ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤดี ปุงบางกะดี่
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง ซิ่งมีผลกระทบด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ PM2.5 อันตรายต่อทุกคน เพราะไม่ใช่ฝุ่นธรรมดา แต่มีสารอันตรายแฝงอยู่มากมาย ทั้ง สารปรอท สารหนู แคดเมียม โลหะหนักชนิดอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง อัมพาต
PM 2.5 คือ ฝุ่นละเอียด ขนาด 2.5 ไมโครเมตร ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเข้าไปในถุงลมปอด ก่อให้เกิดอาการได้ นอกจากนี้ยังผ่านไปสู่อวัยวะอื่นในร่างกาย และอุดตันตามผนังเส้นเลือดได้ การได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคุณแม่ตั้งครรภ์ หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้ ระคายเคืองนัยน์ตา แสบจมูก แน่นจมูก ระคายคอ หลอดลม ปอด มีอาการทางเดินหายใจกำเริบ รุนแรง ถ้าได้รับเชื้อโรคจะมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงกว่าปกติ ทางเดินหายใจล้มเหลว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษในแม่ตั้งครรภ์ เสี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดในแม่ตั้งครรภ์
และฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง โดย จะเข้าไปทำลายสมอง ระบบประสาท และอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต หัวใจ ของเด็กทารก โดยเฉพาะในช่วงที่มีพัฒนาการของอวัยวะนั้นๆ ส่งผลให้เด็กในครรภ์พิการ หรือแท้ง ทารกตายคลอด ทารกตายเฉียบพลัน (sudden infant death syndrome : SIDs) อาจส่งผลต่อลูกที่เกิดมาอาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มีปัญหาเจริญเติบโตช้า และมีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็ง ภาวะหอบหืดรวมทั้งอาจส่งผลให้ทารกมีอัตราเป็นออทิสติกสูงขึ้น
คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว หอบหืด ภูมิแพ้ สตรีตั้งครรภ์ที่ที่ฐานะยากจน สตรีตั้งครรภ์ที่ทำงานโรงงาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นพิษ รับฝุ่นพิษมาเป็นเวลานาน และสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 1
ในภาวะระดับอากาศภายนอกมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ ระดับ AQI ไม่เกิน 50 หรือ PM 2.5 จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ควรปฏิบัติดังนี้ ตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการออกข้างนอก งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับควันบุหรี่มือสอง หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้
สตรีตั้งครรภ์ แนะนำให้
- ดื่มน้ำมากขึ้น ขับฝุ่นพิษออกทางปัสสาวะ
- กินอาหารที่มี Anti-Oxidant เช่นผัก ผลไม้
- สวมใส่หน้ากาก N95 เวลาออกนอกบ้าน เวลามา รพ
- สังเกตอาการผิดปกติเช่น ปวดหัว ตาพร่ามัว จุกเสียดแน่นใต้ลิ้นปี่
- สังเกตุลูกดิ้นทุกวัน จนกว่าจะคลอด
- สังเกตอาการผิดปกติ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้ให้มาพบแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง
