เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง 2 K square L: live love laugh and learn เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้อง 1111 อาจารย์กรรณิการ์เกริ่นถึงที่มาของหัวข้อในวันนี้  4 L โดย  L ที่หนึ่งหมายถึง live คือการทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์มาเป็นเวลานาน และยังกรุณานำรูปภาพมาประกอบ เล่าถึงตึกเรียนและสิ่งแวดล้อมในอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุข

 อาจารย์เล่าถึงชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ประกอบด้วยคุณพ่อ (ปัจจุบันเสียชีวิต) คุณแม่ (ปัจจุบันอายุ 84 ปี) และพี่สาวที่มีครอบครัวแล้ว  อาจารย์พูดถึงการใช้ชีวิตที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Live “into” และ Live “up to” คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบ live up to คือทำอะไรบางอย่างตามความคาดหวัง เช่น คาดว่าสักวันฉันจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนอาจารย์จะใช้ชีวิตแบบ “Live into” คือการอยู่กับสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกันนับตั้งแต่ตอนนี้ เหมือนกับที่ปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ เป็นการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องรอเวลาที่กำลังจะมาถึง อยากได้ชีวิตที่ดี ให้เริ่มต้นชีวิตที่ดีนับแต่บัดนี้ไม่ต้องไปรอเริ่มต้นชีวิตใหม่  ให้เริ่ม “ทำทันที” (อย่างที่เรียกว่า “ททท”) อาจารย์มีหลักในการทำงานคือ ทำงานให้เป็นสุข สนุกกับการทำงาน มีความรักในงานที่ทำ หรือ laugh and love นอกจากนี้ยังนำคำสอนของคุณพ่อที่กล่าวไว้ว่า “ความไม่แน่นอน..คือ.. ความแน่นอน  ให้มีสติ ไม่ประมาท” ดังนั้นเราต้องมีสติและพร้อมที่จะเจอกับทุกสถานการณ์ เรียนรู้ตลอดเวลา หรือ learn นอกจากนี้อาจารย์ยังนำคำสอนของแม่ที่สอนว่า “ให้เตรียมตัวตายอยู่ทุกขณะ ...ทำความดี ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน” เหมือนเหมือนเพลง Live and Learn” …

....เมื่อวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ ความสุขความทุกข์ ไม่มีใครรู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ จะยอมรับความจริงที่เจอได้แค่ไหน เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด  สุขก็เตรียมไว้ ว่าความทุกข์คงตามมาอีกไม่ไกล จะได้รับความจริงเมื่อต้องเจ็บปวดไหว เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน  อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด...

อาจารย์เล่าว่าสิ่งต่างๆในชีวิตของอาจารย์เกิดจากการหล่อหลอมของครอบครัว เช่นคุณพ่ออยากให้เรียนภาษาอังกฤษ จึงจ้างครูที่ดีที่สุดของจังหวัดมาสอน การย้ายโรงเรียน จากจันทบุรีมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อต้องการมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแต่สอบเข้าไม่ได้  ตลอดจนการได้มาเรียนพยาบาลทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพยาบาลคือใคร อาจารย์กล่าวว่าอาจารย์จะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด ตั้งแต่เป็นนักเรียนพยาบาลทำให้ได้รับรางวัลนักศึกษาผู้มีคะแนนภาคปฏิบัติเป็นที่ 1 และมีความประพฤติดี เพราะขึ้น ward ก่อนเวลา 1 ชั่วโมงทุกครั้งและทำจนเป็นนิสัยจนเป็นความเคยชิน อาจารย์มาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2510 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 42 ปีแล้ว ในชีวิตของอาจารย์มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพราะความไม่แน่นอน คือความแน่นอน  หลายคนมองว่าอาจารย์ประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมากมาย ซึ่งทุกงานเริ่มต้นจากงานเล็กๆ เริ่มจากทำงานกับผู้ใหญ่โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ทำโดยไม่ต้องค้นหาคำตอบว่าทำงานนั้นเพราะอะไร และไม่คิดว่างานนั้นยากลำบาก คิดเพียงว่าทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและสนุกกับงานนั้นๆ  ยกตัวอย่างการเตรียมงานประชุมวิชาการของคณะฯ กับอาจารย์ทัศนา บุญทอง ที่แม้จะเหนื่อยมากแต่คิดให้เป็นเรื่องสนุก งานนั้นก็สำเร็จได้ด้วยดี ในการทำงานของอาจารย์มีการนำธรรมะแบบง่ายๆ มาใช้  โดยการพิจารณาความไม่ ดีของตนเอง แก้ตัวเลวในตัวเอง ไม่เพ่งโทษผู้อื่น มองปัญหาด้วยสติ เป็นการมีความคิดในเชิงบวก งานต่างๆ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์  การเริ่มต้นทำงานทุกอย่างอาจเริ่มจากการล้ม การเดินเตาะแตะ ทรงตัวไม่ได้ แต่เมื่อพัฒนามากขึ้นเราจะเดินไปได้อย่างมั่นคงเปรียบเสมือนการเล่นสกี

