ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “Nurse Practitioner (NP) program” ครั้งที่ 2/2565 โดยผู้ช่วยอาจารย์ชิดชนก เบ็ญจสิริสรรค์และผู้ช่วยอาจารย์ลลิต์ภัทร เพียรหาสิน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 11.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม 901 และออนไลน์ผ่านระบบ Microsoft Teams

          คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ โดยร่วมมือกับคณะกรรมการพัฒนาการจัดการความรู้ ระบบข้อมูลสารสนเทศ  ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “Essential skills for effective teaching”  ไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง โดยหัวข้อย่อย ครั้งที่ 1 เรื่อง “Teaching techniques” เมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 13.30-15.00 น. ครั้งที่ 2 เรื่อง “Active learning” เมื่อวันพุธที่ 7 กรกกฏาคม 2564 เวลา 13.30-15.00 น. และครั้งนี้ ครั้งที่ 3 เรื่อง “Monitoring and evaluation” เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 13.30-14.30 น.  โดยมีคณาจารย์จากภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ และภาควิชาอื่นๆ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 13 คน ในการนำเสนอผลการติดตามและการประเมินผล ที่คณาจารย์ภาคอื่นๆ นำวิธีการสอนต่างๆ ไปใช้ เช่น Questioning, Reflection, Teaching on the run, small group discussion (มีผู้ตอบการนำไปใช้จำนวน 6 คน) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้ร่วมกันอภิปรายอย่างหลากหลาย ในเรื่องการนำไปใช้ ปัญหาอุปสรรค ที่พบ รวมทั้งแนวทางแก้ไข/ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ สรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้

          1. Questioning ได้มีการใช้ในการสอนบรรยาย และการสอนภาคปฏิบัติ ซึ่งพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มักจะเงียบ ต้องกระตุ้นถามคำถามหลายครั้ง พบนักส่วนหนึ่งไม่กี่คนที่มักจะตอบแบบสอบถาม อนึ่ง questioningสามารถใช้ได้ดีในการสอน simulation ใน LRC ทำให้สามารถประเมินการปฏิบัติของนักศึกษาและบทบาทการเป็นผู้นำ รวมทั้งการประเมินทักษะการปฏิบัติบนหอผู้ป่วยได้ ว่าทำอะไร เพราะอะไร กระตุ้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ 

          ข้อเสนอแนะ: 

 - คำถามไม่ควรยากมาก ถ้ายาก ต้องย่อยให้เข้าใจได้ง่าย หรือมีการบอกไบ้บางส่วน

 - อาจารย์ผู้สอนต้องใจเย็น อดทน และรอคำตอบจากนักศึกษา เลือกใช้คำถามเป็นบางช่วงในการสอน ถ้าใช้มากเกินไป ก็ทำให้ใช้เวลาในการสอบถามมากเกินไป อาจจะทำให้สอนไม่ทัน หรือเร่งสอนในช่วงท้ายๆ 

- ลักษณะ ท่าทางการถามจะต้องเป็นมิตร ไม่คุกคาม ปรับน้ำเสียงและระดับความดังให้เหมาะสม ถ้านักศึกษาตอบไม่ได้ อาจจะบอกใบ้ หรือขอให้เพื่อนในกลุ่มช่วย หรือขออาสาสมัคร เช่น ใครประสงค์ อยากตอบ

- สุ่มถาม หรือถามจากรายชื่อ รายกลุ่ม หรือขออาสาสมัคร หรือถามทั้งชั้น หรือขอฟังเสียงนักศึกษาที่ยังไม่เคยตอบ หรือเปิดกล้องให้เห็นหน้า รู้จักกันมากขึ้น

- ใช้เทคนิคการถามคำถาม ในการเปิดประเด็น หรือถามต่อยอดจากเนื้อหาเดิม เพื่อทดสอบความเข้าใจ หรือกรณีศึกษา เพื่อประเมินการนำไปใช้หรือประยุกต์ 

