การแปลเครื่องมือวิจัยทางการพยาบาล

เครื่องมือวิจัย หมายถึง เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งที่ใช้เป็นสื่อสำหรับนักวิจัยซึ่งนำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลตามตัวแปรในงานวิจัยที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการพัฒนาเครื่องมือวิจัยชุดหนึ่งๆนั้น มีกระบวนการที่ซับซ้อนจึงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเครืองมือค่อนข้างนาน ดังนั้น นักวิจัยไทยส่วนใหญ่จึงนิยมนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นในต่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานมาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อนำมาใช้ในงานวิจัยของตนเอง ดังนั้น เทคนิคการแปลเครื่องมือวิจัยที่จะนำมาใช้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยควรให้ความสำคัญและเลือกใช้ให้เหมาะสม

           เทคนิคที่ใช้ในการแปลเครื่องมือวิจัยทางการพยาบาลนั้นมีหลากหลายวิธี1 ได้แก่ 1) การแปลไปข้างหน้าอย่างเดียว (forward-only translation) 2) การแปลไปข้างหน้าพร้อมกับการทดสอบ (forward-only translation with testing) 3) การแปลย้อนกลับ (back-translation) 4) การแปลย้อนกลับและทดสอบกับผู้ใช้ภาษาเดียว (back-translation with monolingual test) 5) การแปลย้อนกลับและทดสอบกับผู้ใช้สองภาษา (back-translation with bilingual test) และ 6) การแปลย้อนกลับและทดสอบกับผู้ใช้ทั้งภาษาเดียวและสองภาษา (back-translation with both monolingual and bilingual test) ซึ่งเทคนิคที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีการตรวจสอบคุณภาพของการแปล คือ เทคนิคการแปลแบบแปลย้อนกลับ (back-translation)

           เทคนิคการแปลเครื่องมือแบบย้อนกลับที่ได้รับการอ้างอิงและนำมาใช้อย่างแพร่หลายในงานวิจัยทางการพยาบาล คือ เทคนิคการแปลย้อนกลับของบริสลิน2 ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การแปลเครื่องมือวิจัยชุดต้นฉบับ (Forward translation) จากภาษาดั้งเดิม (source language) เป็นภาษาเป้าหมาย (target language)

ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยฉบับแปลโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Review of the translated version by reviewer) เป็นการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของภาษาที่ใช้ในการแปล ซึ่งบุคคลที่จะตรวจสอบเครื่องมือฉบับแปลนั้นไม่ควรเป็นบุคคลเดียวกับผู้แปลในขั้นตอนแรก

ขั้นตอนที่ 3 การแปลย้อนกลับ (Backward translation) จากภาษาเป้าหมายมาเป็นภาษาต้นฉบับ โดยผู้แปลย้อนกลับควรเป็นผู้ที่สามารถใช้ทั้งสองภาษาได้เป็นอย่างดี (bilingual person) แต่ต้องไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้แปลในขั้นตอนแรกและไม่เคยเห็นเครื่องมือวิจัยชุดต้นฉบับมาก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้ควรใช้ผู้แปลอย่างน้อย 2 คน

ขั้นตอนที่ 4 การเปรียบเทียบเครื่องมือวิจัยชุดต้นฉบับกับชุดที่แปลย้อนกลับ (Comparison of the original version and the back-translated version) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของภาษาซึ่งการส่งเครื่องมือชุดแปลย้อนกลับไปให้เจ้าของเครื่องมือชุดต้นฉบับได้พิจารณานับว่าเป็นวิธีการที่ดี ขั้นตอนที่ 5 การทดสอบเครื่องมือวิจัย (Pretest procedures) เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการแปลเครื่องมือที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการนำเครื่องมือไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ช่วยให้ประเมินได้ว่าเครื่องมือชุดที่แปลนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และผู้ตอบมีความเข้าใจข้อคำถามอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าเครื่องมือสามารถนำไปใช้วัดในสิ่งที่นักวิจัยต้องการวัดได้จริง

           ขั้นตอนการแปลเครื่องมือแบบย้อนกลับจากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวิธีการที่นักวิจัยควรนำมาใช้เพื่อช่วยให้ได้เครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้เครื่องมือที่แปลมีคุณภาพดี สามารถวัดผลลัพธ์ที่ต้องการศึกษาได้ชัดเจนและสามารถนำผลการวิจัยนั้นๆไปใช้อ้างอิงยังประชากรกลุ่มเป้าหมายได้ นักวิจัยควรแปลเครื่องมือให้มีความสอดคล้องกับภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มประชากรเป้าหมายด้วย

อ.ดร.เกศศิริ วงษ์คงคำ
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์

อ้างอิง

1. Maneesriwongkul W, Dixon JK. Instrument translation process: A method review. J Adv Nurs 2004; 48(2): 175-86.
2. Brislin RW. Back-translation for cross-culturalresearch. J Cross-Cult Psychol 1970; 1(3): 185-216.