ภาควิชาการพยาบาลศัลย์ศาสตร์ได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุม 704 ผู้ดำเนินการได้แจ้งถึงการจัด KM ของภาควิชาฯ วันนี้เป็นครั้งที่ 2 ตามกำหนดหัวข้อเรื่องเดิมนั้น เป็นเรื่องของ Recovery Management ใน specialty area ต่างๆ โดยเริ่มที่ระบบประสาทศัลยศาสตร์ แต่เนื่องจากอาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวติดภารกิจ จึงขอปรับเปลี่ยนหัวข้อเป็นเรื่องของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการฟื้นตัว (Recovery) โดยได้แจกบทความวิชาการเรื่อง Validity and reliability of a postoperative quality of recovery score: the QoR-40 ของ Myles, P.S., Weitkamp, B., Jones K., Melick J., Hensen S. ในวารสาร British Journal of Anaesthesia, 84(1), 2000. กับอาจารย์ทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนความรู้วันนี้

 

จากบทความดังกล่าวคณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพของการฟื้นตัว QoR-40 โดยทีมวิสัญญีแพทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกภายหลังการผ่าตัดใน 24 ชม.แรก เครื่องมือประเมินการฟื้นตัว QoR-40 ประกอบด้วย 40 ข้อคำถาม ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ Emotional state 9 ข้อคำถาม, Physical comfort 12 ข้อคำถาม, Psychological support 7 ข้อคำถาม, Physical independence 5 ข้อคำถาม, และ Pain 7 ข้อคำถามตัวเลือกในการตอบคำถามเป็นแบบ Likert scale 5 ระดับ คะแนนต่ำสุด 40 คะแนน และคะแนนสูงสุด 200 คะแนน คณะผู้พัฒนาเครื่องมือได้มีการทดสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยการใช้ประเมินการฟื้นตัว (Recovery) ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและได้รับยาระงับความรู้สึกแบบ General anaesthesia ใน 24 ชม. แรกหลังผ่าตัด ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ทั้งหมด 192 ราย มีการนำข้อมูลจากเครื่องมือประเมินที่กลุ่มตัวอย่างตอบสมบูรณ์จำนวน 160 ราย มาวิเคราะห์ข้อมูล จากการรายงานวิจัยพบว่าคุณภาพของเครื่องมืออยู่ในระดับดี มี internal consistency (Cronbach’s alpha=0.93, p<0.001) และ Split-half coefficient (alpha=0.83, p<0.001) โดยกลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการตอบแบบประเมินการฟื้นตัว QoR-40 น้อยกว่า 6.3 นาที (เฉลี่ย 4.9 นาที) สำหรับเครื่องมือนี้นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ได้ขออนุญาตจากเจ้าของเครื่องมือเพื่อ

แปลกลับ (Back translate) เป็นภาษาไทย เพื่อใช้ในการประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งก็ได้รับอนุญาตและอยู่ในระหว่างการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลของโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดฉุกเฉินต่อการรับรู้สมรรถนะของตนเองและคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องแบบฉุกเฉิน”

ภายหลังการเรียนรู้เครื่องมือ QoR-40 แล้วผู้เข้าร่วม KM ที่ได้เคยศึกษาเครื่องมือดังกล่าวก็ได้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยมีผู้เสนอความคิดเห็นว่าเครื่องมือ QoR-40 มีความเหมาะสมในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดในระยะแรก ๆ แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยในระยะเวลาหลังผ่าตัดที่ยาวนานขึ้น อาจจะต้องพิจารณาใช้เครื่องมือ อื่น ๆ เช่น Health status หรือ SF-36 ซึ่งสามารถสะท้อนผลของการฟื้นตัวที่ยาวนานมากขึ้น อีกทั้งในตัวเลือกของเครื่องมือ QoR-40 ที่เป็นแบบ Likert scale หากพบว่าในบางกิจกรรมที่ระบุอยู่ในเครื่องมือ ผู้ป่วยยังไม่ได้ทำในกิจกรรมนั้น ๆ ควรจะมีตัวเลือกให้กับผู้ป่วยได้เลือกว่ายังไม่ได้ทำกิจกรรมนั้น เพื่อให้สามารถประเมินได้อย่างเที่ยงตรง นอกจากนี้ที่ประชุมอีกหลายท่านได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมืออื่น ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยมาแล้ว เช่น Six minute walk test ที่ใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดช่องท้องและพบว่ามีการใช้ประเมินผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดหลอดเลือดส่วนปลายเช่นกัน ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยระบบประสาทมีการพัฒนาเครื่องมือ FOUR ใช้ในการประเมินการฟื้นตัว ซึ่งมีความแตกต่างจาก Glasgow coma scale (GCS) ที่มีข้อจำกัดในการใช้ประเมินในผู้ป่วยระบบประสาทที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร (Verbal response) เช่น ผู้ป่วยใส่ท่อทางเดินหายใจ สำหรับแบบประเมิน FOUR ไม่มีการประเมินในส่วนของการตอบสนองในเรื่องของการสื่อสาร (Verbal response) ทำให้สะดวกขึ้นในการใช้ประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยระบบประสาทในระยะวิกฤติ

จากการทำ KM ในครั้งก่อนได้พูดคุยกันถึงความหมายของการฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยแต่ละระยะจะคลอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ การฟื้นตัวด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้าน สังคม และด้านการทำกิจกรรมที่เป็นประจำในชีวิต ทั้งนี้เครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนั้นสามารถใช้ได้อีกหลากหลายเครื่องมือ การเลือกใช้เครื่องมือจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มประชากรที่จะใช้เครื่องมือในการประเมิน ระยะเวลาภายหลังการผ่าตัด รวมทั้งตัวแปรที่ผู้วิจัยมีความสนใจต้องการจะศึกษาในกลุ่มประชากรนั้น ๆ สำหรับในครั้งต่อไปการจัด KM เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อเรื่อง Recovery Management ในระบบประสาทศัลยศาสตร์ ซึ่งดำเนินการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกศรินทร์ อุทริยะ-ประสิทธิ์ และคณะ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 เวลา 12.00 น. ณ ห้อง 704


 

รศ.สุวิมล กิมปี, ผศ.ทิพา ต่อสกุลแก้ว, ผศ.วัลย์ลดา ฉันท์เรืองวณิชย์, ผศ.นภาพร วาณิชย์กุล, ผศ.ปรางทิพย์ ฉายพุทธ, ผศ.ปิยะวาท เกสมาส, ผศ.พิกุลทิพย์ หงษ์เหิร, ผศ.ยุวดี ชาติไทย, ผศ.สุพร ดนัยดุษฎีกุล, ผศ.อุษาวดี อัศดรวิเศษ, อ.ปิยาภรณ์ เยาวเรศ, อ.พรสินี เต็งพานิช