- ในกรณีที่นักศึกษาหลายคน ตอบไม่ได้ ควรเฉลย หรืออธิบายเพิ่มเติม

          2. Reflection ส่วนใหญ่อาจารย์มักจะใช้ภายหลังการสอน เช่น การสอนกลุ่มย่อย หรือการสอนภาคปฏิบัติบนหอผู้ป่วย เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็นของตนเองว่าตนเองเรียนรู้อะไร มีจุดเด่นอะไร และอยากจะปรับปรุงหรือพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็พบปัญหาว่านักศึกษาบางส่วนไม่กล้าที่จะพูดสะท้อนคิด ไม่อยากให้เน้นจุดด้อย หรือพูดไปมากอาจจะถูกหักคะแนน

          ข้อเสนอแนะ: 

     -แจ้งนักศึกษาว่าเป็นกระบวนการศึกษา และเรียนรู้ร่วมกันในระหว่างเพื่อน ไม่มีการหักคะแนน หรือถ้าแสดงความคิดเห็น ก็จะช่วยให้เพื่อนในกลุ่ม ให้คะแนนเพื่อนๆ ในกลุ่มได้ดีมากขึ้น

     -การสะท้อนคิด ช่วยให้ข้อมูลแก่อาจารย์ในการปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนให้ดีขึ้น และฝึกให้นักศึกษามีความกล้าในการแสดงออก และประเมินตนเอง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งจะนำไปสุ่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนต่อไป 

          3. Teaching on the run เป็นวิธีการสอนที่น่าสนใจ แต่เนื่องเป็นช่วงที่นักศึกษายังไม่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติ อาจารย์จึงยังไม่ได้นำไปใช้ในการสอน แต่คิดว่าเป็นวิธีการสอนที่ท้าทายทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา อาจารย์จึงควรจะมีระยะเวลาในการทดลอง/ฝึกฝนในการนำไปใช้ ในการประเมินความรู้ความเข้าใจ การตัดสินใจบนข้อมูลพื้นฐานทางคลินิก และการเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมของนักศึกษาต่อไป 

          4. Small group discussion อาจารย์ส่วนใหญ่ได้นำไปใช้ เช่นการสอนกลุ่ม ในวิชาทฤษฏี การสอนกลุ่มย่อย การเรียนในห้อง LRC และการเรียนภาคปฏิบัติในหอผู้ป่วย โดยรวมก็จะได้ผลดีในการสอน แต่ก็พบปัญหาบางส่วน เช่น นักศึกษาไม่ยอมแสดงความคิดเห็น หรือมีบางส่วนเท่านั้นที่มักจะแสดงความคิดเห็น การแบ่งงานที่รับผิดชอบภายในกลุ่มไม่ทั่วถึง หรือไม่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย หรือการทำกลุ่มบริหารเวลาไม่ดีพอ เช่น ทำงานไม่ทัน หรือกลับเข้าห้องกลุ่มใหญ่ล่าช้า เป็นต้น

          ข้อเสนอแนะ:

    - สุ่มถาม หรือ สลับให้เพื่อนตอบ หรือสลับคนที่นำเสนอ หรือการกำหนดการถามคำถาม เช่นให้แสดงความคิดเห็นอย่างน้อยคนละ 1 ครั้ง อาจารย์จะบันทึกจำนวนครั้ง 

   - กระตุ้นให้มีการถาม การตอบ โดยในช่วงแรก อาจารย์อาจจะทำเป็นตัวอย่าง หรือแม้แต่การยกตัวอย่างหรือสาธิตว่าอาจจะเป็นลักษณะใดได้บ้าง และอาจารย์ควรเน้นถึงประโยชน์ที่นักศึกษาพึงได้จากการเรียน small group discussion 

  - อาจารย์อาจสอบถามถึงประเด็นปัญหาในการทำงานกลุ่ม การแบ่งงาน ใครทำงานมาก น้อย และเสนอแนะการปรับแก้อย่างไร อาจสอบถามเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม แล้วแต่กรณีที่เหมาะสม 

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การประเมินผล 

          ผลการประเมินจากคณาจารย์ จำนวน 7  คน พบว่า อยู่ในระดับเห็นด้วยมากถึงมากที่สุด เป็นกิจกรรม KM ที่ได้ประโยชน์ ดำเนินการได้อย่างราบรื่น น่าสนใจมากและได้แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆร่วมกับภาควิชาฯ อื่นๆ 

