การกำกับตนเองในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (The Self-regulation in pregnant women with gestational diabetes mellitus)

การกำกับตนเองในสตรีที่ป่วยเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ หมายถึง กระบวนการที่สตรีตั้งครรภ์ใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพตนเองในการดำรงชีวิตและสอดคล้องกับภาวะโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ สตรีตั้งครรภ์ต้องเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย (การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย) และกระบวนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้วยตนเอง การกำกับตนเอง ประกอบด้วย การเฝ้าสังเกต (Self-observation), กระบวนการตัดสิน (Judgment process) และปฏิกิริยาตอบสนองต่อตนเอง (Self-Reaction)

การเฝ้าสังเกต (Self-observation) เป็นกระบวนการที่สตรีตั้งครรภ์เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลง  และนำมาพิจารณาว่าได้กระทำพฤติกรรมตามเป้าหมายหรือไม่ เป็นการสังเกตอย่างละเอียด  ถี่ถ้วนและจดบันทึก  แล้วนำมาพิจารณา  วิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้น  เพื่อทราบว่าสิ่งใดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  และสิ่งใดต้องปรับปรุงต่อไป  การเฝ้าสังเกต  ประกอบด้วย  การตั้งเป้าหมาย (goal setting), กางวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (strategy to reach the goal), และการเตือนตนเอง (self-monitoring)

         การตั้งเป้าหมาย (goal setting)  ต้องตั้งเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงและชัดเจนในกิจกรรมที่ต้องทำ เช่น เพื่อให้น้ำตาลอยู่ในระดับปกติ (2-hour postprandial น้อยกว่า 120 มก./ดล.)  มรการควบคุมปริมาณ ชนิดของอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนต้องระบุว่าทำอะไร (what), เมื่อไหร่ (when), ที่ไหน (where), และกับใคร (with whom)

         การวางแผนเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย (strategy to reach the goal)  คือการวางแผนทุกขั้นตอนเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย  และหาแหล่งช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เช่น  เพื่อน  สมาชิกในครอบครัว  และเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพ

         การเตือนตนเอง (self-monitoring)  ประกอบด้วยการสังเกตพฤติกรรมและการจดบันทึกพฤติกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าสตรีตั้งครรภ์ต้องการที่จะปรับการรับประทานอาหารต้องปฏิบัติโดยการจดบันทึกทุกสิ่งที่รับประทาน  วิธีการนี้จะทำให้ทราบถึงพฤติกรรมในการับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม  การเตือนตนเองโดยการจดบันทึกพฤติกรรมต้องทำด้วยความเอาใจใส่   สิ่งสำคัญในการเตือนตนเองคือการวิเคราะห์พฤติกรรมของตนเองว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการทำพฤติกรรมนั้นๆ  เช่น  การชอบรับประทานขนมหวาน  ดื่มน้ำอัดลม

กระบวนการตัดสิน (Judgment process) เป็นการตัดสินว่าพึงพอใจ หรือไม่พึงพอใจในการที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  ทั้งนี้ขึ้นกับมาตรฐานของแต่ละคน  เมื่อตัดสินใจทำพฤติกรรมนั้นๆ  สตรีมีครรภ์จะรู้สึกภูมิใจถ้าความสำเร็จนั้นมาจากความสามารถและการกระทำของตนเอง

ปฏิกิริยาต่อตนเอง (Self-Reaction)  เป็นการเสริมแรง โดยการให้รางวัลตนเองเมื่อทำพฤติกรรมนั้นสำเร็จ  การให้รางวัลกับตนเองจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเกิดกำลังใจในการทำอย่างต่อเนื่อง  การเสริมแรงอาจเป็นในรูปของคุณค่าทางด้านจิตใจ หรือวัตถุสิ่งของ  การเสริมแรงทางบวก  เช่น การยกย่องชมเชยตนเอง หรือซื้อของให้ตนเอง หากสตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถทำพฤติกรรมนั้นสำเร็จ  ไม่ควรที่จะว่ากล่าวตนเองแต่ให้วิเคราะห์หาสาเหตุ  และปัจจัยที่ไม่สามารถทำพฤติกรรมนั้นได้แล้วนำข้อสรุปที่ได้มาวางแผนใหม่เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะนันท์  ลิมเรืองรอง
ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

เอกสารอ้างอิง
Bandura, A. (1986). Social foundations of thought and action: a social cognitive theory. Englewood
Cliffs, NJ: Prentice Hall.
Limruangrong P, Sinsuksai N, Ratinthron A, & Boriboonhirunsarn D. Effectiveness of a self-regulation
Program on diet control, exercise, and two-hour postprandial blood levels in Thais with
Gestational diabetes mellitus. Pacific Rim International Journal of Nursing Research 2011; 15(3):173-87