื่องเล่าเร้าพลัง

วิทยากรได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม คิดว่าในชีวิตเราที่ผ่านมามีบทเรียนอะไรบ้าง (2 นาที)

โดยขอให้นึกถึงบทเรียนที่สำคัญ
ทำไมจึงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นบทเรียนของเรา
เราได้สิ่งที่เรียกว่าบทเรียนนั้นมาได้อย่างไร
สรุปว่า บทเรียน คืออะไร

และขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น

ซึ่งบทสรุปพบว่า บทเรียน (Lesson Learned) คือ ความรู้ที่เป็น “ข้อค้นพบใหม่” เพราะหากเป็นความรู้ที่มีอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องถอดบทเรียนก็ได้ คำว่า “ใหม่” นี้ มาจากการเรียนรู้/ประสบการณ์ (จากการทำงานจริง)

คำถามก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม

ลักษณะการนั่งฟังและนำมาสกัดแล้วนำสิ่งนั้นมาเขียนใช่บทเรียนหรือไม่

ตอบ บทเรียนเป็นสิ่งที่ฝังอยู่กับตัวเรา การอ่านและจำแล้วนำมาเล่าอาจยังไม่ใช่บทเรียน แต่หากมีการตกผลึกทางความคิด จนซึมซับสู่ตัวเราแล้วทำให้เราสามารถถ่ายทอดออกมาได้ เรียกว่าเป็นบทเรียน

บทเรียน/ การถอดบทเรียน คืออะไร?

“บทเรียน” เป็นสิ่งที่อธิบายว่า “ทำไมถึงเกิด” “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” ซึ่งเป็นการอธิบายเหตุการณ์และเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องเล่า แต่ต้องมีคำอธิบายที่มีคุณค่า และสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ ซึ่งบทเรียนจะช่วยให้ไม่กระทำผิดซ้ำ โดยบทเรียน มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ บทเรียนทางลบ เช่น บทเรียนจากความล้มเหลว และบทเรียนทางบวก ซึ่งบทเรียนที่ดีจะทำให้เรายกเป้าหมายการทำงานของเราให้สูงขึ้น และสิ่งสำคัญของบทเรียนคือ ทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการ “เกิดการเรียนรู้”

ตัวอย่างบทเรียนจากการทำงาน เช่น

- ถ้าคณะทำงานทุกระดับเข้าใจเป้าหมายของโครงการร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น แล้วโครงการจะมีความก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งทำให้เห็นภาพของคำว่า “if…then”
- ถ้าได้คนที่ทำงานโดยตรงเข้าร่วมการถอดบทเรียน จะทำให้ได้บทเรียนที่ตรงตามความเป็นจริงและสามารถนำไปใช้ได้ดี คือเป็นบทเรียนจากการถอดบทเรียน

ซึ่งบทเรียนที่ดี ต้องมีการตีความได้ตรงกับความเป็นจริง และบทเรียนที่มีคุณค่า คือ บทเรียนของเรา แต่คนอื่นสามารถนำไปใช้ได้

บทเรียน/ การถอดบทเรียน สำคัญอย่างไร ?

สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงาน คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิธีคิด ระบบคุณค่า

การเรียนรู้ (Learning) คือ การรับรู้ (Reception) ความเข้าใจ (Comprehension) โดยเชื่อมโยงจากสิ่งที่รับรู้กับความรู้เดิมของเรา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Transformation) ถือเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้

การถอดบทเรียน (Lesson Learned) เป็นทั้งแนวคิดและเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของการจัดการความรู้ โดยเป็นกระบวนการดึงเอาความรู้จากการทำงานออกมาใช้เป็นทุนในการทำงานเพื่อยกระดับให้ดียิ่งขึ้น การถอดบทเรียน จึงเป็นการสกัดความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) ออกมาเป็นบทเรียน/ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ซึ่งผลที่ได้จากการถอดบทเรียน ทำให้ได้บทเรียนในรูปแบบชุดความรู้ (ที่เป็นรูปธรรม) และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เข้าร่วมกระบวนการ อันนำมาซึ่งการปรับวิธีคิด และเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพยิ่งขึ้น

ลักษณะของบทเรียน สามารถจำแนกตามบุคคล/กลุ่ม/โครงการ ได้แก่ บทเรียนของปัจเจก บทเรียนของกลุ่ม/ทีมงาน บทเรียนของโครงการ จำแนกตามระยะเวลา ได้แก่ บทเรียนที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อจบเหตุการณ์ บทเรียนที่เก็บสะสมข้อมูลในอดีต และจำแนกตามเนื้อหา ได้แก่ บทเรียนเชิงประเด็น บทเรียนทั้งโครงการ