ข้อเสนอแนะ 

          อยากให้มีการ refresh เทคนิคต่างๆเป็นระยะๆ เนื่องจากเป็น tarcit knowledge

          เทคนิคการสอนมีหลายวิธี แล้วแต่อาจารย์จะเลือกใช้ หรือใช้ผสมผสานหลายวิธี ทั้งนี้ก็ขึ้นความสามารถในการเรียนรู้ของนักศึกษามากน้อยแค่ไหน และระยะที่กำหนดในการสอน อาจารย์สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้สูงสุด อาจารย์สนุกกับการสอน และนักศึกษาก็เรียนรู้อย่างมีความสุข

          ประโยชน์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง เรื่อง “Essential skills for effective teaching” ในหัวข้อย่อย ครั้งที่ 3 เรื่อง “Monitoring and Evaluation”  ด้านการดำเนินงานด้านการศึกษานั้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคเมื่อนำเทคนิคไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและได้ช่วยกันเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาในการเรียนการสอน เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดเอกสาร PDF

          คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ โดยภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “Essential skills for effective teaching”  ประกอบด้วย 3 ครั้ง โดยหัวข้อย่อย ครั้งที่ 1 เรื่อง “Teaching techniques” เมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 13.30-15.00 น. ผ่าน link: https://tinyurl.com/46yuyrmy โดยมีวิทยากร 4 คน ได้แก่ อาจารย์ ดร.ภัทรนุช วิทูรสกุล อาจารย์สาธิมา สุระธรรม อาจารย์ ดร.ชญาภา ชัยสุวรรณ และอาจารย์ลัดดาวัลย์ ทรัพย์เจริญมาก และมีคณาจารย์จาก 4 ภาควิชาฯ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 21 คน  

          สำหรับกิจกรรมในหัวข้อย่อยครั้งต่อไป คือ ครั้งที่ 2 เรื่อง “Active learning” เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30-15.00 น. และครั้งที่ 3 เรื่อง “Monitoring and evaluation” เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00-14.00 น. 

          ในหัวข้อย่อย ครั้งที่ 1 เรื่อง “Teaching techniques” ประกอบด้วยหัวข้อ Basic concepts of clinical teaching, Giving feedback, Reflection, Clinical supervision, Questioning techniques, Teaching on the run, Reflection from this activity session โดย Basic concepts of clinical teaching จะเน้น OLE คือ Objective, Learning experience, Evaluation และใช้หลัก C-A-P ได้แก่ ความรู้ เจตคติ และทักษะ ในการฝึกทักษะของผู้เรียน พึงประกอบด้วย Close supervision, Refection, Giving feedback 

          หลักในการให้ข้อมูลย้อนกลับ (How to giving feedback) ประกอบด้วย

          1. สร้างบรรยากาศที่ดี ผ่อนคลาย 

          2. เริ่มให้ผู้เรียนประเมินตนเองก่อน คือการสะท้อนคิด (Reflection)

          3. ให้ positive feedback ก่อน

          4. ให้ negative feedback ที่จำเพาะ 

          5. การ feedback ให้ในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกประเด็นที่สำคัญก่อน และต้องการการแก้ไขปรับปรุง 

          6. ให้คำแนะนำ และวางแผนในการทำงานหรือฝึกปฏิบัติครั้งต่อไป  

          ข้อชวนคิด สำหรับ Positive feedback เพื่อรักษาพฤติกรรมที่ดี ให้กล่าวชมเชย ทำทันที ในแบบส่วนตัว หรือต่อหน้าผู้อื่น ส่วน Negative feedback เพื่อแก้ไขปรับปรุง ให้กล่าวถึงข้อเท็จจริง ให้คำแนะนำและการปรับปรุง ให้ทำทันเวลาและเร็ว แบบส่วนตัว ไม่ต่อหน้าผู้อื่น

