มารู้จักโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กกันเถอะ

ท่านทราบหรือไม่ว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด  จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึงร้อยละ 70-80 ของโรคหัวใจในเด็กทั้งหมด ในประเทศไทย พบว่าในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคหัวใจ 7,000 – 10,000 คน ดังนั้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พบโรคนี้ในทารกแรกเกิดมีชีวิตถึง 8 ใน 1,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว หรือ หัวใจวายร่วมด้วยอย่างละเท่าๆกัน ที่ อาจเสียชีวิตก่อนเกิด บางรายเริ่มมีอาการ หรือ ตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด หรือ ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในสัปดาห์แรก บางรายตรวจพบเมื่ออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือ มีอาการหลังอายุ 1-2 เดือน หรือ หลังจากนั้น

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดได้อย่างไร

          ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่จากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 30 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีความผิดปกติของอวัยวะอื่นร่วมด้วย ร้อยละ 8 เป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) และร้อยละ 3 พบว่ามีสาเหตุจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน หรือ มารดาได้รับยาบางชนิด สารเคมี สิ่งเสพติด เป็นต้น

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีกี่ชนิด

          โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมี  2 ชนิด คือ ชนิดที่มีอาการเขียว และ ชนิดที่ไม่มีอาการเขียว หรือ อาจเป็นกลุ่มที่มีอาการหัวใจวาย และ กลุ่มที่มีอาการเขียว

กลุ่มที่มีอาการหัวใจวาย เด็กจะมีน้ำหนักตัวน้อย เจริญเติบโตช้า เหนื่อยหอบ ดูดนมลำบากเพราะเหนื่อยง่าย บางรายอาจมีประวัติเป็นปอดบวมบ่อย  สำหรับกลุ่มที่อาการเขียว ที่มีอาการหัวใจวายร่วมด้วยต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ส่วนเด็กที่เขียวแต่ไม่มีอาการหัวใจวาย ต้องสังเกตอาการเขียวคล้ำ ร้องกวนมาก หายใจหอบลึก ซึ่งหากพบอาการต้องรีบจัดท่างอเข่าชิดอก หรือ อุ้มพาดบ่า แล้วรีบพามาพบแพทย์

การรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีวิธีใดบ้าง

          การรักษาประกอบด้วย การรักษาด้วยยาจะช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น แต่ไม่ได้แก้ความผิดปกติ การรักษาที่ได้ผลดีคือ การผ่าตัดและการรักษาด้วยอุปกรณ์พิเศษทางสายสวน  (Interventional Cardiac catheterization)
ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าในทางการแพทย์มากขึ้น จึงช่วยให้เด็กโรคหัวใจได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาหรือผ่าตัดในเวลาอันรวดเร็ว

จะดูแลเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างไร

          ผู้ดูแลควรได้รับความรู้ในการดูแลเด็กระหว่างที่เด็กรอรับการผ่าตัดอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับเด็กทั่วไปคือ ด้านอาหารและโภชนาการ ในรายที่มีอาการหัวใจวาย หายใจหอบ ควรงดรับประทานอาหารเค็ม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคการออกกำลังกายที่พอเหมาะ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อจากฟันและช่องปาก เป็นต้น

อ.ดร. อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์