บทเรียนในแต่ละลักษณะ จะมีเทคนิคและการใช้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และการถอดบทเรียนตามแนวคิดแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย มีข้อแตกต่างกันดังนี้

แบบดั้งเดิม การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว มีการแสวงหาความล้มเหลวเพื่อเป็นบทเรียน มีการประชุมวางแผนหลังเกิดเหตุการณ์ ทบทวนตลอดกระบวนการ มีการรายงานสรุปและข้อเสนอแนะ และให้ความสำคัญกับผลงานในอดีต

แบบร่วมสมัย การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดโครงการ มีการวางแผนดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย มีการประชุมวางแผนก่อนเกิดเหตุการณ์ ทบทวนเฉพาะจุดเน้นที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานไปข้างหน้า และให้ความสำคัญกับการวางแผนเพื่อความสำเร็จในอนาคต

บทเรียน/ การถอดบทเรียน ควรทำเมื่อใด ?

การถอดบทเรียน สามารถกระทำได้ 3 ช่วง คือ

1. ถอดบทเรียนก่อนดำเนินการ เป็นการเรียนรู้ก่อนที่จะเกิดข้อผิดพลาด
2. ถอดบทเรียนระหว่างดำเนินการ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน
3. ถอดบทเรียนหลังดำเนินการ เป็นการเรียนรู้เพื่อการดำเนินงานในครั้งต่อไป

วิธีวิทยาการถอดบทเรียน ประกอบด้วย

การถอดบทเรียนด้วยการเรียนรู้จากเพื่อน (Peer Assist - PA)

เป็นการเรียนรู้ก่อนการทำกิจกรรม โดยเป็นการเรียนรู้จากเขา เขาเรียนรู้จากเรา ทั้งเราและเขาเรียนรู้ร่วมกัน และสิ่งที่เราร่วมกันสร้าง (เกิดความรู้ใหม่) โดยมีลักษณะเป็นการประชุม/ประชุมเชิงปฏิบัติ 

การถอดบทเรียนแบบเล่าเรื่อง (Story Telling)

เป็นการเรียนรู้ก่อนหรือระหว่างทำกิจกรรม ด้วยการให้ผู้มีความรู้จากการปฏิบัติ ปลดปล่อยความรู้ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวออกมาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยผู้เล่าจะเล่าความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในตัวที่เกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งผู้ฟังสามารถตีความได้โดยอิสระ และเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนผลการตีความแล้ว จะทำให้ได้ความรู้ที่สามารถบันทึกไว้เป็นชุดความรู้

ซึ่งการถอดบทเรียนในลักษณะนี้ จะเป็นการสกัดความรู้จากเรื่องที่เล่าออกมา ว่ามีคุณค่าและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นเพียงการเล่าเรื่องในอดีต

การถอดบทเรียนหลังปฏิบัติการ (After Action Review: AAR)

ที่มาของ AAR นั้น มาจากกองทัพสหรัฐฯ โดยเกิดจากการนำผลการรบมาปรับปรุงเพื่อการรบครั้งต่อไป ดังนั้น AAR จึงเป็นการจับความรู้ที่เกิดขึ้นสั้นๆ ภายหลังการทำกิจกรรม แล้วนำไปสู่การวางแผนในครั้งต่อไป ทำให้คนทำรู้สึกตื่นตัวและมีความรู้สึกผูกพันกับงาน โดยโครงการ/กิจกรรมที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ ไม่จำเป็นต้องทำ AAR ซึ่งรูปแบบการทำ AAR สามารถดำเนินการได้ทั้งระหว่างการทำกิจกรรมเพื่อปรับปรุง/แก้ไขระหว่างการทำงาน หรือ “การทำไป คิดไป แก้ไขไป” และภายหลังสิ้นสุดแต่ละกิจกรรมเพื่อนำไปวางแผนกิจกรรมครั้งต่อไป

ค่าน้ำหนักความสำคัญในการถอดบทเรียน AAR ประกอบด้วย

1. ภาพความสำเร็จอะไรที่คาดหวัง, สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 25
2. ทำไมจึงเกิดความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น/มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด (คือการวิเคราะห์เงื่อนไข ปัจจัย) ร้อยละ 25
3. เราจะทำอะไรต่อไปให้ดีขึ้น/ข้อเสนอแนะที่เจาะจง สามารถนำไปปฏิบัติได้ ร้อยละ 50 (ได้บทเรียน)