          Reflection เป็นการให้โอกาสผู้เรียนได้สะท้อนคิดหรือการประเมินตนเอง มี 2 ระดับ ได้แก่ Descriptive reflection บอกสิ่งที่ได้เรียนรู้มา และ Practical reflection เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ เหมือนหรือต่างจากเดิม ตัวอย่างการสะท้อนคิด เช่นได้เรียนรู้อะไร ต่างจากเดิมหรือเคยปฏิบัติอย่างไร มีข้อดีอย่างไร มีข้อปรับปรุงอย่างไรบ้าง หรือถ้ามีโอกาสที่จะปฏิบัติอีกครั้งจะทำอย่างไร การสะท้อนคิดควรจะทำก่อนการให้ข้อมูลย้อนกลับที่สำคัญ/จำเป็นหรือเพิ่มเติม 

          Clinical supervision โดยมีวัตถุประสงค์ คือ Professional development และ Patient safety ในการเตรียมพร้อมนักศึกษาก่อนฝึกปฏิบัติหัตถการจริงกับผู้ป่วย เช่น การฝึกในสถานการณ์จำลอง (Simulation) และ Self supervision การศึกษาด้วยตนเอง แล้วฝึกซ้อมการทำหัตถการ อาจจะมีข้อจำกัด เรื่องไม่ทราบถึงข้อพึงระมัดระวัง หรือประเด็นสำคัญๆ หลักในการให้ Clinical supervision ได้แก่ Planning, Briefing, Practice, Debriefing โดยในการสอนหรือให้คำแนะนำนักศึกษาในการฝึกปฏิบัติ พึงตระหนักถึงเจตคติ (Attitude perception) แล้วให้ปฏิบัติ (Action) และตรวจสอบผลลัพธ์ (Results) แล้วควรทำ Debriefing สอบถามรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับความคิด/การเรียนรู้ และกระบวนการในการดูแลผู้ป่วย ให้นักศึกษาสะท้อนคิด สำหรับการปรับปรุงในการดูแลครั้งต่อไป หรือวางแผนอย่างไรในรายที่มีประเด็นปัญหาที่ยากหรือซับซ้อนมากขึ้น

          Questioning techniques มีประโยชน์ คือ Think critically, Scaffold learning, Retain knowledge โดย The “Must” questioning ประกอบด้วย Critical thinking, Diagnostic reasoning skill, Decision making ในการสอน ควรสอบถามหรือตั้งคำถามนักศึกษา คือ ตั้งคำถาม (Questioning) มากกว่า การบอกข้อมูลหรือแนะนำเลย (Telling) โดยคำนึงถึง 3 ประเด็น ได้แก่ 

          1) Good atmosphere (suitable, respect, acknowledge, attend) 

          2) Good questions ให้แนะนำนักศึกษาก่อนสำหรับการสอบถามคำถามในห้องเรียน หรือเรียกชื่อนักศึกษาถาม โดยถามเพียง 1 คำถามในแต่ละครั้ง ที่ชัดเจนและจำเพาะเจาะจง และสอบถามคำถามที่สามารถตอบได้หลากหลาย หรือในเชิงกว้างหรือลึกมากขึ้น  และควรหลีกเลี่ยง คำถาม Yes-No เดา คำถามนำ หรือถามคำถามไปเรื่อยๆ ถามใช้คำถามลากไปเรื่อยๆ หรือมาก/นานเกินไป

          3) Good techniques (clarification, assumption, reasons, viewpoints, implications, about questions) เวลาถามคำถามนักศึกษา ควรให้เวลานักศึกษาคิดและตอบคำถาม ประมาณ 10 วินาที แต่ไม่ควรเกิน 30 วินาที เพราะนานเกินไป จะทำให้นักศึกษารู้สึกกดดัน หรือเกิดความเครียดได้ 

