ความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ : การสื่อสาร ระหว่างบิดา-มารดา/ผู้ปกครองกับบุตรสาว

ปัจจุบันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของวัยรุ่น หญิงไทยกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เพราะนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การติดโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์ และการทำแท้งที่ผิดกฏหมาย จากการสำรวจพบว่า วัยรุ่นหญิงเริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยลง และพบว่าวัยรุ่นหญิง ที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ 8.4 โดยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุ ต่ำกว่า 12 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราการคลอดบุตรของ มารดาที่มีอายุ 10-19 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีอัตราการคลอดบุตรของมารดาในกลุ่มอายุนี้เป็น อันดับ 2 ผลกระทบที่จะเกิดตามมามีทั้งต่อตัววัยรุ่น ทารกในครรภ์ ครอบครัวและสังคมโดยรวม ดังนั้นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่บุคลากรทางสาธารณสุขควรหาทางออกร่วมกัน

จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการสื่อสารของบิดา- มารดาในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับบุตรวัยรุ่น (PTSRC) มีอิทธิพล ต่อการรับรู้บรรทัดฐานทางสังคมด้านเพศ การให้คุณค่าเกี่ยวกับ เรื่องเพศ ซึ่งการรับรู้นี้จะนำไปสู่การพัฒนาด้านการให้คุณค่าทางเพศ ที่มีความคล้ายคลึงกับบิดา–มารดา และอาจเป็นตัวที่คอยเป็นเกราะ ป้องกันวัยรุ่นจากเพื่อนด้านแรงกดดันเกี่ยวกับเรื่องเพศ (peer pressure)   การสื่อสารของบิดา-มารดาและบุตรวัยรุ่นในเรื่องพฤติกรรม เสี่ยงทางเพศ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ถุงยางอนามัย การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การละเว้นเพศสัมพันธ์ การจัดการ เมื่อมีแรงขับทางเพศ และแรงกดดันจากเพื่อนทางด้านเพศ

สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาของฟองแก้วและคณะ  และการทำการสนทนากลุ่มกับวัยรุ่นหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 พบว่าการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างบิดา-มารดา/ ผู้ปกครองกับบุตรสาวจะมุ่งเน้นประเด็นของการละเว้นเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียน โดยจะสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาจากการมี เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เช่น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การติดเชื้อ เอช ไอ วี/เอดส์ ผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งจะทำให้ เป็นอุปสรรคต่อการเรียน มีภาระในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ บิดา-มารดา/ผู้ปกครอง ยังสอนและให้คำแนะนำกับบุตรเกี่ยวกับ การวางตัวที่เหมาะสมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแต่งกายที่ถูกต้อง ตามกาลเทศะ เช่น งดเว้นการแต่งกายโป๊ การใส่กางเกงหรือกระโปรง ที่สั้นเกินไป และการป้องกันตนเองจากสถานการณ์เสี่ยงทางเพศ การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และจากการศึกษา พบว่า การสื่อสารดังกล่าวมีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียนของ วัยรุ่นหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  เขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้นควรมีการส่งเสริมการสื่อสารเรื่องการ ละเว้นเพศสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดา/ผู้ปกครองกับบุตรสาววัยรุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อให้วัยรุ่นมีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พฤติกรรมการละเว้นเพศสัมพันธ์ ความเชื่อต่อบรรทัดฐานทางสังคม และความเชื่อเรื่องความสามารถในการควบคุมตนเองให้ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรรยา เจริญสุข
ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

เอกสารอ้างอิง

1. Chareonsuk J. Parent-daughter communication and sexual abstinence intention among Thai female adolescents grades 7-9 students. [Dissertation]. Bangkok (Bangkok): Mahidol Univ.; 2012.[Thai]

2. Bureau of Reproductive Health, Ministry of Public Health. Sexual and reproductive health situation among adolescents and youth [online]. 2011[cited 2011October 29]. Available from: URL: http: //rh.anamai.moph.go.th/home.html.

3. Adolescent Birth Rates, per 1,000 women aged 15-19. [Online]. 2011[cited 2011Febuary 24] Available from: http: // foweb.unfpa.org/ SWP 2011/ reports/ EN-SWOP 2011-FINAL.pdf

4. Hutchinson MK. The parent-teen sexual risk communication (PTSRC) instrument development and psychometrics.  Nurs Res. 2007: 56(1); 2-8.

5. Fongkaew W, Cupp P, Miller B, Atwood K, Chamratrithirong A, Rhucharoenpornpanich O, et. al. Do Thai parents really know about the sexual risk taking of their children? A qualitative study in Bangkok. Nurs Health Sci. 2012: 14; 391-7.