ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ Team Based Learning ในวันพุธที่ 23 มกราคม 2556 เวลา 12.30-13.30 น. ณ ห้อง 1102-3 ชั้น 11 คณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีอาจารย์ ดร.ศรินรัตน์ ศรีประสงค์ มาเป็นวิทยากรและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการใช้เทคนิคการสอนแบบ Team Based Learning สรุปประเด็นต่างๆ

ได้ดังนี้

การสอนแบบ Team Based Learning (TBL) เป็นวิธีการเรียนการสอนที่พัฒนาจาก Dr. Larry K. Michaelsen Professor of Management จาก University of Oklahoma ในปี 1970 ที่ต้องการจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนจาก การเรียน Lecture (Passive learning) มาเป็นการเรียนแบบ Active learning โดยต้องการให้นักศึกษาเรียนเป็นทีม

TBL คืออะไร

TBL คือ การเรียนการสอนของนักศึกษาเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีการทำงานเป็นทีม ในการประยุกต์ใช้ข้อมูล-เนื้อหาในการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลองแบบง่ายและซับซ้อน โดยได้รับการ Feedback จากอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็น Expert Contents

ข้อดีของ TBL

1.เพิ่มทักษะการแก้ปัญหาให้แก่นักศึกษา
2.ใช้เป็นการเรียนการสอนแทนการบรรยาย หรือลดการสอนแบบบรรยายลง
3.กระตุ้นให้นักศึกษามีการเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน และเข้าเรียนตรงเวลา
4.เพื่อให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในห้องเรียน และ Active ในการเรียน
5.ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม กระบวนการเรียนแบบ Team Based Learning (TBL) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 Preparation (Pre-class) เป็นลักษณะ Individual study โดยนักศึกษาจะต้องอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ตามที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดหัวข้อและ scope เนื้อหาที่ชัดเจน

ระยะที่ 2 Readiness Assurance (In-class) เป็นการประยุกต์เนื้อหาที่อ่านมาในห้องเรียน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ การทำแบบทดสอบรายบุคคล Individual Readiness Assurance Test (iRAT) ช่วงที่ 2 เมื่อนักศึกษาทำ Test เสร็จแล้วให้เข้ากลุ่ม โดยอาจารย์จะแจกข้อสอบชุดเดิม และให้นักศึกษาในกลุ่มช่วยกันหาคำตอบและตอบคำถามที่เป็นความคิดเห็นรวมของทีม เรียกว่า Group Readiness Assurance Test (gRAT) โดยที่นักศึกษาสามารถทราบคำตอบแบบทันที (Immediate Feedback Technique)

ระยะที่ 3 Application of Course Concepts หลังจากได้ทำแบบฝึกหัดแบบกลุ่มแล้ว นักศึกษาจะได้ฝึกวิเคราะห์สถานการณ์ Case ผู้ป่วย โดยให้นักศึกษาร่วมกันทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ลักษณะคำถามจะเป็นแบบ Application ให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้จากการอภิปรายและหนังสือเพื่อแก้ปัญหา หลังจากนั้นกลุ่มจะอภิปรายคำตอบและเหตุผล โดยอาจารย์จะทำกระบวนการกลุ่มการอภิปรายร่วมกันในห้องเรียน หลังสิ้นสุดการเรียนการสอนแบบ TBL นักศึกษาสามารถ

- เข้าถึงเนื้อหาในหัวข้อที่กำหนด
- สามารถใช้แนวคิดของการเรียนในการแก้ปัญหาและการคิด
- พัฒนาทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กลุ่มและทักษะระหว่างบุคคล
- เป็นการเตรียมการเรียนรู้ในระยะยาว
- การนำ Team Based Learning (TBL) ลงสู่การปฏิบัติ

วิทยากรได้นำการเรียนการสอนแบบ TBL มาใช้ในวิชา พยคร 322 การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพเบี่ยงเบน 2 ในหัวข้อและเนื้อหาที่เกี่ยวกับพยาธิสภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ

ระยะที่ 1 Preparation (Pre-class)

สัปดาห์ที่ 1 ในวันปฐมนิเทศวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพเบี่ยงเบน 2 อาจารย์ได้ชี้แจงนักศึกษาถึงวิธีการเรียนการสอนแบบ TBL ในแต่ละหัวข้อ ซึ่งแบ่งเป็น

  • วันจันทร์ เวลา 1 ชั่วโมง (8.00-9.00 น.) พยาธิสภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • วันอังคาร เวลา 3 ชั่วโมง (8.00-11.00 น.) การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ
    โดยแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ๆละ 13 -14 คน จากคะแนนของวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพเบี่ยงเบน 3 โดยคละทั้งคะแนนและเพศชายให้อยู่ทุกกลุ่ม จากพื้นฐานการขึ้นฝึกปฏิบัติที่หอผู้ป่วย
  • เตรียมคำถาม 5 คำถามในแต่ละหัวข้อ โดยข้อคำถามเป็นปรนัยแบบ Recall น้อยแต่ Application มาก
  • เตรียมกรณีศึกษา 2 กรณีเพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ไปประยุกต์แก้ปัญหาระยะที่ 2 Readiness Assurance (In-class)

สัปดาห์ที่ 2: Part 1

  • วันจันทร์ เวลา 1 ชั่วโมง (8.00-9.00 น.) หัวข้อ พยาธิสภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด
    เริ่ม Individual Readiness Assurance Test (iRAT) เวลา 8.00-8.10 น. (5 ข้อ)
    Open book เนื่องจากนักศึกษายังใหม่และยังไม่เคยเรียนแบบ TBL
    นักศึกษามาสาย 11 คน (เวลา 8.20 น. มาครบ 68 คน)
    คะแนนที่ได้มีตั้งแต่ 0 - 3 คะแนน
    หลังจากนั้นเริ่ม Group Readiness Assurance Test (gRAT) เวลา 8.15-8.35 น. (20 นาที) จำนวน 5 ข้อ จากกลุ่มที่แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 13-14 คน
    คะแนนที่ได้มีตั้งแต่ 1- 4 คะแนน
    ข้อเสีย คือ ไม่มี Immediate Feedback เนื่องจากไม่มีกระดาษคำตอบที่สามารถฝนและแสดงคำตอบได้ แต่มีการเฉลยหน้าห้องเป็น Feedback รวม และ Discussion แต่ละข้อในเวลา 8.40-9.00 น.
  • * เน้นการสอน TBL ในวันอังคาร และอธิบายวิธีการเรียนในชั่วโมงต่อไป

สัปดาห์ที่ 3: Part 2

  • วันอังคาร เวลา 3 ชั่วโมง (8.00-11.00 น.) หัวข้อ การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ
    เริ่ม Individual Readiness Assurance Test (iRAT) เวลา 8.00-8.20 น. (15 ข้อ) Open book
    นักศึกษามาสาย 2-3 คน สายแค่ 1 -2 นาที หลังจากเริ่มสอบ
    คะแนนที่ได้มีตั้งแต่ 2-11 คะแนน
    หลังจากนั้นเริ่ม Group Readiness Assurance Test (gRAT) เวลา 8.25-8.55 น. (30 นาที) จำนวน 15 ข้อ
    Team Appeals เนื่องจากคำถามมีจำนวน 15 ข้อ นักศึกษามีการแบ่งกลุ่มย่อยซ้อนกลุ่มใหญ่ คือ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ทำข้อสอบกลุ่มละ 5 ข้อ แล้วมารวมกลุ่มใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากกลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ทัน
    คะแนนที่ได้มีตั้งแต่ 8- 11 คะแนน
    ข้อเสีย คือ ไม่มี Immediate Feedback แต่มีการเฉลยเป็น Feedback รวม เวลา 9.00-9.40 น. โดยเน้นบาง Concepts
  • หลังจากนั้นแจกสถานการณ์กรณีตัวอย่าง 2 กรณี เริ่มทำ 9.40-10.10 น. (30 นาที)
    การ Feedback ทำ Class Discussion เหมือนกับ Small Group Discussion
    ระยะที่ 3 Application of Course Concepts