          Teaching on the run เป็นการสอนนักศึกษาพยาบาลข้างเตียง ในขณะเรียน หรือดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีระยะเวลาจำกัด อยู่ในสถานการณ์ที่จำเพาะ เช่นข้างเตียง หน่วยผู้ป่วยนอก หรือทางเดิน และเป็นสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้น้อย ดังนั้น ควรจะเป็นการสอนแบบง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้เวลาสั้นๆ ในเวลา 1 นาที ควรเป็นการสอนเชิง Active มากกว่า Passive และการให้คำแนะนำ/เสนอแนะ (Supervision experience) โดยปรับเปลี่ยน รูปแบบการสอนแบบเดิม ซึ่งเน้น Case presentation และ Case summary มากกว่า Asking question, Patient assessment ไปเป็นรูปแบบการสอนแบบใหม่ ซึ่งเน้น Asking question, Patient assessment มากกว่า โดยเทคนิค ของ Teaching on the run ประกอบด้วย ถามหาความคิดเห็น (Make commitment) สอบถามถึงเหตุผล (Explore reasoning) เน้นจุดสำคัญ (Teach general rules) เสริมสิ่งที่ดี (Reinforce what was done) และชี้จุดพัฒนา (Correct mistakes) 

          สำหรับ Reflection from activity session เพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  คณาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากภาควิชาฯ ต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่า Teaching techniques ต่างๆ เช่น การตั้งคำถาม การป้อนข้อมูลกลับ การสะท้อนคิด เป็นต้น ก็ได้มีการใช้ อยู่เสมอๆ  แต่การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น หลักการ กระบวนการ  และตัวอย่างกรณีศึกษา คำพูดหรือประโยคที่ควรใช้ รวมทั้งปัญหาที่มักพบบ่อย และแนวทางแก้ไข หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่วน Teaching on the run ดูว่าจะเป็นสิ่งใหม่ แต่อาจจะมีการใช้บ้าง หรือไม่เต็มรูปแบบหรือไม่ครบขั้นตอน อาจารย์บางส่วนแจ้งว่าระยะเวลาในการเข้ากลุ่มย่อย ทำ Role play ภายใน 1 นาที ค่อนข้างยาก จึงทำได้ไม่ครบทุกขั้นตอน แต่ก็มีอาจารย์บางส่วนทำได้ดี ถูกต้องตามขั้นตอนและในเวลาที่กำหนด ถ้าได้ทำบ่อยๆ อาจจะทำให้การทำ Teaching on the run ดีขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะภาคปฏิบัติได้  

การประเมินผล 

          ผลการประเมินจากคณาจารย์ 4 วิชาฯ จำนวน 7  คน พบว่า อยู่ในระดับเห็นด้วยมากถึงมากที่สุด ได้รับประโยชน์อย่างมากในการเข้ากิจกรรม สามารถนำไปเผยแพร่ และประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ ทีมวิทยากร มีการเตรียมตัวมาอย่างดีเยี่ยม ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่กระชับ ตรงประเด็น มีกิจกรรมกลุ่มย่อย ลักษณะของกิจกรรมเป็น Active learning ทำให้น่าสนใจ ติดตาม และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม ผนวกกับข้อมูลและความรู้ใหม่ที่ได้รับ ระหว่างคณาจารย์จากหลายภาควิชาฯ เช่นการตั้งคำถาม และระยะเวลาในการรอคำตอบจากนักศึกษาที่เหมาะสม เพื่อให้โอกาสนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม คณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ให้ข้อคิดเห็นและถามคำถามที่น่าสนใจ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างสรรค์

ข้อเสนอแนะ 

          -ควรเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย เพราะช่วยทำให้เข้าใจได้มากขึ้น 

          -การบันทึก teaching techniques ในแบบฟอร์ม ภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรม 2 สัปดาห์ เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าว ไม่มีการจัดการเรียนการสอนเช่นปกติ อาจตอบแบบบันทึกได้ไม่สมบูรณ์

          -อยากให้สรุปเนื้อหาสั้นๆเป็น One page infographic และ post ไว้ใน KM ของภาควิชาหรือคณะเพื่อเผยแพร่ต่อไป

