งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้ชื่องาน “ศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุน” สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การทบทวนวรรณกรรม/ การหาหัวข้อวิจัย” โดยมีนายอัครเดช เกตุฉ่ำ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2554 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรรัตน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรยากาศการพูดคุยกันในวันนี้เป็นไปอย่างสบายๆ และมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดยประเด็นเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในวันนี้จะมีเคล็ดลับ/เทคนิคดีๆ ที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง มาติดตามกันเลยค่ะ

นายอัครเดช เกตุฉ่ำ กล่าวว่าสาระสำคัญในเบื้องต้น จะขอกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการวิจัย ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ

  1. การสืบค้นข้อมูล เป็นกระบวนการสำคัญที่ผู้วิจัยต้องทราบปัญหาในเรื่องที่ต้องการทำวิจัย ว่ามีปัญหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง
  2. การจัดการเรียบเรียง คือ การสรุปเอกสารที่สืบค้นมาได้ทั้งหมดให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องกัน และวางเค้าโครงการนำเสนอ
  3. การเขียน เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด โดยผู้วิจัยต้องดำเนินการเขียนเนื้อหาให้สอดคล้องกับปัญหาวิจัยของตนเอง

การทบทวนวรรณกรรม (Review Literature) เพื่อเป็นการฟื้นฟูความรู้ในเบื้องต้น ก่อนอื่นต้องรู้ว่าเป้าหมายของการทบทวนวรรณกรรม จะประกอบด้วย เป้าหมายหลัก ดังนี้

  1. การหาความสำคัญของปัญหา
  2. การหาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการทำวิจัย
  3. แสดงความรู้ปัจจุบันที่มีอยู่ และดูว่ามีองค์ความรู้ใดบ้างที่ยังขาดหายไป
  4. สรุปกรอบแนวคิดที่จะทำวิจัย

นิยามของการ Review Literature คือ “การถอยความรู้” เพื่อไปเรียนรู้ความรู้ที่มีอยู่แล้วในอดีต ป้องกันไม่ให้เกิดการล้าหลังทางความรู้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงควรปรับความรู้ของตนให้เป็นปัจจุบัน ด้วยการนำความรู้ที่มีอยู่เดิมมาปรับให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้วิจัยมักไม่ให้ความสำคัญกับการ Review Literature จึงส่งผลให้งานวิจัยที่ได้ไม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การ Review Literature ยังช่วยให้ผู้วิจัยทราบว่างานของวิจัยของตนเองมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ประเด็นสำคัญของการ Review Literature ประกอบด้วย

  1. ความสามารถในการค้นหางานวิจัย โดยผู้วิจัยต้องทราบแหล่งข้อมูลที่จะศึกษา
  2. ทราบ Keyword งานวิจัยของตนเอง

หน้าที่ของการ Review Literature คือ การแสดงให้ผู้ตรวจสอบโครงการวิจัยทราบว่าผู้เสนอโครงการมีความรู้ครบถ้วนแล้วในทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รู้ว่าใครทำอะไรไว้บ้าง และเพื่อสรุปให้ได้ในตอนท้ายว่าความรู้ทั้งปวงที่ปรากฏอยู่นั้น ทำให้เราเชื่อได้ว่าเราต้องทำอะไรต่อไป แหล่งข้อมูลที่ใช้สืบค้น ได้แก่

  1. ตำรา บทความจากวารสาร
  2. อินเตอร์เน็ต เช่น Google, Wiki, Thai lis, Thai index medicus และ
  3. ห้องสมุดและการใช้บริการสำเนาเอกสารจากห้องสมุด เป็นต้น

เทคนิคการทบทวนวรรณกรรม/การจัดการข้อมูล นายอัครเดช เกตุฉ่ำ ได้กล่าวถึงประเด็นการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ให้ได้ประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้น ว่าควรอาศัยเทคนิคง่ายๆ คือเริ่มจากการหา Paper แรกที่สนใจที่สุดก่อน แล้วจึงใช้การสืบย้อนหลัง คือ การสังเกตจาก Paper ที่อ่านนั้น มีการอ้างอิง Paper เรื่องใดมากในจุดที่สำคัญก็ควรหา Paper ย้อนหลังมาอ่าน ซึ่งข้อดีของการสืบย้อนหลัง คือ จะสามารถเลือกอ่านได้ตามที่เห็นสำคัญ หรือดูจากความสำคัญของการถูก cited และการสืบเดินหน้า คือ เริ่มจากการอ่าน Paper เก่า แล้วดูว่าถูก cited โดย Paper ฉบับใดบ้างก็อ่านตามไปเรื่อยๆ ข้อดีของการสืบเดินหน้า คือ ติดตามเรื่องได้ง่าย เพราะเรื่องต่อกันเป็นลำดับและเห็นพัฒนาการของเรื่องนั้นๆ

