เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง 2 K square L: live love laugh and learn เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้อง 1111 อาจารย์กรรณิการ์เกริ่นถึงที่มาของหัวข้อในวันนี้  4 L โดย  L ที่หนึ่งหมายถึง live คือการทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์มาเป็นเวลานาน และยังกรุณานำรูปภาพมาประกอบ เล่าถึงตึกเรียนและสิ่งแวดล้อมในอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุข

 อาจารย์เล่าถึงชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ประกอบด้วยคุณพ่อ (ปัจจุบันเสียชีวิต) คุณแม่ (ปัจจุบันอายุ 84 ปี) และพี่สาวที่มีครอบครัวแล้ว  อาจารย์พูดถึงการใช้ชีวิตที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Live “into” และ Live “up to” คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบ live up to คือทำอะไรบางอย่างตามความคาดหวัง เช่น คาดว่าสักวันฉันจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนอาจารย์จะใช้ชีวิตแบบ “Live into” คือการอยู่กับสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกันนับตั้งแต่ตอนนี้ เหมือนกับที่ปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ เป็นการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องรอเวลาที่กำลังจะมาถึง อยากได้ชีวิตที่ดี ให้เริ่มต้นชีวิตที่ดีนับแต่บัดนี้ไม่ต้องไปรอเริ่มต้นชีวิตใหม่  ให้เริ่ม “ทำทันที” (อย่างที่เรียกว่า “ททท”) อาจารย์มีหลักในการทำงานคือ ทำงานให้เป็นสุข สนุกกับการทำงาน มีความรักในงานที่ทำ หรือ laugh and love นอกจากนี้ยังนำคำสอนของคุณพ่อที่กล่าวไว้ว่า “ความไม่แน่นอน..คือ.. ความแน่นอน  ให้มีสติ ไม่ประมาท” ดังนั้นเราต้องมีสติและพร้อมที่จะเจอกับทุกสถานการณ์ เรียนรู้ตลอดเวลา หรือ learn นอกจากนี้อาจารย์ยังนำคำสอนของแม่ที่สอนว่า “ให้เตรียมตัวตายอยู่ทุกขณะ ...ทำความดี ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน” เหมือนเหมือนเพลง Live and Learn” …

....เมื่อวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ ความสุขความทุกข์ ไม่มีใครรู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ จะยอมรับความจริงที่เจอได้แค่ไหน เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด  สุขก็เตรียมไว้ ว่าความทุกข์คงตามมาอีกไม่ไกล จะได้รับความจริงเมื่อต้องเจ็บปวดไหว เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน  อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด...

อาจารย์เล่าว่าสิ่งต่างๆในชีวิตของอาจารย์เกิดจากการหล่อหลอมของครอบครัว เช่นคุณพ่ออยากให้เรียนภาษาอังกฤษ จึงจ้างครูที่ดีที่สุดของจังหวัดมาสอน การย้ายโรงเรียน จากจันทบุรีมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อต้องการมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแต่สอบเข้าไม่ได้  ตลอดจนการได้มาเรียนพยาบาลทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพยาบาลคือใคร อาจารย์กล่าวว่าอาจารย์จะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด ตั้งแต่เป็นนักเรียนพยาบาลทำให้ได้รับรางวัลนักศึกษาผู้มีคะแนนภาคปฏิบัติเป็นที่ 1 และมีความประพฤติดี เพราะขึ้น ward ก่อนเวลา 1 ชั่วโมงทุกครั้งและทำจนเป็นนิสัยจนเป็นความเคยชิน อาจารย์มาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2510 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 42 ปีแล้ว ในชีวิตของอาจารย์มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพราะความไม่แน่นอน คือความแน่นอน  หลายคนมองว่าอาจารย์ประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมากมาย ซึ่งทุกงานเริ่มต้นจากงานเล็กๆ เริ่มจากทำงานกับผู้ใหญ่โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ทำโดยไม่ต้องค้นหาคำตอบว่าทำงานนั้นเพราะอะไร และไม่คิดว่างานนั้นยากลำบาก คิดเพียงว่าทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและสนุกกับงานนั้นๆ  ยกตัวอย่างการเตรียมงานประชุมวิชาการของคณะฯ กับอาจารย์ทัศนา บุญทอง ที่แม้จะเหนื่อยมากแต่คิดให้เป็นเรื่องสนุก งานนั้นก็สำเร็จได้ด้วยดี ในการทำงานของอาจารย์มีการนำธรรมะแบบง่ายๆ มาใช้  โดยการพิจารณาความไม่ ดีของตนเอง แก้ตัวเลวในตัวเอง ไม่เพ่งโทษผู้อื่น มองปัญหาด้วยสติ เป็นการมีความคิดในเชิงบวก งานต่างๆ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์  การเริ่มต้นทำงานทุกอย่างอาจเริ่มจากการล้ม การเดินเตาะแตะ ทรงตัวไม่ได้ แต่เมื่อพัฒนามากขึ้นเราจะเดินไปได้อย่างมั่นคงเปรียบเสมือนการเล่นสกี