อาจารย์เล่าถึงการศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง breast feeding ที่ Welstart, Sandiego สหรัฐอเมริกา และการไปอบรมที่ Faculty of Nursing, U. of Alberta, Canada ในปี 1995-1996 ที่ทำให้ได้ประสบการณ์มากมายทั้งเกี่ยวกับเรื่อง breast feeding และเรื่องอื่นๆ ทาง Clinics รวมทั้งการเรียนการสอน นอกจากนี้อาจารย์ได้ศึกษาในหลักสูตร Mini MBA ไปดูงานที่มาเลเซียและที่สวีเดน ช่วยให้ได้ประสบการณ์มากมาย   นอกจากนี้ยังได้ทำงานถวายในเบื้องยุคลบาทในหลายๆพระองค์  การสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มาโดยตลอดทำให้มีโอกาสได้ทำงานมากขึ้นและกว้างขึ้น มีโอกาสทำงานกับบุคคลสำคัญเช่น  คุณชวน หลีกภัย แม่ชีศันสนีย์ 

คุณหมอประเวศ วะสี เป็นต้น อาจารย์ทำงานหลายอย่างแม้ว่างานเหล่านั้นไม่มีผลตอบแทน ทางตำแหน่งวิชาการ อาจารย์จะลงมือทำในงานต่างๆเพื่อฝึกฝนจนชำนาญ  การทำงานเพื่อชุมชนในสลัมต่างๆ  เป็น Contributor 

ให้หนังสือ ที่สำคัญคือเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องนมแม่อย่างกว้างขวาง จากการที่อาจารย์เป็นอาจารย์พยาบาลและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่ในประเทศไทย  UNICEF จึงให้ทุนสนับสนุนให้คณะพยาบาลศาสตร์ทำหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนมแม่ ให้อาจารย์พยาบาล เพื่อผลิตนักศึกษาพยาบาลให้มีความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการให้นมแม่มากขึ้น นอกจากนี้งานที่สร้างความภาคภูมิใจอีกอย่างคือเป็นผู้ฝึกซ้อมรับปริญญาจนได้รับการยอมรับจากคณะอื่นๆ  รวมทั้งงานที่ชื่นชอบมากคือการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม เช่นการทำกระทง และการไปปฏิบัติธรรม

อาจารย์สรุปว่าการทำงานอะไรก็ตามต้องทำอย่างจริงจังและเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นอาจารย์พยาบาล จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล ด้วยความภาคภูมิใจ  อาจารย์กล่าวชื่นชมถึงการทำงานในภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ที่มีความเคารพในอาจารย์อาวุโส ความอ่อนน้อม การแสดงออกถึงความรักและความเคารพกัน ตลอดจนความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายจนได้รับการยอมรับจากกับอาจารย์ในภาควิชาอื่นๆ  

ในตอนท้ายอาจารย์ฝากข้อคิดเรื่องหนู ซึ่งให้ข้อคิดว่า “ในการทำงานนั้น หากคุณรู้ว่าใครสักคนกำลังเผชิญปัญหาและคิดว่าไม่เกี่ยวกับคุณสักหน่อย จำไว้นะว่า เมื่อพวกเราคนใดคนหนึ่งถูกคุกคาม เราทุกคนต่างตกอยู่ในอันตรายเพราะทุกคนล้วนเกี่ยวพันกัน อยู่ในการเดินทางที่เรียกว่า “ชีวิต” เราต้องเฝ้าดูกันและกัน และพยายามให้กำลังใจอีกคนเข้าไว้ จงบอกต่อข้อความนี้ให้แก่คนที่เคยช่วยคุณ และบอกให้เขารู้ว่า เขาสำคัญต่อคุณขนาดไหน จำไว้เถอะว่า แต่ละคนคือด้ายเส้นสำคัญบนผืนพรมของผู้อื่น””

