การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วม

การผ่าตัดทำการเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วม
การผ่าตัดทำการเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วม

โรคหลอดเลือดหัวใจถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประชากรโลก การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจเป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพ ชีวิตดีขึ้น จากสถานการณ์ความเจ็บป่วยพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด มักมีโรคร่วมที่ส่งผลทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจมีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มขึ้น โรคเบาหวานเป็นโรคร่วมที่พบได้บ่อยเนื่องจากเป็น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรค1 ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด เร่งและส่งเสริมกระบวนการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง2 ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็น 2 เท่าของกลุ่มประชากร ทั่วไป3

เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ พบว่าผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมมักไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (silent myocardial infarction) เนื่องจากการเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติจากการทำลายของเซลล์ประสาท ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าที่แสดงว่ามีปริมาณเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง4 ส่งผลให้การดำเนินของโรคหลอดเลือดหัวใจมีความรุนแรงมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษาอาจมีประสิทธิผลน้อยกว่าระยะเวลาในการฟื้นตัวช้ากว่าผู้ป่วยที่ไม่มีโรคเบาหวานร่วม และจากการทบทวนวรรณกรรม พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอัตราตายหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหรือไม่เป็น แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงสูงกว่า5

การผ่าตัดถือเป็นภาวะเครียด ร่างกายจะมีปฏิกริยาตอบสนอง ต่อภาวะ surgical stress โดยกระตุ้นการทำงานของระบบ The systemic inflammatory response เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต้านอินซูลิน เช่น catecholamine, growth hormone และ corticosteroid รวมทั้งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในการผ่าตัดหัวใจ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทั้งในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและไม่เป็น6 แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีแนวโน้มสูงกว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลังการผ่าตัดส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังการผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติที่ผู้ป่วยอยู่ในหออภิบาลควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และพบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด (80-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่เกิดประโยชน์และไม่ส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้5,6 ภายหลังการผ่าตัด พยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพฤติการการเลือกและรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (HbA1c < 7%)

อาจารย์อรชุมา นากรณ์
ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

1. Mohammadi, S., Dagenais, F., Mathieu, P., King, J. G., Doyle, D., Lopez, S., et al. (2007). Long-term impact of diabetes and its comorbidities in patients undergoing isolated primary coronary artery bypass graft surgery. Circulation, 116, 220-225.

2. Fisher, M. & McMurray, J. J. (2007). Diabetic cardiology. West Sussex, England: John Wiley & Sons.

3. Buse, J. B., Ginsberg, H. N., Bakris G. L., Clark, N. G., Costa, F., Eckel, R., et al. (2007). Primary prevention of cardiovascular disease in people with diabetes mellitus. A scientific statement from the American Heart Association and the American Diabetes Association. Diabetes Care, 30. 162-172.

4. Savarese, V., Ahmed, I., & Gold, B. J. (2008). Coronary artery disease screening in patients with diabetes. Endocrine. Retrieved Febuary 6, 2009,from http://www.springerlink.com/content/5133667h1g730m58/fulltext.pdf

5. Harold, L. (2012). Glycemic control during coronary artery bypass graft surgery. ISRN Cardiology, 212(5), 14p.

6. Petal, K. L. (2008). Impact of tight glucose control on postoperative infection rates and wound healing in cardiac surgery patients. Journal Wound Ostomy Continence Nursing, 35(4), 397-404.