Stay at home พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างเยาวชนของชาติ ผ่านช่วงโควิด

ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ โดยรณรงค์ให้ทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึงเด็กๆ ที่ไม่สามารถไปโรงเรียนทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเล่นกับเพื่อๆได้ เด็กๆจึงมรเวลาเข้าถึงสื่อและเกมส์ได้มากขึ้น ดังนั้นเด็กมีโอกาสสัมผัสกับสื่อหรือเกมส์ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือความรุนแรง ผู้ปกครองควรมีวิธีการสื่อสารและจัดกิจกรรมให้กับเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กหมกมุ่นหรือตกเป็นเหยื่อจากสื่อและเกมส์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

ผู้ปกครองควรมีความเข้าใจพัฒนาการและการสื่อสารเรื่องเพศตามวัยดังนี้

1. วัยก่อนเรียน อายุ 2-6 ปี เรื่องสงสัยเรื่องความแตกต่างทางสรีระของเพศอื่นที่ไม่เหมือนกับตน ดังนั้นการสื่อสารเรื่องเพศกับวัยนี้ ผู้ปกครองควรใช้การสื่อเรียกชื่ออวัยวะเพศให้ชัดเจนตามภาษาของแต่ละครอบครัว เหมือนเรียกอวัยวะอื่นๆ เด็กอาจมีพฤติกรรมที่ผู้ปกครองกังวลใจ เช่น การจับหน้าอกแม่ ผู้ปกครองควรสอนเด็กให้รู้จักพื้นที่สงวนของร่างกาย เป็นพื้นที่ที่เด็กไม่ควรสัมผัของผู้อื่น และไม่ให้ใครมาสัมผัสพื้นที่นี้ของตนเองด้วย สอนเด็กว่าหน้าอกแม่เป็นพื้นที่สงวนของแม่ ที่หนูไม่มีสิทธิจับเช่นเดียวกับร่างกายหนูที่ห้ามใครมาจับเช่นกัน

2. วัยเรียน อายุ 7-10 ปี มีความเข้าใจความแตกต่างทางเพศเล่นกับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เด็กวัยนี้มีความสามาถเข้าถึงสื่อและเกมส์มากขึ้น ผู้ปกครองควรให้เวลาเด็ก ตั้งกฎกติกา จำกัดการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม ตั้งรหัสการเข้าอินเทอร์เนต แบ่งเวลาในการใช้สื่อ มอบหมายงานบ้าน กิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ เช่น เกมส์ที่ฝึกการคิด การตัดสินใจ การวาดภาพ หรือประดิษฐ์หน้ากากอนามัย เป็นต้น

3. วัยรุ่น อายุ 10-19 ปี เริ่มมีความต้องการทางเพศ สนใจการเปลี่ยนแปลงทางสรีระมากขึ้น ผู้ปกครองควรให้พื้นที่ส่วนตัวกับวัยรุ่นอย่างเหมาะสม หรืออาจพูดว่า อยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ ใกล้ชิดเวลาที่วัยรุ่นพร้อม ให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยโดยการพูดคุยปกติหรือสอดแทรกระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น อ่านข่าว ดูภาพยนตร์ เป็นต้น

ในสถาการณ์เช่นนี้ผู้ปกครองควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์โดยการสื่อสารและดูแลเด็กด้วยความเข้าใจ จัดกิจกรรมที่เหมาะสมส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภายในบ้านเพื่อตอบสนองนโยบายป้องกันการติดเชื้อและเป็นการเตรียมเด็กให้เผชิญกับโลกความเป็นจริงภายหลัง ภาวะโควิด สิ้นมลายหายไป

อาจารย์ เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล