แผลติดเชื้อ อันตรายถ้าดูแลไม่ถูกวิธี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อผกา สุทธิพงศ์
ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“แผลติดเชื้อ” คือ ลักษณะของบาดแผลที่เกิดการอักเสบ ปวด บวมแดง รอบแผลอุ่นมีอุณหภูมิสูงกว่าผิวหนังปกติ พื้นแผลมีเนื้อตาย มีสิ่งขับหลั่งจากแผลสีเหลืองข้นคล้ายหนอง แผลแยกและมีกลิ่นซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและสิ่งแปลกปลอม จากงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหลังผ่าตัดช่องท้องแบบเปิด พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับบริการทำแผลต่อเนื่องที่คลินิก โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือทำแผลโดยผู้ดูแล มีอัตราการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดชั้นตื้น (Superficial Incisional Surgical Site Infection) และเนื้อเยื่อระดับลึก (Deep Soft Tissue) ร้อยละ 14-25 ทำให้ต้องกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากแผลติดเชื้อหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 8-13 วัน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่สามารถป้องกันได้สูงเป็น 3-5 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อผู้รับบริการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย เกิดภาวะซึมเศร้า สูญเสียศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพิ่มภาระแก่สมาชิกในครอบครัวและสังคม ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและการดูแลต่อเนื่องหลังผ่าตัด 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อผกา สุทธิพงศ์ กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เพื่อรองรับการบริการผู้ที่มีแผลติดเชื้อและต้องทำแผลอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ตลิ่งชันและพื้นที่ใกล้เคียง โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งหลังผ่าตัดเปิดทวารเทียมหน้าท้อง แผลเท้าเบาหวาน และแผลเรื้อรัง ที่เคยให้การดูแลในหอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลศิริราช โดยก่อนจำหน่ายกลับบ้านได้ให้คำแนะนำเรื่องการประเมินการหายของแผล สอน สาธิต และฝึกทักษะการทำแผลให้ผู้ป่วยและญาติ สังเกตและอาการแสดงของแผลติดเชื้อ รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมการหายของแผล พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำแผลให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ในกรณีที่ไม่สะดวกในการทำแผลด้วยตนเอง ก็จะแนะนำให้เข้ารับบริการตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการการดูแลต่อเนื่อง จึงมาเข้ารับบริการที่คลินิกฯ เนื่องจากมั่นใจในบริการที่ได้รับ เดินทางสะดวก เข้าถึงบริการได้ง่ายและรวดเร็ว ลดความวิตกกังวลเรื่องแผลติดเชื้อหากทำแผลด้วยตนเองหรือให้ผู้ดูแลทำ