ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง  “การจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น กลุ่มสองภาษา” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00-14.00 น. ณ ห้องประชุม 1103/1-2 โดยมี อ.สุดารัตน์ สุวรรณเทวะคุปต์ เป็นวิทยากร

 

          อ.สุดารัตน์ สุวรรณเทวะคุปต์ ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยนำเสนอภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น กลุ่มสองภาษา (กลุ่ม 1.1) ปีการศึกษา 2560  ซึ่งเป็นวิชาทฤษฎี 3 หน่วยกิต ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการสอนทั้งหมด 45 ชั่วโมง แต่ข้อสอบวัดประเมินความรู้ของนักศึกษาเป็นภาษาไทย   ผลการประเมินรายวิชาของนักศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายแบบ Active learning ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย  Case-based learning  Team-based learning  Simulation  Group discussion และการนำเสนองานกลุ่ม โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ 1) อยากให้มีการสอนเนื้อหาเพิ่มเติมสำหรับ Team-based learning และ Simulation  เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด 2) ควรเพิ่มเวลาและอธิบายให้ละเอียดในการเฉลยข้อสอบต่อไป และ 3) เอกสารประกอบการสอน อยากให้มีเนื้อหา/ข้อมูลตรงกันทั้งกลุ่มสองภาษาและกลุ่มปกติ  เพิ่มรูปภาพ และพิมพ์ขนาดใหญ่ขึ้น (4 สไลด์)   สำหรับปัญหาอุปสรรคในการเรียนการสอนจากการสังเกตของอาจารย์ พบว่า  1) ด้านนักศึกษา  มีทักษะการคิดวิเคราะห์น้อย  ไม่เข้าใจเนื้อหาที่สอน  คะแนนสอบต่ำกว่าเกณฑ์  และต้องซื้อเอกสารภาษาไทยคู่กับเอกสารภาษาอังกฤษ  2) ด้านอาจารย์  บางคนขาดความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษ  และสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียนแต่ต้องออกข้อสอบเป็นภาษาไทย   ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  สรุปได้ดังนี้

          1.เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ และผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ 

          ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนกลุ่มสองภาษานี้เป็นการตอบสนองนโยบายของคณะฯ ที่ต้องการให้นักศึกษามีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  อย่างไรก็ตาม บางคนได้ชี้ประเด็นว่า  วัตถุประสงค์ของรายวิชานี้มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นเช่นเดียวกันกับกลุ่มปกติ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์หลักของการสอนรายวิชานี้ โดยนักศึกษาจะต้องนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการสอบขึ้นทะเบียนฯ ของสภาการพยาบาล  นอกจากนี้ กิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชาที่เน้น Active learning  ยังต้องการพัฒนาให้นักศึกษามีทักษะในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม และการสื่อสารด้วย ซึ่งเป็น soft skills ที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิตต่อไป

          2.ข้อดี/ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้

          จากผลการประเมินของนักศึกษา  รูปแบบการเรียนการสอนส่วนใหญ่ดีแล้ว ทั้งการบรรยายที่เนื้อหาเข้าใจง่าย มีรูปภาพประกอบชัดเจน  การเรียนแบบ Case-based learning  Team-based learning  Simulation  และ Group discussion  ทำให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาและการนำไปใช้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน  การนำเสนองานกลุ่มทำให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่มและการสื่อสาร  นอกจากนี้ ควรมีการทดสอบย่อย (Quiz) และการเฉลยข้อสอบต่อไป เพราะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหามากขึ้น

          3.สิ่งที่ควรปรับปรุง/แก้ไขในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไป 

               3.1จัดทีมอาจารย์ผู้สอนให้มีทั้งอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการสอนในหัวข้อนั้น และอาจารย์ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษดี   อย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์ที่ไม่ถนัดสอนด้วยภาษาอังกฤษ อาจใช้ภาษาไทยในการสอน/อธิบาย ร่วมกับเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจที่นักศึกษาจะได้รับมากกว่า การใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารแต่ไม่เกิดการเรียนรู้/ความเข้าใจในเนื้อหา

               3.2อาจารย์ผู้สอนเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ ควรเป็นคนเดียวกันทั้งกลุ่มสองภาษาและกลุ่มปกติ  โดยเสนอให้เตรียม PowerPoint เป็นภาษาอังกฤษ และใช้ชุดเดียวกันในการสอนทั้งสองกลุ่ม  เพื่อที่นักศึกษาจะได้ไม่ต้องซื้อเอกสารสองชุด

               3.3อาจารย์ผู้สอนอาจจัดทำเอกสารคำสอน (sheet) เป็นภาษาไทยที่มีเนื้อหาละเอียดกว่า และแขวนเป็นไฟล์ไว้ให้นักศึกษาดาวน์โหลดไปอ่านประกอบได้

               3.4ควรนำ google form มาใช้กับข้อสอบและ Quiz  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจและเฉลยข้อสอบ ทำให้นักศึกษาได้รับทราบผลการสอบทันที

          4.แนวทางในการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของอาจารย์ผู้สอน

               4.1จัดฝึกอบรมการใช้ภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นแก่อาจารย์ โดยเน้นทักษะการพูด (conversation) และควรจัดต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในช่วงปิดภาคการศึกษา

               4.2กำหนดให้วันจันทร์เป็น English Day  เพื่อให้อาจารย์ได้ฝึกพูดสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้  ทำให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น กลุ่มสองภาษา และได้เห็นแนวทางในการปรับปรุง/แก้ไขในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไป  ซึ่งข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะนำไปเสนอในคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตเพื่อดำเนินการต่อไป 

รศ.ดร.วัลยา ธรรมพนิชวัฒน์ ผู้ลิขิต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322770