ทุกวันที่ต่อเนื่อง… ความสุขที่ยั่งยืน

บุคลิกภาพของคนเราพัฒนาจากกระบวนการที่ต่อเนื่อง คนเรา มีแนวโน้มที่จะพัฒนาและคงไว้ซึ่งบุคลิกภาพที่เหมือนเดิม ผู้สูงอายุมี ประสบการณ์การดำเนินชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน  ซึ่งจะ หล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่เฉพาะ เด่นชัดและคงที่ ถาวร บทบาท ความรับผิดชอบและกิจกรรมของผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบชีวิตที่ดำเนินมาของผู้สูงอายุ  บุคลิกภาพ มีอิทธิพลต่อความสนใจและกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำ โดยจะปรับเปลี่ยน บทบาทที่ทำเมื่ออายุมากขึ้น แต่ยังมีลักษณะคล้ายเดิม บุคลิกภาพ ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทที่ทำ  (Havinghurst et al, 1968; Neugasten et al., 1968)  ความพึงพอใจ ในชีวิตที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุ จึงขึ้นอยู่กับ ลักษณะบุคลิกภาพของผู้สูงอายุท่านนั้น การดูแลผู้สูงอายุตามแนวคิด ทฤษฎีความต่อเนื่อง (Continuity Theory) ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของ ผู้สูงอายุ ทฤษฎีความต่อเนื่อง เชื่อว่าเมื่ออายุมากขึ้น บุคลิกภาพ และพฤติกรรมของคนจะไม่เปลี่ยนแปลง คนเราจะพยายามคงไว้ซึ่ง แบบแผนพฤติกรรมในอดีต ซึ่งจะส่งเสริมการปรับตัวที่ดี (นารีรัตน์ จิตรมนตรี, 2554)

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีความต่อเนื่องในการดูแลผู้สูงอายุ  เช่น การกระตุ้นให้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม ควร คำนึงถึงบุคลิกภาพของผู้สูงอายุท่านนั้น  ผู้สูงอายุที่ไม่ชอบแสดงออก ต่อหน้าคนหมู่มากในที่สาธารณะ แต่มีความสุขอยู่กับการทำงาน สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง  หากถูกมอบหมายให้รับผิดชอบกิจกรรมที่ต้อง เผชิญกับการแสดงออกต่อหน้าผู้คน ผู้สูงอายุท่านนี้จะรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุที่ชอบร้องเพลง เมื่ออยู่บ้าน ไม่มีโอกาสได้ร้องเพลง เมื่อได้รับเชิญให้ร้องเพลง ก็จะมีความสุข ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ผู้สูงอายุบางท่านเป็นคนสะอาด เจ้าระเบียบ เมื่ออาศัยอยู่กับลูกหลานที่ทำงานในสังคมที่เร่งรีบ ไม่มีเวลาให้กับ การรักษาความสะอาดเรียบร้อย อาจเกิดปัญหาขัดแย้งภายใน ครอบครัวได้ หากท่านไม่มีการปรับตัว ยืดหยุ่นผ่อนปรนกับบุคลิกภาพ เจ้าระเบียบของตนเอง

กรณีตัวอย่าง  การใช้ทฤษฎีความต่อเนื่องในการดูแลผู้สูงอายุ ที่ประสบความสำเร็จ คุณแม่เป็นคนชอบตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อครั้งน้ำท่วม รุนแรงในปี พ.ศ. 2554 คุณแม่ได้สูญเสียจักรซิงเกอร์รุ่นเก่าแก่ที่ใช้ มาตลอดชีวิต ตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างครอบครัวมา คุณแม่ไม่เคยบ่น เสียดายจักรที่สูญเสียไปกับน้ำ แต่ต่อมาเมื่อคุณแม่มีเวลาว่าง และ ต้องการเย็บผ้าเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผ้านุ่งที่ขาด คุณแม่ต้องเย็บซ่อม ด้วยมือ ใช้เวลานานและยากกว่าการใช้จักรเย็บ คุณแม่ต้องการ เย็บปลอกหมอน ถุงผ้าสำหรับใส่เจลแช่เย็นลดไข้/ ลดอาการปวด เย็บผ้าสำหรับจับของร้อน คุณแม่จึงขอจักรเย็บผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว จากบ้านของลูกสาว เมื่อได้จักรเย็บผ้าเก่าเครื่องนั้นมา ปรากฎว่า จักรเก่ามาก ฝืดมากใช้ไม่ได้ คุณแม่ไม่ละความพยายามพูดคุยกับ เพื่อนบ้านจนทราบว่ามีช่างรับซ่อมจักรเก่า ลูกสาวได้นำจักรไปซ่อม จนใช้งานได้  คุณแม่จึงมีความสุขกับการใช้เวลาว่างในการเย็บผ้า ตั้งแต่นั้นมา ความสุขของคุณแม่ที่ได้เย็บผ้าอย่างที่เคยทำ เกิดจาก การได้ระลึกถึงความสุขที่เคยตัดเย็บชุดนักเรียนให้ลูกๆ และทำให้ รู้สึกเหมือนว่าเป็นสาวอีกครั้งหนึ่งเพราะได้ทำสิ่งที่เคยทำเมื่ออายุยังน้อย อีกทั้งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่ได้ปะชุน แก้ไขเสื้อผ้าให้ลูกหลาน

ผู้สูงอายุมีบุคลิกภาพที่เฉพาะตัวและถาวร  การเข้าใจธรรมชาติ ของผู้สูงอายุตามทฤษฎีความต่อเนื่องและช่วยให้คนที่คุณรักได้ทำในสิ่งที่ชื่นชอบ ที่เคยทำในอดีต เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อีกวิธีหนึ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี
ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน

เอกสารอ้างอิง

1. นารีรัตน์ จิตรมนตรี. (2554). ทฤษฎีความสูงอายุ . ใน วิไลวรรณ ทองเจริญ (บรรณาธิการ). ศาสตร์และศิลป์ การพยาบาลผู้สูงอายุ (หน้า 43 – 54).  กรุงเทพฯ: โครงการตำรา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

2. Touhy, T.A. & Jett, K. (2012). Ebersole & Hess’s Toward healthy aging: Human needs & nursing response (8th ed.). St. Louis: Missouri: Mosby Elesevier.

3. Neugarten, B. L., Havighurst, R., & Tobin, S. S. (1968). Personality and patterns of aging. In B. Neugarten (Ed.) Middle age and aging. Chicago: University of Chicago Press.