          ประโยชน์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ในหัวข้อ “Essential skills for effective teaching”  ประกอบด้วย 3 ครั้ง โดยหัวข้อย่อย ครั้งที่ 1 เรื่อง “Teaching techniques” ด้านการดำเนินงานด้านการศึกษานั้น สามารถนำไปเผยแพร่ และประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ การใช้เทคนิคในการเรียนการสอน เช่น การตั้งคำถาม และระยะเวลาในการรอคำตอบจากนักศึกษาที่เหมาะสม เพื่อให้โอกาสนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม มีการทำกิจกรรมกลุ่มย่อยเป็น Active learning ทำให้น่าสนใจ ติดตาม และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม ผนวกกับข้อมูลและความรู้ใหม่ที่ได้รับ ระหว่างคณาจารย์จากหลายภาควิชาฯ

รศ.ดร.วนิดา เสนะสุทธิพันธุ์ ผู้ลิขิต

          คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ และภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “Essential skills for effective teaching”  ประกอบด้วย 3 ครั้ง โดยหัวข้อย่อย ครั้งที่ 2 เรื่อง “Active learning”โดยมีวิทยากร 4 คน ได้แก่ อาจารย์ ดร.ภัทรนุช วิทูรสกุล อาจารย์สาธิมา สุระธรรม อาจารย์ ดร.ชญาภา ชัยสุวรรณ และอาจารย์ลัดดาวัลย์ ทรัพย์เจริญมากในวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30-15.00 น. ผ่าน Link: shorturl.at/mxzUW และมีคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 12 คน รายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ในหัวข้อย่อย ครั้งที่ 2 เรื่อง “Active learning” ประกอบด้วยหัวข้อ Basic Concepts of Active Learning, Small group teaching, Ward round and bedside teaching, Clinical performance assessment, Reflection โดย Basic concepts of active learning มี 4 หลักการพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ แบบ Active learning  ได้แก่ Feedback, Activity, Individualization, Relevance

          การสอนกลุ่มย่อย Small group teaching โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการร่วมอภิปราย การทำกลุ่ม การสะท้อนคิดและการให้ข้อมูลย้อนกลับ เป็นต้นโดยครูผู้สอนมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการทำกลุ่ม เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้สังเกตการณ์ สนับสนุนประเด็น/ข้อโต้แย้ง ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบว่าส่วนใหญ่มักพบปัญหาและอุปสรรค เช่น นักศึกษาไม่ได้เตรียมตัว อาจจะมีนักศึกษาเพียงบางคนที่ตั้งใจทำกลุ่ม นักศึกษาบางคนไม่มีส่วนร่วมในการทำกลุ่ม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยกระตุ้นในนักศึกษามีการเตรียมตัว มีการแนะนำและตั้งกติกาในการทำกลุ่ม การเลือกใช้ทำคำถามที่เหมาะสม สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มีการอธิบายในเวลาที่เหมาะสม มีการสรุปและประเมินผล  

          การสอนข้างเตียง Bed side teaching มีขั้นตอนหลัก 5 ขั้น คือ 

          1. การเตรียมทั้งผู้ป่วยและนักศึกษาก่อนทำการเรียนการสอน รวมทั้งยึดหลักการเคารพสิทธิของผู้ป่วยด้วย 

          2. การสรุปรวมสิ่งที่ต้องการปฏิบัติเมื่อเข้าพบผู้ป่วย เช่น สรุปความรู้ ข้อมูลผู้ป่วย สิ่งที่ต้องการทราบ คำถามในการซักประวัติ การตรวจร่างกายในระบบที่ต้องการทราบเพิ่มเติม รวมถึงหัตถการที่จะปฏิบัติกับผู้ป่วย เป็นต้น

           3. การสอนข้างเตียงเน้นให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์และได้ประสบการณ์การจากผู้ป่วย เช่น การฝึกทักษะการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การสื่อสาร การสังเกตพฤติกรรม ลักษณะอารมณ์ของผู้ป่วย การตัดสินใจ ทักษะในการปฏิบัติหัตถการ เป็นต้น

          4. การสรุปรวมความรู้และประสบการณ์ที่ได้หลังจากปฏิบัติกับผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง สถานการณ์ สิ่งที่ปฏิบัติ รวมถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหา 