อาจารย์เล่าถึงการศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง breast feeding ที่ Welstart, Sandiego สหรัฐอเมริกา และการไปอบรมที่ Faculty of Nursing, U. of Alberta, Canada ในปี 1995-1996 ที่ทำให้ได้ประสบการณ์มากมายทั้งเกี่ยวกับเรื่อง breast feeding และเรื่องอื่นๆ ทาง Clinics รวมทั้งการเรียนการสอน นอกจากนี้อาจารย์ได้ศึกษาในหลักสูตร Mini MBA ไปดูงานที่มาเลเซียและที่สวีเดน ช่วยให้ได้ประสบการณ์มากมาย   นอกจากนี้ยังได้ทำงานถวายในเบื้องยุคลบาทในหลายๆพระองค์  การสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มาโดยตลอดทำให้มีโอกาสได้ทำงานมากขึ้นและกว้างขึ้น มีโอกาสทำงานกับบุคคลสำคัญเช่น  คุณชวน หลีกภัย แม่ชีศันสนีย์ 

คุณหมอประเวศ วะสี เป็นต้น อาจารย์ทำงานหลายอย่างแม้ว่างานเหล่านั้นไม่มีผลตอบแทน ทางตำแหน่งวิชาการ อาจารย์จะลงมือทำในงานต่างๆเพื่อฝึกฝนจนชำนาญ  การทำงานเพื่อชุมชนในสลัมต่างๆ  เป็น Contributor 

ให้หนังสือ ที่สำคัญคือเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องนมแม่อย่างกว้างขวาง จากการที่อาจารย์เป็นอาจารย์พยาบาลและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่ในประเทศไทย  UNICEF จึงให้ทุนสนับสนุนให้คณะพยาบาลศาสตร์ทำหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนมแม่ ให้อาจารย์พยาบาล เพื่อผลิตนักศึกษาพยาบาลให้มีความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการให้นมแม่มากขึ้น นอกจากนี้งานที่สร้างความภาคภูมิใจอีกอย่างคือเป็นผู้ฝึกซ้อมรับปริญญาจนได้รับการยอมรับจากคณะอื่นๆ  รวมทั้งงานที่ชื่นชอบมากคือการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม เช่นการทำกระทง และการไปปฏิบัติธรรม

อาจารย์สรุปว่าการทำงานอะไรก็ตามต้องทำอย่างจริงจังและเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นอาจารย์พยาบาล จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล ด้วยความภาคภูมิใจ  อาจารย์กล่าวชื่นชมถึงการทำงานในภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ที่มีความเคารพในอาจารย์อาวุโส ความอ่อนน้อม การแสดงออกถึงความรักและความเคารพกัน ตลอดจนความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายจนได้รับการยอมรับจากกับอาจารย์ในภาควิชาอื่นๆ  

ในตอนท้ายอาจารย์ฝากข้อคิดเรื่องหนู ซึ่งให้ข้อคิดว่า “ในการทำงานนั้น หากคุณรู้ว่าใครสักคนกำลังเผชิญปัญหาและคิดว่าไม่เกี่ยวกับคุณสักหน่อย จำไว้นะว่า เมื่อพวกเราคนใดคนหนึ่งถูกคุกคาม เราทุกคนต่างตกอยู่ในอันตรายเพราะทุกคนล้วนเกี่ยวพันกัน อยู่ในการเดินทางที่เรียกว่า “ชีวิต” เราต้องเฝ้าดูกันและกัน และพยายามให้กำลังใจอีกคนเข้าไว้ จงบอกต่อข้อความนี้ให้แก่คนที่เคยช่วยคุณ และบอกให้เขารู้ว่า เขาสำคัญต่อคุณขนาดไหน จำไว้เถอะว่า แต่ละคนคือด้ายเส้นสำคัญบนผืนพรมของผู้อื่น””