สัปดาห์ที่ 4 วันอังคาร เวลา 2 ชั่วโมง (8.00-10.00 น) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์บุคคลที่มีความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด

* โดยกลุ่มที่ 1-3 และ 5 เรียน แต่กลุ่มที่ 4 ไม่ได้เรียน เนื่องจากอาจารย์ติดภารกิจ

Evaluation

หลังจากนั้น มีการสอบ Final ข้อสอบมีทั้งหมด 16 ข้อ นักศึกษา 34 คน ได้คะแนนมากกว่า 8 คะแนนสูงสุด 12 และ 34 คน สอบตก โดยมีคะแนนน้อยกว่า 7 โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันกับกลุ่มที่สอนด้วยการ Lecture ในกลุ่มก่อนหน้านั้น โดยมีการปรับข้อสอบในบางตัวเลือก ซึ่งนักศึกษาที่เรียนด้วยการบรรยายได้คะแนนค่อนข้างดี แต่เมื่อวิเคราะห์รายละเอียด พบว่าการเรียนแบบ TBL ทำให้นักศึกษาช่วยกันในการเพิ่มความรู้ให้กับเพื่อน คะแนนใกล้เคียงกัน แต่การเรียนแบบ Lecture นักศึกษาคนใดเก่งก็จะเก่งไปเลย แต่ถ้านักศึกษาคนใดอ่อนกว่า ก็ไม่ได้ถูกพัฒนา

ข้อดี

การ Discussion จะทำให้รู้ว่านักศึกษาคนใดสามารถที่จะเป็นตัวหลักในการสร้างทีม ทำให้นักศึกษาตั้งใจอ่านหนังสือค้นคว้ามากขึ้น และเกิดการเรียนรู้ระยะยาว
นักศึกษาส่วนใหญ่บอกว่าการ Discussion กัน ทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าการเข้าเรียน Lecture ตามปกติ ซึ่งบางครั้งมาเรียนก็หลับ แต่บางกลุ่มบอกว่าเนื้อหาเยอะมาก ค่อนข้างยาก อ่านไม่ทัน เนื่องจากไม่ได้กำหนดขอบเขตของเนื้อหาให้อ่านอย่างชัดเจน

ข้อเสีย

การโหวตเพื่อเลือกคำตอบของบางกลุ่ม โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ของกลุ่ม โดยไม่มีการ Discussion กันพบว่าจะตอบผิดมากกว่าจึงได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้มีการ Discussion กันก่อนเลือกคำตอบ ซึ่งนักศึกษาที่เก่งอาจจะเป็นเสียงส่วนน้อย ทำให้คะแนนโหวตน้อย
ข้อจำกัดในการนำ TBL ลงสู่การปฏิบัติ

เนื่องจากชั่วโมงของการเรียนในสัปดาห์ที่ 2 ไม่สามารถทำกลุ่มต่อเนื่องได้ให้จบกระบวนการทำกลุ่ม 4 ชั่วโมงได้ ทำให้กระบวนการการเรียนแบบ TBL ไม่ต่อเนื่อง
นักศึกษามีความกังวลในส่วนของเนื้อหาของรายวิชาที่เตรียมมาสำหรับวิธีการเรียนแบบ TBL ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ขอบเขตของเนื้อหาไม่ชัดเจน
อาจารย์ผู้ทำกลุ่ม Discussion ยังขาดความเชี่ยวชาญหรือทักษะในการเรียนการสอนแบบ TBL ซึ่งบางครั้งการจี้นักศึกษามากเกินไป ทำให้นักศึกษาขาดความมั่นใจ หยุดมีส่วนร่วมในการ Participate ในช่วงของการ Feedback รวมทั้ง ไม่สามารถทำ Immediate Feedback ทันที
การทำ Immediate Feedback ดีกว่าการที่จะมาสรุปสุดท้าย ซึ่งจะทำให้นักศึกษาทราบว่า ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นต่างๆ อย่างไร ต้องเพิ่มเติมอะไรบ้าง ซึ่งบางครั้งไม่ได้ทำในทันที เนื่องจากชั่วโมงในการเรียนไม่ต่อเนื่อง

