คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะสตรี หากตรวจพบโรคทางนรีเวช ให้รีบเข้ารับการรักษาทันที ไม่ควรปล่อยไว้ เพราะ “รู้เร็ว = รักษาได้” เมื่อพบความผิดปกติก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา จันทร์ผ่อง ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เกี่ยวกับโรคทางนรีเวช ที่พบบ่อยในผู้หญิง ในปี 2566 มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่เยื่อไม่ลอกออกมาทั้งหมด แต่กลับย้อนกลับเข้าไปตามท่อนำไข่ และไหลเข้าไปในช่องท้อง สะสมไปเรื่อย ๆ ทุกรอบเดือนทำให้กลายเป็นถุงน้ำที่เรียกว่า “ช็อกโกแลตซีส” / เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อาการจะขึ้นกับชนิดของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก แบ่งตามตำแหน่งของเนื้องอกได้ 3 ชนิด เนื้องอกในโพรงมดลูก เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก / ภาวะหมดประจำเดือน ปกติผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติที่อายุเฉลี่ย 51 ปี หรือ วัยทอง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน มีเหงื่อออกตอนกลางคืน สมาธิสั้น นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย / เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปกติแล้วผู้หญิงจะมีเลือดออกจากช่องคลอดทุก ๆ 21-35 วัน ในทุกเดือน หรือ เลือดประจำเดือน หากมีอาการเลือดออกผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประจำเดือน ถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ / และ มะเร็งปากมดลูก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นอันดับหนึ่งทางนรีเวช
ดังนั้น การไปพบสูตินรีแพทย์ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากมีความผิดปกติไม่ควรทิ้งไว้หรือไปซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เมื่อมาพบแพทย์จะทำการซักประวัติ การตรวจภายใน จะทำเมื่อจำเป็น สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สตรีอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถเข้ารับการตรวจได้ และควรตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค หากละเลยจนเกิดอาการรุนแรงแล้วไปพบแพทย์ การวินิจฉัยโรคจะล่าช้า ทำให้การรักษายาก จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนใส่ใจสุขภาพภายในของตนเอง เพราะ “รู้เร็ว = รักษาได้” เมื่อพบความผิดปกติก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที