ครอบครัว สังคม : เกราะป้องกันเด็กไทยห่างไกลบุหรี่

หากจะพูดถึงบุหรี่กับวัยรุ่นไทย ก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่แยกจากกันได้ยาก เป็นพฤติกรรมที่ส่งต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งแนวโน้มในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ทั่วไปมีปริมาณลดลงเพราะวัยรุ่นยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องของพิษภัยจากบุหรี่ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าเทรนด์การสูบบุหรี่เริ่มต้นกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้วัยรุ่นเกิดความอยากรู้อยากลอง อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไป สามารถซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ ไม่มีข้อกำหนดเรื่องอายุผู้ซื้อเหมือนบุหรี่ทั่วไปที่สามารถซื้อขายได้ในคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฯลฯ ประกอบกับกับการโฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถสูบได้ไม่มีพิษภัยอะไร จึงเป็นสาเหตุให้แนวโน้มของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ รวมถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่ทั้งหลายจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับตัวผู้สูบและคนรอบข้าง อย่างที่หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันความรุนแรงของผลกระทบเหล่านั้นอาจมีมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สุขภาพของผู้ที่สูบบุหรี่และติดเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้น มีโอกาสที่จะแสดงอาการเยอะกว่าผู้อื่นและหายช้ากว่าผู้อื่นได้ นอกจากปัญหาในด้านสุขภาพแล้ว ปัญหาด้านครอบครัวและปัญหาสังคมก็ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน อย่างด้านครอบครัวอาจเกิดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว จนไปถึงความขัดแย้งจนทำให้เด็กต้องหันหน้าไปใช้ยาเสพติด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมตามมา คือเมื่อเด็กต้องการเงินเพื่อนำไปซื้อบุหรี่หรือยาเสพติดอื่น อาจทำให้เด็กเลือกกระทำในสิ่งที่ผิด เช่น ทำสิ่งผิดกฎหมาย การลักขโมย ฯลฯ ซึ่งอาจนำไปสู่อาชญากรรมอื่นได้ เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายตรงส่วนนี้

“บุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ยาเสพติดอื่น”

ดังนั้น ในบริบทของครอบครัวและชุมชนถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากบุหรี่และสิ่งเสพติดได้ โดยเริ่มต้นจากครอบครัวต้องให้ความรักความอบอุ่น เข้าใจกันและกัน ยอมรับฟังปัญหาของเด็ก รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกหลาน เพราะเด็กอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ มีโอกาสติดบุหรี่มากกว่าบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่มากถึง 3 เท่า และเมื่อเด็กติดบุหรี่แล้วจะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่ยาเสพติดอื่น เช่น สุรา ยาบ้า เป็นต้น ในส่วนของชุมชนนั้น ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับผู้นำ ให้ความสำคัญในเรื่องสังคมปลอดบุหรี่ มีการขับเคลื่อนให้ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาในเรื่องการบริโภคยาสูบ สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน ไม่ปล่อยปละละเลย เด็กก็จะไม่กล้าทำอะไรออกนอกลู่นอกทาง และเมื่อพบปัญหาก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ไขเช่นแจ้งพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ตักเตือน หรือแนะนำช่องทางในการบำบัดรักษาต่อไป เป็นการสร้างเครือข่ายการรณรงค์ในชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบของสังคมปลอดบุหรี่ จากการที่ได้ทำงานกับชุมชนพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนให้ความสนใจในเรื่องของพิษภัยบุหรี่เป็นอย่างมาก และเป็นผู้นำข้อมูลไปบอกแก่คนในครอบครัวรวมถึงแนะนำให้คนในครอบครัวให้ความสำคัญกับการเลิกบุหรี่ โดยจากการพูดคุยผู้ที่สูบส่วนใหญ่และสมัครใจจะเลิกบุหรี่ จะสามารถเลิกได้เองโดยอาศัยกำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้างเป็นสำคัญ

ซึ่งแนวทางในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานในเชิงรุกและใช้ความสม่ำเสมอ โดยต้องนำองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน เริ่มจากการให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ เชิญชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าโครงการเลิกบุหรี่ด้วยความสมัครใจ จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่แนะนำช่องทางในการบำบัดรักษา รวมถึงติดตามผลจนสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชุมชน เมื่อชุมชนทำได้ประสบผลสำเร็จก็จะเกิดเป็นโมเดลขยายไปสู่ชุมชนอื่นต่อไป

สุดท้ายนี้ อยากให้หน่วยงานทางภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญในวัยรุ่น ร่วมจัดตั้งโครงการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ให้วัยรุ่น ลด ละ เลิกบุหรี่รวมถึงยาเสพติดอื่น เพราะเด็กและเยาวชนคือบุคลากรสำคัญที่จะช่วยประเทศในอนาคต หากคนเหล่านี้มีสุขภาพที่ดี จะส่งผลให้ประเทศชาติพัฒนาได้ดีตามไปด้วย และขอให้กำลังใจบุคลากรที่ทำงานด้านการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่และยาเสพติดอื่นๆ ขอให้ท่านมีความเข้มแข็งและทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง เราจะเดินไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดบุหรี่และยาเสพติด