ปัญหาที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นทำวิจัย คือ การเลือกหัวข้องานวิจัยที่ต้องการจะศึกษา เพราะว่าหลายคนยังสับสนอยู่ว่าอะไรล่ะคือปัญหา แล้วปัญหาคืออะไร และมีที่มาจากไหนกัน?? ดังนั้นบทความนี้ จึงต้องการที่จะเสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นในประเด็นของการเลือกหัวข้อที่เหมาะสมกับตนเอง แหล่งที่มาของหัวข้องานวิจัย หลักเกณฑ์การเลือกหัวข้อปัญหา ลักษณะของปัญหาที่ดี ข้อควรระวังในการเลือกหัวข้อปัญหา การตั้งชื่อหัวข้อปัญหาได้ตามลำดับ

 

การเลือกหัวข้องานวิจัย

เพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำผลงานวิจัยซักเรื่อง มักตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า ถ้ามีความสนใจที่จะทำวิจัยซักเรื่อง “ควรทำเรื่องอะไรดี”หากจะตอบตามความคิดของผู้เขียนเอง สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  1. หัวข้อวิจัยอาจเกิดจากความสนใจ ประสบการณ์ส่วนตัว ภูมิหลัง และปัญหาในการทำงาน เช่น นางสาวปริศนาปฏิบัติงานในตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา รับผิดชอบในการดำเนินจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ในการเรียนการสอนแก่นักศึกษา เป็นจำนวน  99 โครงการต่อปี ทั้งนี้ จากการประเมินโครงการในแต่ละครั้ง พบว่า ในแต่ละโครงการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่ำกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น นางสาวปริศนาจึงมีความสนใจที่จะทำวิจัย เพื่อจะแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ในการปฏิบัติงานก็ได้
  2. การอ่านเอกสาร วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรา วารสารวิจัยต่างๆ และปริญญานิพนธ์ต่างๆ บทความต่างๆที่เกี่ยวข้อง รายงานการวิจัย เป็นต้น จากการอ่านทบทวนและการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมเหล่านี้  จะทำให้เราทราบว่า ทำให้เราทราบถึงช่องว่างหรือโอกาสที่จะต่อยอดทางความคิดได้  หรือเรื่องที่ตนเองสนใจที่จะศึกษาหลังจากการได้อ่านผลงานวิจัยของคนอื่นแล้ว จะได้นำข้อค้นพบจาการทำวิจัยและข้อเสนอแนะที่ผู้วิจัยให้ไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดความคิด หรือเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะทำวิจัยได้  หรือจากการอ่านบทคัดย่อปริญญานิพนธ์/บทคัดย่อ เมื่ออ่านแล้วก็จะเกิดแนวความคิดในการเลือกหัวข้อปัญหาการวิจัยได้ และทราบว่ามีใครทำงานวิจัยอะไรบ้างและลดการทำงานวิจัยซ้ำซ้อนกับผู้อื่นด้วย จากแหล่งอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม ตามสภาพเวลาและเทคนิควิทยาการต่างๆ หรือจากข้อโต้แย้ง หรือการวิพากษ์วิจัยของบุคคลที่อยู่ในวงการนั้น ซึ่งบางครั้งจากการประชุม สัมมนาหรือการอภิปรายต่างๆ ในเรื่องที่ตรงกับที่ผู้วิจัยสนใจ หรือจากการศึกษาปัญหาจากสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีการทำวิจัย หรือบุคคลที่กำลังทำวิจัยอยู่  เป็นต้น
  3. แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย  นับเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สามารถกำหนดที่มาของหัวข้องานวิจัยได้ โดยแหล่งทุนจะกำหนดหัวข้อกว้างๆให้ทราบว่า ขณะนี้แหล่งทุนนั้นๆกำลังสนใจที่จะสนับสนุนการวิจัยอะไรบ้าง และอาจให้หัวข้อตัวอย่างที่น่าสนใจไว้ ผู้ที่สนใจจะรับทุนอาจดัดแปลงหัวข้อที่แหล่งทุนระบุไว้ให้เข้ากับสภาพของสังคมไทย