          5. การสะท้อนคิด ความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลเกิดความรู้สึกที่ดี ทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและมั่นใจในการปฏิบัติการพยาบาลเพิ่มขึ้น

          การประเมินผล เป็นกระบวนการที่ใช้เพื่อบันทึกระดับความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้เรียน ซึ่งมักบันทึกเป็นระดับคะแนนที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ระหว่างผู้เรียน ได้จากการสังเกตการปฏิบัติงานของนักศึกษาในสถานการณ์จริง ซึ่งในการประเมินอาจมีปัจจัยรบกวนอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น ระบบการทำงาน สภาพแวดล้อม สภาพจิตใจของผู้สอบ รวมถึงผู้ประเมินแต่ละคนอาจประเมินให้คะแนนแตกต่างกันในสถานการณ์เดียวกัน ดังนี้จึงควรมีการสร้างมาตรฐานให้ผู้ประเมินแต่ละคนเข้าใจในการประเมินตรงกันและเครื่องมือในการประเมิน ควรมีความชัดเจนและเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการประเมิน

          การประเมินผล 

          ผลการประเมินจากคณาจารย์และบุคลากร จำนวน 7  คน พบว่า อยู่ในระดับเห็นด้วยมากถึงมากที่สุด ได้รับประโยชน์อย่างมากในการเข้ากิจกรรม สามารถนำไปเผยแพร่ และประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ ทีมวิทยากร มีการเตรียมตัวมาอย่างดีเยี่ยม ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่กระชับ ตรงประเด็น มีคลิปวิดีโอประกอบทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม ผนวกกับข้อมูลและความรู้ใหม่ที่ได้รับ และควรมีจัดในครั้งต่อๆไป

          ข้อเสนอแนะ 

          - อยากให้แลกเปลี่ยนจัด KM กับภาควิชาอื่นๆ มากขึ้น

          - อยากให้มีการจัดกิจกรรมในหัวข้อ Online skill assessment และ Active learning online

          - Video clips ประกอบ ทำให้น่าสนใจมากขึ้น ระดับเสียงใน video บางช่วงค่อนข้างเบา

          ประโยชน์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง หัวข้อ “Essential skills for effective teaching”  ประกอบด้วย 3 ครั้ง โดยหัวข้อย่อย ครั้งที่ 2 เรื่อง “Active learning” ด้านการดำเนินงานด้านการศึกษานั้น นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและประเมินผลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งการสอนแบบ Active learning เทคนิคต่างๆ ในการทำกลุ่มย่อย การสอนข้างเตียงบนหอผู้ป่วย รวมถึงการประเมินและแบบประเมินผล


อ.ลัดดาวัลย์ ทรัพย์เจริญมาก ผู้ลิขิต                                                                                                                                                     

          ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “การทบทวน การใช้ Microsoft Teams ในการสอนออนไลน์ การสร้างและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ”  เมื่อวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00-12.00 น. ผ่านห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 503 ชั้น 5 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย และระบบออนไลน์ Microsoft Teams โดยมี วิทยากร 3 คน ได้แก่ อาจารย์ลัดดาวัลย์ ทรัพย์เจริญมาก อาจารย์ ดร.ชญาภา ชัยสุวรรณ และอาจารย์สาธิมา สุระธรรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 10 คน  

          อาจารย์ลัดดาวัลย์ ทรัพย์เจริญมาก วิทยากร ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการสอนให้เนื้อหา อย่างสั้นๆ และให้เวลาแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการฝึกทำในหัวข้อย่อยต่างๆ ที่เรียน อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ โดยมีอาจารย์ ดร.ชญาภา ชัยสุวรรณ และอาจารย์สาธิมา สุระธรรม ให้คำแนะนำ ตอบคำถาม และช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในระหว่างเรียนอย่างใกล้ชิด จนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถ ทำได้ด้วยตนเอง  