ข้อเสนอแนะที่เจาะจงและปฏิบัติได้ (Specific Actionable Recommendation: SARs) หมายถึง ชุดข้อความที่แสดงถึงการที่ทีมงานได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนากิจกรรม เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานครั้งต่อไป ซึ่งควรเป็นข้อเสนอแนะที่ระบุถึงลักษณะที่ต้องแก้ไข และวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม โดยทีมงานทุกคนต้องเข้าใจตรงกันต่อข้อเสนอแนะนั้นๆ และข้อเสนอแนะเหล่านั้นจะถูกนำไปบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการในครั้งต่อไป

สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นใน AAR คือ การวิพากษ์วิจารณ์หรือวินิจฉัยว่าใครถูกใครผิด เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมของกลุ่ม การทำ AAR ไม่ใช่การบ่นหรือวิเคราะห์ในทุกประเด็น แต่เป็นการคุยที่มีเป้าหมายและให้บทเรียนกับทีมงาน และบรรยากาศในการทำ AAR ต้องไม่ทำลายคุณค่าของสมาชิกในทีมงาน

AAR ควรมีองค์ประกอบ คือ ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ (Facilitators) ทีมงานทุกคนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน (ตัวจริง) คำถามหลักเพื่อการอภิปราย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงและปฏิบัติได้ รวมถึงบรรยากาศต้องสบายๆ ไม่เครียด พร้อมทั้งต้องมีการรักษาความลับและสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ประโยชน์จากการทำ AAR คือ ทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม/โครงการ มีความเชื่อมโยงเหตุและปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน ได้ข้อเสนอในการปรับปรุงการปฏิบัติงานครั้งต่อไป เกิดนวัตกรรมในการทำงาน ช่วยรักษาเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ/องค์กรไว้ เกิดการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน on the job training สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม และสร้างความรู้สึกไว้วางใจและผูกพันต่อทีมงาน

การถอดบทเรียนเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Retrospect)

เป็นการถอดบทเรียนเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ โดยเป็นการรวบรวมความรู้ในระยะยาวสำหรับคณะทำงานเพื่อการมองไปในอนาคต และทำทันทีที่เสร็จสิ้นกิจกรรม หรือ “เมื่อจบสงคราม มิใช่ เมื่อสิ้นสุดการโจมตีแต่ละครั้ง”

ประโยชน์ของ Retrospect คือ มีปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทุกครั้งเราทำอะไรซ้ำ เราควรทำให้ดีกว่าครั้งสุดท้าย” เป็นการช่วยให้ผู้อื่นทำงานของเขาให้ดีขึ้น (เป็นการเรียนลัด) และเป็นการสร้างการเรียนรู้

ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะทำงาน ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ผู้ที่ใช้ความรู้ในอนาคต

วิธีการทำ Retrospect คือ การทบทวนแผนและกระบวนการทั้งหมด แล้วทำการตั้งคำถามว่าเราจะดำเนินการต่อไปให้ดีขึ้นอย่างไร ด้วยวิธีใด ทำให้เป็นที่พอใจได้อย่างไร และทำการบันทึกข้อเสนอที่เจาะจงและสามารถนำไปปฏิบัติได้ (SARs)

การถอดบทเรียนจากวิธีปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Good/ Best Practice)

เป็นแนวคิดที่ก่อตัวจากทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Learning by doing) เป็นแนวคิด (Approach) มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือ (Tool) แนวคิดหลักจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “คุณภาพ (Quality)” ที่ถูกนิยามด้วยการทำสิ่งที่ถูกต้องและปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เข้าร่วมตกลงร่วมกันในวัตถุประสงค์ รายละเอียด และเกณฑ์ที่ใช้ แต่ละกลุ่มนำเสนอโครงการ ผลการดำเนินงานของตนเอง กลุ่มช่วยกันสรุปกระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอนของโครงการที่จะให้ประสบผลสำเร็จ ขั้นตอนที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อหาส่วนที่ดีที่สุด เน้น “How to”

การถอดบทเรียนจากการประเมิน

ฯลฯ

หัวใจหลักของการถอดบทเรียน

ต้องมีการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) มีความไว้วางใจทั้งตนเองและผู้อื่น (Trust) และมีการเรียนรู้ (Learning)

วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดูภาพยนตร์ (5 นาที) และได้บทสรุปว่า ภาพยนตร์ที่ดูเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบของกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นตอนที่เกิดความผิดพลาดขึ้นจากการซ้อมรบ โดยในฉากเป็นการเรียนรู้ภายหลังการปฏิบัติ (AAR) ร่วมกันของผู้ซ้อมรบ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดด้วยตนเองของผู้ที่ทำผิดพลาด

บทเรียน/ การถอดบทเรียน ทำอย่างไร ?

ขั้นตอนโดยทั่วไปของการถอดบทเรียน (ในทุกวิธีวิทยา) มีดังนี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์
2. ออกแบบและวางแผน
3. ดำเนินการถอดบทเรียน
4. สื่อสาร เผยแพร่ผล องค์ความรู้จากบทเรียน
5. ติดตามผลการนำบทเรียนไปใช้ประโยชน์

ตัวละครที่สำคัญในการถอดบทเรียน

ผู้จัดงาน/ผู้ประสาน หรือเรียกว่า “คุณเอื้อ”

มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ และประโยชน์ รวมถึงวัน เวลา สถานที่ของการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ผู้ร่วมถอดบทเรียน หรือเรียกว่า “คุณกิจ”

เป็นเจ้าของความรู้ และภูมิปัญญาที่ต้องการรวบรวมไว้เป็นบทเรียน และเป็นกลุ่มคนที่จะนำบทเรียนและข้อเสนอแนะที่ได้ไปปฏิบัติ ดังนั้น บุคคลที่จะมาร่วมถอดบทเรียนจะต้องเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ และมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการจะถอดเป็นความรู้ ซึ่งหลักการของผู้เข้าร่วมกลุ่มควรเป็นบุคคลที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน แต่มีความหลากหลายทางความคิด และไม่ควรเกินกลุ่มละ 10 คน       

ผู้อำนวยความสะดวก หรือเรียกว่า “คุณอำนวย” “คุณ Fa (Facilitator)”

มีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศการพูดคุย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกและต้องสามารถจับประเด็นเป็น และดึงความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวผู้เข้าร่วมให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนได้ และมีหน้าที่ทำให้ผู้เข้าร่วม “เรียนรู้จากคำตอบ” มิใช่เป็นเพียงการทำหน้าที่ “เค้นคำตอบ” ซึ่งควรเป็นบุคคลภายนอกโครงการ (ถ้าเป็นไปได้) ที่มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการถอดบทเรียนและประเด็นที่จะถอดบทเรียนและมีความเป็นกลาง

โดย ผู้อำนวยความสะดวกที่เข้าใจกระบวนการ เรียกว่า Process Facilitator
ผู้อำนวยความสะดวกที่เข้าใจกระบวนการและรู้ประเด็นที่จะถอด เรียกว่า Learning Facilitator
ผู้อำนวยความสะดวกที่เข้าใจกระบวนการ รู้ประเด็นที่จะถอด และมีความเป็นกลาง เรียกว่า Policy Facilitator

ผู้ช่วยอำนวยความสะดวก

เป็นผู้ช่วยจับประเด็นและดึงประเด็น รวมถึงการตั้งคำถาม โดยผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการถอดบทเรียน ควรเป็นคนภายในโครงการที่มีความสนใจในกระบวนการถอดบทเรียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนในโครงการให้สามารถทำกระบวนการถอดบทเรียนได้ในอนาคต รวมถึงความต่อเนื่องในการถอดบทเรียน

ผู้บันทึกบทเรียน หรือเรียกว่า “คุณลิขิต”

มีบทบาทสำคัญในการเก็บ รวบรวม และสังเคราะห์เป็นเอกสารเพื่อเผยแพร่ต่อไป ซึ่งผู้บันทึกบทเรียนจะต้องมีทักษะในการเขียนสรุป และสังเคราะห์ได้

จุดอ่อนของการถอดบทเรียนและการประยุกต์ใช้

1. เป็นการดำเนินการโดยไม่มีระบบ ไม่มีโครงสร้าง จึงได้ความรู้เป็นส่วนๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงในเชิงระบบได้
2. มีสำนึกของการ “หวงวิชา” ไม่ยอมถ่ายทอด รวมทั้งกลุ่มก็ไม่เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเพิ่มพูนความรู้ซึ่งกันและกัน
3. เกิดภาวะ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ไม่สามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ท่วมท้นออกมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ระบบคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
4. ขาดการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้ จึงทำให้มีการทำงานซ้ำ (ผิดซ้ำ)
5. การตัดสินใจดำเนินการไม่ได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียน
6. ต้องเกิดการเรียนรู้จากบทเรียน มิใช่ “เลียนแบบ”

ประโยชน์จากการถอดบทเรียน

ในระยะสั้น ทำให้เกิดการปรับปรุงเทคนิคการทำงาน การถอดบทเรียนจะเป็นกระบวนการกลุ่มที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน แนวทางการทำงานปรับเปลี่ยนได้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงการ ชุมชน สังคม และทำให้ผลการดำเนินงานโครงการดีขึ้น

