โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE : ควบคุมโรคดี คุณภาพชีวิตดี

โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่าง ๆ โดยเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดงตามผิวหนัง การอักเสบของไต และเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น แม้จะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากยีนส์ที่ผิดปกติ พันธุกรรม ฮอร์โมนเพศ รวมถึงปัจจัยจากแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) สารเคมี ฯลฯ โดยมีอัตราการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาจารย์ สิริกาญจน์ หาญรบ ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง อาการของโรคนี้ สามารถแสดงออกได้หลายอาการ ซึ่งสาเหตุพื้นฐานของโรคนี้เกิดจาก ภูมิคุ้มกันที่ทำลายตัวเอง และภูมิคุ้มกันดังกล่าวสามารถกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ตามร่างกายได้ทุกระบบ อาการในระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท เช่น ชัก ปวดศีรษะ ระบบไต เช่น บวม ปัสสาวะเป็นฟอง และข้อ เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดง เป็นต้น อาการทั่วไปที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย ผมร่วง นอนไม่หลับ เป็นต้น ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการกำเริบของโรค ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดี ควบคุมภูมิคุ้มกันที่เป็นตัวทำลายล้างไม่ให้กำเริบได้ อาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาลง

ผู้ป่วยหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SLE แล้ว แพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการประเมินความรุนแรงของโรคจากระดับของภูมิคุ้มกันในร่างกายก่อนว่ามีความรุนแรงอยู่ในระดับใด และดำเนินการรักษาซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาโดยการใช้ยา ทั้งยาในกลุ่มของยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) และเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ร่วมทั้งยาต้านการอักเสบประเภทเดียวกับที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย นอกจากนี้ยังต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กันไปด้วย

อ.สิริกาญจน์ หาญรบ กล่าวว่า ปัจจุบันโรค SLE ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในระยะสงบ การไม่ควบคุมโรคให้ดี ไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้โรคกำเริบได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจมีการกำเริบของโรคส่งผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตตามมา

ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยโรค SLE ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ คือ การไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามการทำงานของภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ จะได้หาทางรักษาได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการกำเริบรุนแรงเกิดขึ้น หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปรับเพิ่ม ลดยา หรือหยุดยาด้วยตนเอง เพราะยาในกลุ่มเพรดนิโซโลน เป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียง หรือในทางตรงกันข้ามเห็นว่าตนเองมีอาการดีขึ้นจึงหยุดยาเอง เป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ไม่ควรซื้อยา อาหารเสริม วิตามิน สมุนไพรต่าง ๆ มารับประทานเอง เนื่องจากหลงเชื่อคำโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ผู้ป่วยควรปฏิบัติพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ควรล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการไปที่ที่มีคนหนาแน่น หรือหากต้องดูแลหรือใกล้ชิดผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือมีการติดเชื้อ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทานอาหารปรุงสุก สะอาดให้ครบ 5 หมู่ ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีน ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬากลางแจ้ง และป้องกันตนเองเมื่อต้องสัมผัสแสงแดด เช่น กางร่ม สวมเสื้อแขนยาว ทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทางด้านอารมณ์ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้โรคกำเริบ โดยพยายามหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราชอบ มีการยอมรับ และปรับตัวกับโรคนี้อย่างมีความหวัง และความสุข หากรู้สึกโดดเดี่ยว ท้อแท้ หมดกำลังใจ กังวลกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถหาแหล่งสนับสนุนที่ปรึกษา เช่น แพทย์ พยาบาล ทีมสุขภาพที่ดูแล หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดความเครียดและวิตกกังวลได้ ทั้งนี้ ญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยโรค SLE ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ตอบสนองการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยควบคุมโรคให้สงบ และมีอาการของโรคดีขึ้นได้