การทำกลุ่มควรมีความต่อเนื่อง ช่วงเวลาในการเรียนแบบ TBL ยังขาดความต่อเนื่อง ซึ่งควรจะมีการทำกลุ่มอย่างน้อย 3-4 ครั้ง การสร้างทีมในการเรียนจะชัดเจน และเกิดการ Discussion มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทราบว่านักศึกษาคนใดเก่งและสามารถเป็นตัวหลัก ที่จะช่วยเพื่อนในกลุ่มได้ โดยจะช่วยดึงเพื่อนในทีมที่ความรู้ด้อยกว่าให้เก่งขึ้นได้ โดยนักศึกษาต้องมีวินัย และมีความรับผิดชอบในการทำงานเพิ่มขึ้น

คำถาม

  1. คะแนน Pretest และการ Participate หรือ Discussion สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง นำมาใช้ในการให้คะแนนหรือไม่ หรือการคิดเกรดหรือไม่
  2. การประเมิน TBL ว่าประสบความสำเร็จ เราวัดกันอย่างไร วัดที่คะแนนของนักศึกษา การเรียนรู้ของนักศึกษา หรือการพัฒนาตนเองของนักศึกษา อยากทราบความคิดเห็นของผู้บรรยาย
  3. กระบวนการกลุ่มที่นักศึกษาทำนอกห้องเรียน หรือไป Study นอกห้องเรียนเป็นอย่างไร
  4. อยากทราบถึงการให้ข้อมูลกับนักศึกษา ในส่วนของเนื้อหาได้ครอบคลุมเนื้อหาของรายวิชาหรือไม่อย่างไร เนื่องจากมีนักศึกษาประเมินว่าได้เรียนรู้เฉพาะข้อคำถามที่ได้มาเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไร
  5. เราควรมีการเตรียมนักศึกษาก่อนการเรียนแบบ TBL หรือไม่ เนื่องจากการเรียนแบบ TBL นั้นต้องใช้ศักยภาพของนักศึกษาค่อนข้างมาก ส่วนอาจารย์จะเป็น Facilitator เท่านั้น ซึ่งบางครั้งนักศึกษาก็ไม่ทราบว่าที่อ่านมานั้น เข้าใจถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
  6. จากประสบการณ์ของผู้บรรยายในการทำกลุ่ม คิดว่าอาจารย์ในทีมประมาณ 2-3 ท่าน นั้น เพียงพอหรือไม่ และการทำกลุ่มแบบ TBL กับ PBL มีความแตกต่างกันอย่างไร
  7. ถ้าเรานำ TBL มาใช้ ควรเริ่มในรายวิชาใดวิชาหนึ่งก่อนดีหรือไม่ และทีมควรจะเป็นทีมเดิมหรือไม่ อย่างไร

ข้อเสนอแนะ

การนำ TBL มาใช้ น่าสนใจ ถ้าจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนทั้งคณะ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างมาก เนื่องจากจำนวนอาจารย์น้อย แต่นักศึกษามีจำนวนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราควรจะต้องมีการเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบ TBL ก่อน เนื่องจากเป็นการเรียนที่จะต้องใช้ศักยภาพของนักศึกษาค่อนข้างมาก นักศึกษาต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองก่อน หรือเราอาจจะทดลองทำในรายวิชาใดวิชาหนึ่งก่อนดีหรือไม่

 

 


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1318287