คุณภาพชีวิตของเด็กเบาหวาน ในการรักษาแบบ MDI ?

ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ได้มีการกำหนดเป้าหมายการรักษาไว้ว่าเป็น การเน้นเรื่องการดูแลระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงคนที่ไม่เป็นเบาหวานให้มากที่สุด โดยมีจำนวนครั้งของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยที่สุด หลักการสำคัญในการดูแลคือการบริหารอินสุลินทดแทนในปริมาณที่เหมาะสม โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ การให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่แรกวินิจฉัย ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลตนเองของเด็กเบาหวานที่ประสบความสำเร็จและมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นโรคเบาหวาน

เด็กเบาหวานชนิดที่หนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสดีจากการพัฒนายาอินสุลิน ให้มีประสิทธิภาพที่ดี ดังนั้นการรักษาที่นิยมใช้ในขณะนี้จะเป็นการให้อินสุลินแบบ Multiple Daily Injections (MDI) หรือ Basal – Bolus Insulin Regimen ซึ่งเป็นการทำให้ระดับอินสุลินในร่างกายเด็กเบาหวาน มีการทำงานของอินสุลินเหมือนหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด โดยการใช้อินสุลินหลัก 2 ชนิด คือ

          1. Basal insulin secretion

          2. Prandial insulin release

Basal insulin เป็นอินสุลินที่จะให้วันละ 1 ครั้ง อาจเป็นในช่วงเช้าหรือก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายมีอินสุลินพื้นฐานอยู่ในร่างกายเหมือนคนปกติในขณะที่ไม่ได้รับประทานอาหาร

Prandial insulin จะฉีดก่อนรับประทานอาหารตามมื้ออาหารที่เด็กเบาหวานรับประทาน คือ วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า ก่อนอาหารหลางวัน และก่อนอาหารเย็น ชนิดของอินสุลินที่ใช้อาจเป็น rapid acting insulin หรือ regular insulin ถ้าเป็นชนิด rapid acting insulin จะฉีดก่อนรับประทานอาหาร 10 – 15 นาที ส่วน regular insulin จะฉีดก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที ข้อดีของการรักษาด้วยการฉีดยาแบบ MDI คือ เด็กเบาหวานสามารถปรับปริมาณอาหารที่จะรับประทานในมื้อนั้นๆ รวมทั้งปรับปริมาณยาอินสุลินตามปริมาณอาหารและระดับน้ำตาลขณะนั้นได้ ซึ่งจะขึ้นกับกิจกรรมที่ทำให้แต่ละวันให้เหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานของการนับคาร์โบไฮเดรตและจำนวนยาอินสุลินที่มีการกำหนดในแต่ละคน ในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่กำหนด เช่น กำหนดว่าอาหารในหนึ่งวันเป็นคาร์โบไฮเดรต 14 ส่วน สามารถแบ่งเป็นส่วนดังนี้ 4-0-4-1-4-1 หรือ 3-0-4.5-1-4.5-1 ก็ได้ โดยการนับคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนยังคงเดิมใน 1 วัน และยาอินสุลินที่ฉีดก่อนรับประทานอาหาร ก็สามารถปรับขนาดตามการนับคาร์โบไฮเดรตและระดับน้ำตาลในเลือดขณะนั้น โดยเด็กเบาหวานก็ยังได้รับยาอินสุลินรวมใน 1 วัน เท่าเดิม ดังนั้นถ้าในช่วงใดช่วงหนึ่ง ตรวจค่าระดับน้ำตาลได้สูงกว่าค่าเป้าหมาย ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องการของแต่ละบุคคลก็สามารถปรับขนาดยาอินสุลิน เพิ่มตามเกณฑ์ของแต่ละคนที่กำหนดไว้ ทำให้เด็กเบาหวานสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้กลับมาอยู่ในช่วงที่ต้องการได้ จะเห็นได้ว่าการรักษาในแบบที่กล่าวข้างต้นสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่มีโอกาสเกิดกับ ตา ไต หัวใจ หรือหลอดเลือดได้ดีกว่าการรักษาแบบเดิมและเด็กเบาหวานก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

รองศาสตราจารย์อัจฉรา เปรื่องเวทย์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์