อาจารย์นำบทความที่เขียนขึ้นโดย จอร์จ คอลลิน ซึ่งเป็นดาราตลกที่โด่งดัง ที่เขียนขึ้นในวันที่ 11 กันยายน (ตึกเวิรด์เทรดถล่ม) หลังจากที่ทราบว่าภรรยาของเขาเสียชีวิตในตึกนั้นด้วย .. ทำ..ในสิ่งที่อยากจะทำ อยากให้ทุกคนได้อ่าน ข้อความนี้

ทุกวันนี้เรามีตึกสูงขึ้น มีถนนกว้างขึ้นแต่ความอดกลั้นน้อยลง 
เรามีบ้านใหญ่ขึ้น แต่ครอบครัวของเรากลับเล็กลง 
เรามียาใหม่ ๆ มากขึ้น แต่สุขภาพกลับแย่ลง 
เรามีความรักน้อยลง แต่มีความเกลียดมากขึ้น 
เราไปถึงโลกพระจันทร์มาแล้ว แต่เรากลับพบว่า 
แค่การข้ามถนนไปทักทายเพื่อนบ้านกลับยากเย็น..... 
เราพิชิตห้วงอวกาศมาแล้ว แต่แค่ห้วงในหัวใจกลับไม่อาจสัมผัสถึง 
เรามีรายได้สูงขึ้น แต่ศีลธรรมกลับตกต่ำลง 
เรามีอาหารดี ๆ มากขึ้นแต่สุขภาพแย่ลง 
ทุกวันนี้ทุกบ้านมีคนหารายได้ได้ถึง 2 คน แต่การหย่าร้างกลับเพิ่มมากขึ้น 
ดังนั้น…… จากนี้ไป……ขอให้พวกเรา อย่าเก็บของดี ๆ ไว้โดยอ้างว่าเพื่อโอกาสพิเศษ 
เพราะทุกวันที่เรายังมีชีวิตอยู่คือ ……โอกาสที่พิเศษสุด……แล้ว 
จงแสวงหา ! การหยั่งรู้ 
จงนั่งตรงระเบียงบ้านเพื่อชื่นชมกับการมีชีวิตอยู่ โดยไม่ใส่ใจกับความอยาก… 
จงใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูงคนที่รักให้มากขึ้น……. 
กินอาหารให้อร่อย ไปเที่ยวในที่ที่อยากจะไป 
ชีวิตคือโซ่ห่วงของนาทีแห่งความสุขไม่ใช่เพียงแค่การอยู่ให้รอด 
เอาแก้วเจียระไนที่มีอยู่มาใช้เสีย 
น้ำหอมดี ๆ ที่ชอบ จงหยิบมาใช้เมื่ออยากจะใช้ 
เอาคำพูดที่ว่า! …สักวันหนึ่ง…ออกไปเสียจากพจนานุกรม 
บอกคนที่เรารักทุกคนว่าเรารักพวกเขาเหล่านั้นแค่ไหน อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ที่จะทำอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น

อาจารย์ยังให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับการทำงาน ให้มองว่าคุณเป็นผู้ร่วมงานที่น่ารักแค่ไหน ลักษณะของคนที่ใครๆ ก็อยากจะร่วมทำงานด้วย คือ ลงมือทำเต็มที่ไม่มีบ่น คนที่ลงมือทำงานเต็มศักยภาพย่อมดึงดูดใจทีมงานได้ดีกว่าคนที่ทำงานด้วยปาก   หรือถ้าทำไปบ่นไปก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย แต่จะสุดยอดถ้าทำแล้วไม่บ่น บางคนบ่นจนทำให้ผู้ร่วมงานหงุดหงิด และขาดสมาธิ ดีไม่ดีไม่มีใครอยากมอบงานให้ทำเพราะไม่อยากรกหู

สิ่งสุดท้ายที่อาจารย์อยากจะฝากไว้ ได้รับความกรุณาจากอาจารย์ ชื่นจิตร ยุกติรัตน์ ที่กรุณาประพันธ์ให้ตามคำขอของรศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ดังนี้

ก่อนอำลาอาลัยในวันนี้                         ขอฝากสิ่งดีๆไว้เตือน
หมั่นรักษาวินัยอยู่เนืองนิจ                     ซื่อสัตย์สุจริตตรงเวลา
มีความสุขทุกขณะยามทำงาน                ตั้งใจมั่นเพื่อส่วนรวมร่วมหรรษา
ให้กำลังใจตนเองบ้างบางเวลา               สร้างศรัทธาก่อรักกับทุกคน