หลักเกณฑ์การเลือกหัวข้อปัญหา ผู้วิจัยควรทราบหลักเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อวิจัย เพื่อที่จะเลือกหัวข้อปัญหาการวิจัยที่ดีและเหมาะสม เกณฑ์ในการคัดเลือกมีดังต่อไปนี้

  1. เลือกจากความสนใจของตนเอง 1,2  เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าหัวข้อที่จะทำการวิจัยมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด และกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปหรือไม่ หากผู้ที่จะทำวิจัยไม่มีความสนใจในหัวข้อนั้นๆ ก็ไม่ควรที่จะทำวิจัยหัวข้อนั้น เพราะงานวิจัยจำนวนมากไม่สามารถลุล่วงไปได้ด้วยดีด้วยเหตุผลเดียวคือ ผู้วิจัยไม่มีความสนใจอย่างแท้จริง ความสนใจในเรื่องที่จะทำวิจัยมีความสำคัญมาก เพราะเป็นแรงจูงใจที่จะผลักดันให้ผู้วิจัยเกิดการติดตามค้นคว้า เพื่อให้โครงการวิจัยได้บรรลุเป้าหมาย ไม่เบื่อหน่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น2
  2. เลือกปัญหาที่ตรงกับความสามารถของตนเอง1,2   การวิจัยเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ความสามารถในการให้รหัสข้อมูล ความสามรถในการเลือกใช้สถิติวิเคราะห์ และความสามารถในการตีความหมายข้อมูลและอ่านผลที่ได้จาการวิเคราะห์
    ความสามารถในด้านต่างๆที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ในตัวบุคคลเพียงคนเดียว แต่ผู้วิจัยจะต้องมีความสามารถในการระดมบุคคลที่มีความสามารถต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยในบทบาทและสถานภาพต่างๆ เช่น เป็นผู้ร่วมวิจัย หรือเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้งานวิจัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี2 
  3. เลือกปัญหาที่มีคุณค่า1 ทั้งนี้ปัญหาที่ต้องการทำวิจัย ควรเป็นการเพิ่มพูนให้เป็นความรู้ใหม่ และเสริมทฤษฎี อีกทั้งเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติงานต่อไป
  4. คำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่องของเวลา งบประมาณและกำลังแรงงานของตน1 ในการทำวิจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เสียเวลา และกำลังแรงงาน ดังนั้นในการตัดสินใจว่าจะทำการวิจัยในหัวข้อใดจะต้องคำนึงถึงว่า หัวข้อนั้น มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ทั้งในตัวของมันเองและเมื่อเปรียบเทียบกับหัวข้ออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะต้องเสนอขอรับทุนจากผู้อื่นด้วย 2
  5. คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่จะเอื้ออำนวยในการทำวิจัย เช่น ปัญหานั้นจะได้รับความร่วมมือมากน้อยเพียงใด, มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือไม่ หรือผู้วิจัยต้องสร้างขึ้นเอง, ปัญหานั้นมีแหล่งค้นคว้าหรือไม่

ลักษณะของปัญหาที่ดี ลักษณะของปัญหาที่ดีมีดังต่อไปนี้

  1. เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆและนำไปใช้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆได้
  2. เป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือวิธีการวิจัยได้
  3. เป็นปัญหาที่หาข้อมูลมาตรวจสอบสมมติฐาน เพื่อหาข้อสรุปได้
  4. เป็นปัญหาที่ให้คำนิยามปัญหาได้
  5. สามารถวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆไว้ล่วงหน้า และเห็นลู่ทางที่จะทำได้สำเร็จ
  6. ปัญหาที่สนใจต้องไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองที่จะทำให้สำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบางอย่างก็จะสามารถแก้ไขได้
  7. สามารถหาเครื่องมือหรือสร้างเครื่องมือที่มีคุณภาพเพื่อใช้รวบรวมข้อมูลได้