          ก่อนเริ่มการทำกิจกรรม มีการสอบถามประเด็นปัญหาในเข้าถึงระบบ Microsoft Teams ปัญหาในการใช้ แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ประเด็นที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือไม่แน่ใจ เพื่อให้คณาจารย์สามารถใช้ Microsoft Teams .ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพสูงสุด และรวดเร็วทันเวลา ในการจัดกิจกรรม KM ครั้งนี้ ได้มีการทบทวนเนื้อหา ดังต่อไปนี้ 

          1. การเข้าสู่ระบบ Microsoft Teams เช่น การ download สัญลักษณ์ต่างๆ ในการใช้งาน การ upload ไฟล์ การแชร์ไฟล์ การนำเสนอ การบันทึก ประเด็นปัญหาในการใช้ที่มักพบบ่อย เป็นต้น

          2. การสร้างห้องเรียนสำหรับนักศึกษากลุ่มใหญ่ สำหรับรับนักศึกษา อาจารย์ และบุคคลภายนอก การกำหนดการเข้าร่วมการเรียนออนไลน์ จะให้เข้าร่วมได้หรือไม่ได้ การตรวจสอบรายชื่อนักศึกษา  

          3. การสร้างห้องเรียนย่อย สำหรับการเรียนกลุ่มย่อย สามารถทำได้หลายๆ ห้องในระยะเวลาเดียวกัน ได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยส่งเสริม Interactive learning 

          4. การมอบหมายงาน ในขณะเรียน การส่งงาน และการป้อนกลับจากอาจารย์ สามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นกับจำนวนนักศึกษา และระยะเวลาในการมอบหมาย 

          5. การสร้างแบบประเมินการจัดการเรียนการสอน หรือแบบประเมินอื่นๆ ในระหว่างเรียน หรือเมื่อสิ้นสุดของรายวิชา 

          6. การสร้างแบบทดสอบ/ข้อสอบ ทั้งปรนัย และอัตนัย การตรวจคะแนน และการส่งผลการสอบ ซึ่งสามารถให้นักศึกษาทำในเวลาเรียน หรือนอกเวลาเรียนที่กำหนดได้  

                 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม สรุปได้ดังนี้

          1. การเรียนรู้ โดยทีมวิทยากร สอน ให้ข้อมูล  ร่วมกับการฝึกปฏิบัติ  เป็นระยะๆ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น 

          2. การศึกษาการใช้โปรแกรม Microsoft Teams ควรมีการศึกษาทบทวนจาก video clips ผ่าน link ต่างๆ สำหรับคณาจารย์ได้อ่านและทบทวนได้บ่อยตามที่ต้องการ (7 links) 

                 สำหรับแนวทางในการนำไปประยุกต์ในการสอนทฤษฎี      

          คณาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เสนอแนะให้ศึกษาหรือทบทวนเพิ่มเติม โดยศึกษาจาก video clips ทั้งจากในระดับภาควิชา คณะพยาบาลศาสตร์ และระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีความคุ้นเคยมากขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเฉพาะภาคทฤษฏี จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนน่าสนใจ ติดตามมากขึ้น 

          ผลการประเมินจากคณาจารย์ 5 คน พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ได้รับประโยชน์ในการเข้ากิจกรรม เสนอแนะให้ทำกิจกรรม KM ครั้งต่อไปในเรื่อง การสร้างข้อสอบและการจัดทำแบบประเมินออนไลน์ อนึ่ง เนื่องจากเนื้อหาในการจัดทำ KM ครั้งนี้มีเนื้อหามาก จึงควรทำกิจกรรม KM 2 ครั้ง เพื่อได้มีโอกาสฝึกในการทำ ถ้าหากเป็นไปได้ควรจัดทำเป็น Advanced course จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คณาจารย์

          ประโยชน์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การทบทวน การใช้ Microsoft Teams ในการสอนออนไลน์ การสร้างและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ด้านการดำเนินงานด้านการศึกษานั้น นำสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปประยุกต์ในในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แลแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงการสร้างทีม การแบ่งห้อง การทำกลุ่มย่อย การให้นักศึกษาส่งงานผ่านระบบออนไลน์

 

รศ.ดร.วนิดา เสนะสุทธิพันธุ์ ผู้ลิขิต                                                                                                                                             

แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1732104