ในระยะกลาง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานและการเผชิญปัญหามากขึ้น และเกิดความภาคภูมิใจเมื่อได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของโครงการ ภายหลังจากการนำบทเรียนไปปรับใช้

ในระยะยาว ทำให้เกิดต้นแบบการทำงานที่ดี (Best Practice) เกิดรูปแบบกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เกิดความเข้าใจปัญหาการทำงานอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานในระยะต่อไป 

วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ แล้วให้ร่วมกันถอดบทเรียนใน 4 หัวข้อ คือ

1. สิ่งที่เรากำหนด/คาดหวังไว้ว่าจะให้เกิดขึ้น (ภาพความสำเร็จ) คืออะไร (10 นาที)
2. สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไรบ้าง (10 นาที)
3. ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจึงแตกต่างไปจากสิ่งที่คาดหวังจะให้เกิดสิ่งที่เราทำได้ดีคืออะไร ทำไมจึงทำได้ดี (20 นาที)
4. ในการทำกิจกรรมต่อไป เราจะทำสิ่งใดที่ดีขึ้นหรือแตกต่างไปจากเดิมบ้าง (30 นาที) (ต้องให้ได้ข้อเสนอแนะที่เจาะจงและสามารถปฏิบัติได้)

โดยกิจกรรมนี้มีกติกาอยู่ว่า ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในกระบวนการถอดบทเรียน ไม่บ่นปัญหา ไม่หาคนผิด ไม่ตำหนิ ไม่วิจารณ์ แต่สามารถแสดงเหตุผลบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่เห็นต่างกันได้ สิ่งที่กำลังถอดบทเรียนเป็นของกลุ่ม/ ทีมงาน/ โครงการ มิใช่ของปัจเจก และให้ครุ่นคิด สะท้อนกลับให้มากๆ

จากนั้น ตัวแทนของแต่ละกลุ่มได้นำเสนอ Output ที่ได้จากกิจกรรมการถอดบทเรียน ซึ่ง Output ของกิจกรรมในครั้งนี้ หมายถึง “กระบวนการ” โดยสามารถสรุปข้อคิด/ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำกลุ่ม ได้ดังนี้

1. ปัญหาการมองประเด็นไม่ออก เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ
2. เป็นการถอดบทเรียนในเรื่องที่เป็นปัญหาของทุกคนในกลุ่ม
3. เมื่อมีปัญหาในเรื่องการบ่น ปัญหาเรื่องส่วนตัว เป็นหน้าที่ของ Facilitator ที่ต้องดึงกลับเข้าประเด็น โดยต้องหา Facilitator ที่สามารถดึงประเด็นเวลาผู้เข้าร่วมกลุ่มหลงประเด็นได้
4. ไม่ใช่เป็นเพียงการสรุปจากสิ่งที่เขาพูด แต่ต้องดึงเอาประเด็นที่อยู่ลึกกว่านั้นออกมา
5. ปัญหากลุ่มขนาดใหญ่ ทำให้บางคนไม่ได้แสดงความคิดเห็น
6. ใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องนั้นๆ
7. ยังไม่ได้มีการถอดออกมาเป็นความรู้ใหม่

จากการนำเสนอ ทำให้ได้ข้อคิด ดังนี้

1. ในการเข้ากลุ่ม รูปแบบการนั่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการนั่งซ้อนกัน จะทำให้ผู้เข้าร่วมที่อยู่ด้านหลังพูดน้อยลง
2. ต้องมีการเตรียมประเด็นมาล่วงหน้า
3. ถ้าเป็นประเด็นที่กระทบกับบุคคล เขาจะมีความสนใจและเข้าร่วมมากขึ้น
4. ต้องมองเป้าหมายเป็นสำคัญ
5. ฝึกการคิดให้เยอะๆ จะทำให้ได้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวออกมา

คำถามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ลักษณะของ Focus group แตกต่างจากการถอดบทเรียนหรือไม่ อย่างไร

ตอบ การถอดบทเรียน เป็นทั้งแนวคิดและเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้ ส่วน Focus group เป็นเทคนิคการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ

สำหรับกิจกรรมการถอดบทเรียนในวันนี้ คงทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้เกี่ยวกับประเด็นการเรียนรู้ทั้ง 4 ประเด็น กล่าวคือ บทเรียน/ การถอดบทเรียนคืออะไร สำคัญอย่างไร ควรทำเมื่อใด และทำอย่างไร ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การเกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อไป

PDF Download


นางสาวชวนันทร์ พรหมโชติ ผู้บันทึก


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322491