อาจารย์นำบทความที่เขียนขึ้นโดย จอร์จ คอลลิน ซึ่งเป็นดาราตลกที่โด่งดัง ที่เขียนขึ้นในวันที่ 11 กันยายน (ตึกเวิรด์เทรดถล่ม) หลังจากที่ทราบว่าภรรยาของเขาเสียชีวิตในตึกนั้นด้วย .. ทำ..ในสิ่งที่อยากจะทำ อยากให้ทุกคนได้อ่าน ข้อความนี้

ทุกวันนี้เรามีตึกสูงขึ้น มีถนนกว้างขึ้นแต่ความอดกลั้นน้อยลง 
เรามีบ้านใหญ่ขึ้น แต่ครอบครัวของเรากลับเล็กลง 
เรามียาใหม่ ๆ มากขึ้น แต่สุขภาพกลับแย่ลง 
เรามีความรักน้อยลง แต่มีความเกลียดมากขึ้น 
เราไปถึงโลกพระจันทร์มาแล้ว แต่เรากลับพบว่า 
แค่การข้ามถนนไปทักทายเพื่อนบ้านกลับยากเย็น..... 
เราพิชิตห้วงอวกาศมาแล้ว แต่แค่ห้วงในหัวใจกลับไม่อาจสัมผัสถึง 
เรามีรายได้สูงขึ้น แต่ศีลธรรมกลับตกต่ำลง 
เรามีอาหารดี ๆ มากขึ้นแต่สุขภาพแย่ลง 
ทุกวันนี้ทุกบ้านมีคนหารายได้ได้ถึง 2 คน แต่การหย่าร้างกลับเพิ่มมากขึ้น 
ดังนั้น…… จากนี้ไป……ขอให้พวกเรา อย่าเก็บของดี ๆ ไว้โดยอ้างว่าเพื่อโอกาสพิเศษ 
เพราะทุกวันที่เรายังมีชีวิตอยู่คือ ……โอกาสที่พิเศษสุด……แล้ว 
จงแสวงหา ! การหยั่งรู้ 
จงนั่งตรงระเบียงบ้านเพื่อชื่นชมกับการมีชีวิตอยู่ โดยไม่ใส่ใจกับความอยาก… 
จงใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูงคนที่รักให้มากขึ้น……. 
กินอาหารให้อร่อย ไปเที่ยวในที่ที่อยากจะไป 
ชีวิตคือโซ่ห่วงของนาทีแห่งความสุขไม่ใช่เพียงแค่การอยู่ให้รอด 
เอาแก้วเจียระไนที่มีอยู่มาใช้เสีย 
น้ำหอมดี ๆ ที่ชอบ จงหยิบมาใช้เมื่ออยากจะใช้ 
เอาคำพูดที่ว่า! …สักวันหนึ่ง…ออกไปเสียจากพจนานุกรม 
บอกคนที่เรารักทุกคนว่าเรารักพวกเขาเหล่านั้นแค่ไหน อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ที่จะทำอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น

อาจารย์ยังให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับการทำงาน ให้มองว่าคุณเป็นผู้ร่วมงานที่น่ารักแค่ไหน ลักษณะของคนที่ใครๆ ก็อยากจะร่วมทำงานด้วย คือ ลงมือทำเต็มที่ไม่มีบ่น คนที่ลงมือทำงานเต็มศักยภาพย่อมดึงดูดใจทีมงานได้ดีกว่าคนที่ทำงานด้วยปาก   หรือถ้าทำไปบ่นไปก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย แต่จะสุดยอดถ้าทำแล้วไม่บ่น บางคนบ่นจนทำให้ผู้ร่วมงานหงุดหงิด และขาดสมาธิ ดีไม่ดีไม่มีใครอยากมอบงานให้ทำเพราะไม่อยากรกหู

สิ่งสุดท้ายที่อาจารย์อยากจะฝากไว้ ได้รับความกรุณาจากอาจารย์ ชื่นจิตร ยุกติรัตน์ ที่กรุณาประพันธ์ให้ตามคำขอของรศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ดังนี้

ก่อนอำลาอาลัยในวันนี้                         ขอฝากสิ่งดีๆไว้เตือน
หมั่นรักษาวินัยอยู่เนืองนิจ                     ซื่อสัตย์สุจริตตรงเวลา
มีความสุขทุกขณะยามทำงาน                ตั้งใจมั่นเพื่อส่วนรวมร่วมหรรษา
ให้กำลังใจตนเองบ้างบางเวลา               สร้างศรัทธาก่อรักกับทุกคน


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1331051