ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การใช้ simulation ในวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น หัวข้อ การสื่อสารแบบโครงสร้างโดยใช้ SBAR เทคนิค ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุม 1103/1-2 อาคารพระศรีพัชรินทร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาวรรณ หนูคง และอาจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี เป็นวิทยากร มีรายละเอียดดังนี้

จากที่ รศ.ดร.อาภาวรรณ หนูคง และอ.เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสื่อสารแบบโครงสร้างโดยใช้ SBAR เทคนิค” ณ ศูนย์กาญแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 เวลา 9.00-16.00 น. จึงได้นำประสบการณ์การณ์มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์ของภาควิชาฯ อาจารย์เล่าว่าการบรรยายจะให้ความสำคัญกับทักษะการสื่อสารที่ดี ด้วยหลัก clear, concise, correct  เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพควรสื่อสารให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว โดยปราศจากสิ่งรบกวน ทางการแพทย์และสารธารณสุขจึงนำโครงสร้างการสื่อสาร SBAR ซึ่งถือกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกาและถูกนำมาใช้ในสายการบินเป็นลำดับแรกๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงความเห็นในต่างสายบังคับบัญชา และนอกจากนี้ SBAR ยังเป็นหัวใจในการฝึกทักษะวิชาชีพการทำงานของสายการบินหรือ Crew Resource Management โดย SBAR ใช้วางกรอบการสนทนาที่จดจำการใช้ได้ง่าย จึงเหมาะในสถานการณ์ฉุกเฉินและสามารถดึงความสนใจของคู่สนทนา ประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

S Situation: มีจุดมุ่งหมายคือ บอกสิ่งที่กำลังเกิดกับผู้ป่วย ปัญหาที่ผู้ป่วยแสดง เช่น อาการปวด คลื่นไส้ อาเจียน หรือ ปัญหาที่พยาบาลสังเกตุเห็น เช่น ความดันสูง เลือดออก ระดับการรู้ตัวที่เปลี่ยนไป โดยต้องมีขั้นตอนการให้ข้อมูลต่อไปนี้

  • ระบุตัวผู้รายงาน/สถานที่รายงาน
  • ระบุชื่อผู้ป่วยและเหตุผลที่รายงาน
  •  บอกข้อกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของผู้ป่วย

 

B Background: มีจุดมุ่งหมายคือ ให้รายละเอียดแก่แพทย์เพื่อจะได้ทราบสาเหตุของปัญหา ประกอบด้วย

  • เหตุผลที่ Admit ผู้ป่วย
  • เล่าประวัติที่สำคัญ
  • รายละเอียดอื่นๆ ได้แก่ การวินิจฉัยแรกรับ วันที่ Admit การรักษาก่อนหน้า ยาปัจจุบัน การแพ้ 

ผล Lab ที่เกี่ยวข้อง

A Assessment: มีจุดมุ่งหมายคือ การเลือกวิธีดูแลที่เหมาะสม   เป็นการให้ข้อมูลที่พยาบาลจำได้เกี่ยวกับผู้ป่วย ได้แก่ การถามผู้ป่วย การตรวจร่างกายผ่านการรับรู้ดูได้ยิน ได้กลิ่นและสัมผัส รวมทั้งข้อมูลจากเครื่องมือวัดต่างๆ เป็นข้อสรุปของการพยาบาล ได้แก่ 

  •  สัญญาณชีพ โดยเฉพาะค่าที่ผิดปกติ 
  • คิดว่าเป็นอะไร

        ** ถ้าไม่ได้ Assess ให้รายงานว่า “ดิฉันคิดว่าคนไข้น่าจะเป็น...” หรือ “ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าปัญหาคืออะไร แต่รู้สึกกังวล”

R Recommendation: มีจุดมุ่งหมายคือ บอกสิ่งที่ต้องการในขณะเวลานั้น พยาบาลเป็นตัวแทนของผู้ป่วยว่าต้องการ Lab ยาและการรักษาอะไรเพิ่ม การให้คำแนะนำแก่แพทย์อาจเป็นความยากลำบาก สำหรับพยาบาลเพราะต่างสายบังคับบัญชาและบทบาทดังกล่าวเป็นของแพทย์ จึงควรใช้คำกล่าวโดยทั่วไปถึงสิ่งที่ต้องการ ความเร่งรีบและสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

  • บอกสิ่งที่ต้องการให้มีความจำเพาะและมีกรอบเวลา 
  • ให้คำแนะนำ บอกสิ่งที่คาดเดา หากเป็นการรายงานทางโทรศัพท์ และมีคำสั่งการรักษา ให้ทวนคำสั่งเสมอ

          นอกจากนี้ อาจารย์เบ็ญจมาศ ได้สรุปว่าการ ใช้ SBAR เทคนิค ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้สื่อสารต้องมีน้ำเสียงที่ชัดเจน อยู่ในสภาพแวดล้อมปราศจากสิ่งรบกวน ข้อมูลถูกต้อง และระยะเวลาไม่เกิน 1 นาที

          หลังการเล่าประสบการณ์การไปประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีคณาจารย์ย์ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ SBAR อาทิ ผศ.ดร.อรุณรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการนำเทคนิคการสื่อสารนี้ไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามมีประเด็นเรื่องการนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะตัว R หรือ การให้Recommendation กับแพทย์ ที่อาจทำได้ยากเพราะหากใช้คำพูดไม่เหมาะสมอาจทำให้เหมือนก้าวก่ายหน้าที่ อาจารย์เบ็ญจมาศ จึงชี้แจงว่าหากโรงพยาบาลที่ใช้ระบบโครงสร้างการสื่อสารด้วย SBAR บุคลากรในโรงพยาบาลน่าจะมีความเข้าใจและปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชได้ประกาศใช้ หลักการสื่อสารแบบโครงสร้าง ด้วย SBAR เทคนิค ในปี 2559 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย 

          ภาควิชาการพยาบาลกุมารฯ ได้นำเทคนิคการสื่อสารด้วยการใช้ SBAR เทคนิค มาสอนในวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น โดยจัดการเรียนการสอนด้วย simulation เพื่อให้นักศึกษาฝึกทักษะการสื่อสารผ่านสถานการณ์จำลอง  ซึ่งประเด็นการใช้ SBAR เทคนิคในการจัดการเรียนการสอนจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อๆไป 

          สำหรับจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อาจารย์เบ็ญจมาศจึงเริ่มชวนพูดคุยถึงวัตถุประสงค์การใช้รูปแบบการเรียนการสอนด้วย simulation เพื่อความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกันและเป็นพื้นฐานการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งต่อๆไป โดยอาจารย์เบ็ญจมาศ ได้ชี้แจงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้หลักในวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ซึ่งประกอบด้วยความรู้ ทักษะทางการพยาบาล ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม) โดยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาฯ ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เอื้อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเกิดผลลัพธ์ของรายวิชาฯ ได้แก่ การปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพเด็กดี การปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย การสอนสาธิต การจัดการเล่น และการมอบหมายหน้าที่พิเศษในบางหอผู้ป่วยเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม แต่จากการสัมมนาภาควิชาฯ ปี 2557 พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการฝึกทักษะการทำงานรวมกับผู้อื่นนั้น นักศึกษาอาจได้รับประสบการณ์ที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงใช้รูปแบบการสอน ด้วย simulation เพื่อเสริมประสบการณ์เรียนรู้ให้กับนักศึกษา โดยนักศึกษาจะเรียนด้วยรูปแบบนี้ในสัปดาห์สุดท้ายของการฝึกปฏิบัติในรายวิชาฯ 

          ในการนี้ คณาจารย์ผู้ร่วมสอนในรายวิชาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการสอนด้วย simulation เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ แต่ควรมีการวัดผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนรู้การสอนเพื่อประเมินว่าได้ผลลัพท์การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยอาจพิจารณาให้คะแนนกับนักศึกษาแต่ละคนที่ได้เข้าไปแสดงในสถานการณ์จำลอง เป็นต้น อาจารย์เบ็ญจมาศ แสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า การใช้ simulation เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเสริมทักษะทางคลินิกที่อาจไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง (Non clinical skills)  เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การตัดสินใจ การเป็นผู้นำ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ซึ่งทักษะดังกล่าวได้มีการสอนและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้บนหอผู้ป่วยตามแบบประเมินกลางพยบ.007 แล้ว การจัดสอนเสริมด้วย Simulation นั้น ใช้เวลา เพียง 7 ชั่วโมง หากต้องมีการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้นั้น จึงอาจประเมินด้วยรูปแบบให้นักศึกษาสะท้อนคิดตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนด้วย simulation ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นยังมีจุดที่ต้องพัฒนาในอีกหลายๆ ด้าน ได้แก่ การทำ debriefing การพัฒนา scenario การจัด scene ให้เสมือนจริง และ การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ด้วย simulation  ซึ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งต่อไป


 

 


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322714