ในประเด็นของการจัดการผลการสืบค้น ผู้วิจัยควรอ่านบทความฉบับเต็ม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา วิธีการวัดตัวแปรที่ทำการศึกษา การให้นิยาม การอภิปรายผล ซึ่งมีข้อจำกัด คำอธิบายความเหมือนความต่างของผลเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาอื่น และนำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาสรุปใจความสำคัญและนำเสนอข้อค้นพบที่น่าสนใจ

นายอัครเดช เกตุฉ่ำ กล่าวว่า เทคนิคการจัดการข้อมูลนั้น ผู้วิจัยควรจัดหมวดหมู่ Paper ที่ค้นหามาให้เป็นกลุ่มๆ เช่น Mathematical Model, Experimental Investigation เป็นต้น ในหนึ่ง Paper ที่อ่านให้จัดประเภทส่วนที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ และในแต่ละใจความสำคัญที่ได้จาก Paper ควร Note ไว้ด้วยว่าจะนำมาใช้ในส่วนใด นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงข้อบกพร่องที่พบมากในการทำ Review Literature คือ

  1. ข้อเสนอโครงการจำนวนมากทำ Review Literature อย่างไม่รู้เป้าหมาย
  2. ทำ Review Literature โดยการบอกผู้อ่านว่าตนเองได้อ่านอะไรมาบ้าง
  3. การเขียนเรียงย่อหน้าแต่ละ Paper จะไม่มีการสังเคราะห์ความสัมพันธ์ของความรู้ในอดีตและไม่สังเคราะห์ให้เห็นเป้าหมายความรู้ในอนาคต จึงไม่ใช่การทำ Review Literature

ท้ายกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ นายอัครเดช เกตุฉ่ำ ได้ให้เทคนิค หรือ “เคล็ดไม่ลับก่อน Submit โครงการวิจัย” ที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

  1. พึงตระหนักว่า “โครงร่างวิจัยที่ดีต้องใช้เวลาพอสมควร”
  2. “เขียนแล้วอ่านทวน” เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
  3. ควร “หาคนอ่านหลายๆ คน” เพื่อช่วยกันให้ความเห็นและปรับปรุง
  4. “อย่าตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ” เช่น ความไม่สอดคล้องกันของเนื้อหา
  5. “ถ้ามีจุดต้องแก้ไข ต้องดูให้ถี่ถ้วน” ว่ามีเรื่องเดียวกันนี้ที่ส่วนอื่นๆ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ต้องแก้ตามด้วยหรือไม่

บทส่งท้าย สำหรับกิจกรรมศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุนในวันนี้ คงทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นประโยชน์และแนวทาง การเขียนทบทวนวรรณกรรมมากยิ่งขึ้น สำหรับครั้งต่อไปผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ในเรื่องใด โปรดติดตามนะค่ะ

PDF Download

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1. นายอัครเดช เกตุฉ่ำ (วิทยากร)
2. นางกอบกุล เลาหิตกุล
3. นางสาวฉวีวรรณ สาระคง
4. นางนภัสสร ลาภณรงค์ชัย
5. นางสาวตะวัน ละม้ายแข
6. นายบุลากร บัวหลวง
7. นายภราดร รังโคกสูง
8. นางสาวรจนา เวียงอินทร์
9. นายวีระชัย คุ้มพงษ์พันธุ์
10. นางสาวศรีนวล ยืนนาน
11. นางสาวสุกัญญา กิจจาสุนทร
12. นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล
13. นางสาวสุวัฒนา อภิมนต์บุตร
14. นางสาวแสงเดือน พรหมจันทร์
15. นางสาวอัญชลี เพลินมาลัย
16. นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร (ผู้บันทึก)
17. นางสาวเบญจวรรณ บุญณรงค์ (ผู้บันทึก)


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1318276