การประเมินการกลืน

ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาทเช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทางสมอง (Cerebrovascular disease, CVD) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’sdisease) โรคมัยแอสธิเนีย กราวิส (myasthenia gravis) ฯลฯ มักพบปัญหาเรื่องการกลืนลำบากอันเป็นสาเหตุของการสูดสำลักและเกิดปอดอักเสบตามมา ซึ่งในการดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยกลุ่มนี้การประเมินการกลืนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องมาพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาแล้วกลับบ้านไป มักจะกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการปอดอักเสบที่เกิดจากการสำลัก ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 25-651 พยาบาลเป็นผู้ทราบถึงการอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยเป็นอย่างดีเนื่องจากดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา จึงมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยด้วยการส่งเสริมการกลืน และป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวต่างๆที่อาจเกิดขึ้นโดยการประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อน ปัจจุบันถึงแม้ว่าวิธีการประเมินการกลืนในแต่ละหน่วยงานก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละหน่วยงาน แต่หลักสำคัญที่เหมือนกันคือ

1. ต้องประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อน โดยการ

1.1 ความรู้สึกตัวและตื่นหรือมีการตอบสนองต่อคำพูดหรือไม่
1.2 สามารถนั่งตัวตรงได้หรือไม่
1.3 ทดสอบ Gag reflex โดยให้ผู้ป่วยหุบปากหรือปิดปากได้โดยไม่มีน้ำลายไหล
1.4 สามารถที่จะไอตามที่บอกได้หรือไม่
1.5 ไม่มีน้ำลายไหลออกมามุมปาก ผู้ป่วยกลืนน้ำลายของตัวเองได้
1.6 สามารถแลบลิ้นและเคลื่อนไปมาโดยเลียริมฝีปากบนและล่างได้หรือไม่โดยไม่บิดเบี้ยว
1.7 สามารถหายใจได้เองหรือไม่
1.8 มีเสียงแหบหรือมีเสียงน้ำในลำคอหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยพูดคำว่า “อา”

2. ทดสอบการกลืน

2.1 ให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรง จากนั้นให้ดื่มน้ำครั้งละ 1 ช้อนชา ทำซ้ำ 3 ครั้งขึ้นไป โดยในแต่ละครั้งของการดื่มน้ำ ให้ผู้ป่วยพูดคำว่า “อา” พร้อมทั้งสังเกตว่ามีไอระหว่างหรือภายหลังการกลืนหรือไม่ เสียงพูดเปลี่ยนแปลงหรือมีไหลรั่วจากมุมปากหรือไม่ ถ้าพบอาการดังกล่าวให้ผู้ป่วยหยุดดื่ม ถือว่าทดสอบไม่ผ่าน แล้วส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดหรือกลืนต่อไป

2.2 ให้ดื่มน้ำ 1 ถ้วย (ประมาณ 50 ซีซี) โดยสังเกตอาการโดยให้ผู้ป่วยพูดคำว่า “อา” เช่นเดียวกันจะตัดสินว่า “ผ่าน” ได้นั้นผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ดังที่กล่าวในขั้นตอนที่ 2 เลย และหากผ่านในขั้นตอนที่2.2 จะเริ่มให้ผู้ป่วยทดลองรับประทานโดยเริ่มจากอาหารเหลวนุ่ม อาหารอ่อนเป็นเนื้อเดียว อาหารที่ต้องบดสับก่อน อาหารใกล้เคียงปกติแต่หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง และอาหารปกติ ตามลำดับ

          ข้อที่น่าสังเกตสำหรับการประเมินการกลืนของผู้ป่วยมักจะใช้น้ำในการทดสอบ เนื่องจากการกลืนน้ำซึ่งเป็นของเหลวใสนั้นจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาท ดังนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถกลืนน้ำได้ ความเสี่ยงในการสำลักอาหารก็ไม่มี ซึ่งต่างจากการกลืนอาหารประเภทของเหลว ที่มีลักษณะข้นหรืออาหารอ่อนที่มีลักษณะข้นเนียนติดกันจะทำให้การกลืนได้ง่าย เนื่องจากอาหารจะจับกันเป็นก้อนและไม่แตกฟุ้งกระจายในช่องปาก แต่น้ำจะมีการกระจายตัวในช่องปาก ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีความบกพร่องการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมเกี่ยวกับกลืนแล้ว การดื่มน้ำในผู้ป่วยกลุ่มน้ำจะทำได้ยากมากหรือทำไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามยังมีงานวิจัยที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบชนิดของอาหาร เช่น ฟักทองบด น้ำผึ้ง และ แครกเกอร์ ที่มีผลต่อการกลืนของผู้ป่วย พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของโรคระดับเล็กน้อย และปานกลาง สามารถผ่านการทดสอบและรับประทานทางได้ปากได้ดีกว่า9 แต่อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยทำการวิจัยซ้ำในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น เพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง

          ในการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความบกพร่องเรื่องการกลืน พยาบาลจะต้องจะต้องมีการประเมินความสามารถในการกลืนของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักที่อาจขึ้นได้ถ้าอาการของผู้ป่วยยังไม่ได้กลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติอย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรัณยา โฆสิตะมงคล
ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

1. บุญญิสา เมืองทอง. ผลของโปรแกรมส่งเสิมการกลืนต่อความสามารถในการกลืนอย่างปลอดภัยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีการกลืนลำบาก. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์. สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2553.

2. Siriporn Wisettorn. Mini-research: swallowing test. In: Hospital T, editor. Annual conference; Pathomthanee: Thamasat Hospital; 2011.