ศูนย์การพยาบาล(Nursing Center) ตามนิยามของสมาคมพยาบาลสหรัฐอเมริกา(ANA)หมายถึงศูนย์หลายรูปแบบ อาทิ ศูนย์การจัดการพยาบาล(Nurse-managed centers) คลินิคพยาบาล(nursing clinics) ศูนย์การพยาบาลอนามัยชุมชน (community nursing centers) ซึ่งมีหลายประเภทเช่น ศูนย์สุขภาพดี (wellness centers) ศูนย์การดูแลพิเศษเฉพาะเรื่อง (special care centers) เช่นดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ฯ ศูนย์การดูแลสาธารณสุขมูลฐานแบบเบ็ดเสร็จ (comprehensive primary health care centers) เป็นต้น ศูนย์เหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการของพยาบาลวิชาชีพโดยตรง ใช้รูปแบบการพยาบาลในการดูแล โดยพยาบาลวิชาชีพจะทำการวินิจฉัยและให้การพยาบาล แก้ไขปัญหาหรือความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่พบ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มประชากรเป้าหมายและชุมชน บางศูนย์ได้รับเงินตอบแทนจากรัฐตามบริการที่ให้ บางศูนย์ตั้งในรูปแบบธุรกิจ หรือแบบการกุศลไม่หวังผลกำไร ตั้งโดยอิสระหรือตั้งโดยขึ้นกับหน่วยงานต่างๆรวมถึงสถาบันการศึกษาพยาบาลก็ได้
บริการที่ให้ในศูนย์การพยาบาลเหล่านี้เป็นการพยาบาลแบบองค์รวม มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาสุขภาพและเพิ่มพูนสุขภาวะแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทั้งการสาธารณสุขมูลฐาน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในการดูแลสุขภาพตามปัญหาและความต้องการทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้การพยาบาลแบบเอื้ออาทร ที่บูรณการกับความไว้วางใจ เคารพความเป็นบุคคล นอกจากนี้จุดที่ต้องสนใจและความรับผิดชอบของศูนย์ในการให้บริการมีดังนี้
1. การดูแลที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชุมชน(culturally competent care) ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และยอมรับได้
2. ดูแลแบบองค์รวม (holistic approach)ที่ลึกซึ้งถึงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของ กาย จิต สังคม
3. การดูแลแบบร่วมมือกับ สหวิชาชีพ หลายหน่วยงาน (interorganizational and interdisciplinary collaboration) ผสานบริการสุขภาพและบริการทางสังคม เพิ่มโอกาสในการบริการแบบบูรณาการและไร้รอยต่อระหว่างผู้ให้บริการและหน่วยงานต่างๆ
4. บริการพหุระดับ(multilevel interventions)ที่คำนึงถึงทั้งองค์กร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และนโยบายทางสังคมเกี่ยวกับสุขภาพ ปัญหาสุขภาพและประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการ
5. ความเป็นหุ้นส่วนกับชุมชน (community partnerships)ตั้งแต่การก่อตั้งและการดำเนินงานของศูนย์
6. ใช้สัมพันธภาพเป็นฐานในการปฏิบัติ (relationship-based practice) ทั้งสัมพันธภาพที่ดีกับ บุคคล ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ
รูปแบบบริการที่เหมาะสมของศูนย์การพยาบาลจะผนวกทั้งบุคคล สถานที่ วิธีการและกลยุทธ์ในวิถีชีวิตประจำวัน พยาบาลจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในการจัดโปรแกรมสุขภาพชุมชน การให้สุขศึกษาแก่ชุมชน บริการสาธารณสุขมูลฐาน ก่อตั้งและพัฒนาความสัมพันธ์กับครอบครัว ตัวแทนชุมชน ผู้กำหนดนโยบายและอื่นๆในการออกแบบบริการ ดำเนินการบริการ ประเมินผลอย่างเหมาะสมทั้งกลยุทธ์ วิธีการและโปรแกรมบริการสุขภาพต่างๆ ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญการทำงาน
ผลการดำเนินงานของศูนย์การพยาบาลในสหรัฐอเมริกาพบว่าทำให้ผลลัพธ์ทางสุขภาพดีขึ้น เพิ่มการเข้าถึงบริการ สามารถให้รูปแบบบริการที่ซับซ้อน เบ็ดเสร็จในพื้นที่ได้ ลดความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับบริการสุขภาพ และความเจ็บป่วยได้ มีเครือข่ายของผู้ดูแลที่เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มด้อยโอกาสในชุมชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงใจ รัตนธัญญา
ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์
Leave a Reply