เคอร์ลิงเจอร์ (1986) อ้างถึงใน พวงทิพย์ ชัยบาดาลสฤษดิ์, (2542) ได้กล่าวเป็นตัวอย่าง การกำหนดปัญหาในการวิจัยที่ดี โดยสรุปดังนี้

  1. มีความสัมพันธ์ของตัวแปร
  2. ปัญหาต้องระบุอย่างชัดเจน ไม่กำกวมในลักษณะของคำถาม
  3. การกำหนดปัญหา เพื่อนำไปสู่การทดสอบเชิงประจักษ์ได้ จึงจะนับว่าเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้จะระบุถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรแล้วจะต้องเป็นสิ่งที่วัดตัวแปรได้ด้วย

ข้อควรระวังในการเลือกหัวข้อปัญหา ผู้เขียนมีข้อแนะ นำและข้อควรระวังในการเลือกหัวข้อปัญหา ดังนี้

  1. ไม่ควรเลือกปัญหาที่กว้างเกินไป ไม่มีขอบเขต แต่ควรเลือกหัวข้อปัญหาที่แคบแต่มีความลึกซึ้ง
  2. ไม่ควรเลือกปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้
  3. ไม่ควรเลือกปัญหาที่ไม่สามารถหาข้อมูลมาทดสอบได้
  4. ไม่ควรเลือกปัญหาที่ไม่มีสาระสำคัญ

การตั้งชื่อหัวข้อปัญหา พวงรัตน์ ทวีรัตน์ (2540) และสุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2544) ได้กล่าวถึง หัวข้อปัญหาในการทำวิจัยว่า  ผู้วิจัยต้องกำหนดชื่อหัวข้อปัญหาลงไปให้ชัดเจนว่า ปัญหานั้นคืออะไร ซึ่งการตั้งชื่อหัวข้อปัญหามีแนวทางดังต่อไปนี้

  1. ชื่อปัญหาควรกะทัดรัด และมีความชัดเจน ทำให้ทราบว่า จะศึกษาเรื่องอะไรกับใคร
  2. ชื่อหัวข้อปัญหาที่ดีจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรของปัญหานั้นๆ
  3. ภาษาที่ใช้ต้องมีความชัดเจน อ่านเข้าใจได้ง่าย ถ้ามีศัพท์เทคนิคต้องเป็นศัพท์ที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ
  4. การตั้งชื่อหัวข้อปัญหาจะต้องระวังไม่ให้ซ้ำซ้อนกับผู้อื่น แม้ว่าจะศึกษาในประเด็นที่คล้ายๆ กันก็ตาม

สรุป การกำหนดหัวข้อสำหรับการวิจัย คือการกำหนดเรื่องที่จะทำ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ทำการวิจัยสามารถผ่านขั้นตอนนี้ของการวิจัยได้ก็คือ

  1. ประสบการณ์ของผู้ที่จะทำวิจัยเองที่ได้พบปัญหาที่ตนเองอยากหาคำตอบ
  2. การทบทวนวรรณกรรมที่อาจชี้ให้เห็นถึงเรื่องต่างๆที่ผู้วิจัยสนใจอยากจะทำ
  3. การปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
  4. การศึกษาความต้องการของแหล่งทุนการวิจัย และ
  5. ความต้องการของหน่วยงานที่ผู้ที่ต้องการวิจัยปฏิบัติงานอยู่ 2หัวข้อวิจัยที่ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการจะทำวิจัย จะสามารถสื่อสิ่งที่ต้องการจะทำได้อย่างชัดเจน และบอกถึงความรู้ ความเข้าใจของผู้ที่จะทำวิจัยในเรื่องนั้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

พวงรัตน์ ทวีรัตน์.  (2540.)  วิธีการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  สำนักงานทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์.  (2544.)  ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 11. เฟื่องฟ้า พริ้นติ้ง.
พวงทิพย์ ชัยบาดาลสฤษดิ์, (2542) การกำหนดปัญหาการวิจัย ใน ระเบียบวิธีวิจัย: วิจัยสังคมศาสตร์ บรรณธิการโดย ประพิณ วัฒนกิจ.  ไม่ระบุ. 
องอาจ นัยพัฒน์.  (2548.) วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา.


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1318275