สื่อสารอย่างไร ให้ลูกเข้าใจ ไวรัส-วายร้าย (Covid-19)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรับสารในปัจจุบันทำให้คุณรู้สึกสับสนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) ในเด็กๆเองเมื่อเขาได้รับข้อมูลทางออนไลน์/ ทีวี หรือแม้แต่ได้รับจากบุคคลอื่นๆนั้น ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกเครียด วิตกกังวล และโศกเศร้าได้เช่นกัน ดังนั้นการสนทนาแบบเปิดใจและการให้กำลังใจจากผู้ปกครองจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขา เข้าใจ และให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองจากไวรัส-วายร้าย นี้ไปได้

เริ่มต้นถามคำถามและคอยฟังอย่างตั้งใจ

เริ่มต้นการสนทนาด้วยคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อประเมินการรับรู้ของเด็กๆ ให้โอกาสพวกเขาได้แสดงความรู้สึกออกมาโดยไม่ปิดกั้นจินตนาการของเด็ก การสนทนาอาจเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเรื่องราว การวาดรูป การเล่นหรือกิจกรรมอื่นๆก็ได้ ซึ่งคุณต้องทำให้พวกเขามั่นใจว่าเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าคุณกำลังฟัง และให้ความสนใจอย่างเต็มที่

ตอบคำถาม/ อธิบายด้วยความเป็นจริงและเหมาะสมกับเด็ก

วิธีที่จะปกป้องเด็กให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสคือการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการไอหรือจาม และการล้างมือให้ถูกขั้นตอน โดยคุณอาจฝึกให้เด็กล้างมือพร้อมกับการร้องเพลงซึ่งจะช่วยให้เด็กๆเกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการอธิบายหรือตอบคำถามของผู้ปกครองนั้นควรตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริง และใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก หากคุณไม่สามารถตอบคำถามของพวกเขาได้ อย่าคาดเดา ให้ใช้โอกาสนี้ชักชวนเด็กร่วมกันค้นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้

สร้างความมั่นใจว่าเด็กทำได้

เด็กๆอาจไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างจากข้อมูลที่ได้รับและสถานะความเป็นจริงได้ทั้งหมด ดังนั้นพวกเขาอาจเชื่อว่ากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย คุณสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดของเด็กได้โดยจัดหากิจกรรมต่างๆ  หากเด็กรู้สึกอึดอัดให้อธิบายว่าพวกเขาต้องอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและบุคคลอื่น สร้างความมั่นใจว่าคุณรู้ว่ามันยาก น่าเบื่อ หรืออาจน่ากลัวในบางครั้ง แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัย และผู้ใหญ่จำนวนมากกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บ้านเมืองปลอดภัย

สิ้นสุดการสนทนาด้วยการแสดงความห่วงใย

อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เด็กรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งเมื่ออยู่ในสถานการณ์วิกฤติ เมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง คุณควรสังเกตและประเมินระดับความกังวลของเด็กๆ และบอกให้พวกเขารับรู้ว่าคุณเป็นห่วง และพร้อมรับฟังเสมอเมื่อพวกเขาไม่สบายใจ

 

อาจารย์จินต์ณาภัส แสงงาม

อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล