งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ NS Lunch Talk ครั้งที่ 1/2554 ในหัวข้อ การขอทุนจากแหล่งทุนภายนอก โดยมีทีมวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรองกาญจน์ สังกาศ และอาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2553 ณ ห้อง 507 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ ได้กล่าวถึงประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอทุนจากแหล่งทุนเฉพาะทุนภายในประเทศในภาพรวมและจะเจาะลึกในบางทุน โดยแหล่งทุนสำคัญทางการพยาบาลและสาธารณสุขนั้น สามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ แหล่งทุนภายในและแหล่งทุนภายนอก โดยแหล่งทุนภายในหมายถึงแหล่งทุนภายใต้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งที่มาจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยและเงินงบประมาณแผ่นดิน

โดยที่แหล่งทุนจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย ได้แก่

  • ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นกลาง
  • ทุนสนับสนุนนักวิจัยพี่เลี้ยง
  • ทุนส่งเสริมโครงการวิจัยมุ่งเป้าหมายและทุนส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมทุน ซึ่งทุนนี้จะมีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะๆ และทางศูนย์วิจัยจะเป็นผู้ส่งข่าวเกี่ยวกับทุนให้ทางกรรมการวิจัยและหัวหน้าภาควิชาต่างๆ ทราบ
  • ทุนสนับสนุนการตั้งกลุ่มวิจัย จะเป็นทุนที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชา
  • ทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอก

ส่วนแหล่งทุนภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ทุนจาก

  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งแหล่งทุนนี้จะส่งมาที่คณะฯ โดยตรง และโอกาสที่จะได้รับทุนนี้คือ ต้องเน้นการวิจัยเชิงระบบ
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นแหล่งทุนที่มีเงินสนับสนุนค่อนข้างมาก และทุนนี้จะเน้นการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและการดูแลคนให้มีสุขภาพดี ซึ่งคณะฯ มีอาจารย์ที่ได้รับทุนนี้ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภาพร วาณิชย์กุล
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล (สวพ.)
  • สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.)
  • สภาการพยาบาล

สำหรับแหล่งทุนที่สำคัญที่อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ คือ ทุนสภาการพยาบาล ซึ่งในวันนี้ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรองกาญจน์ สังกาศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะผู้ที่ได้ทำงานร่วมกับสภาการพยาบาล โดยกล่าวว่า ในงานด้านประกันคุณภาพ งานวิจัยถือว่ามีความสำคัญคิดเป็นร้อยละ 20 ของงานทั้งหมด โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่ขอรับทุน ซึ่งจะมีทั้งได้รับการอนุมัติและไม่อนุมัติ ซึ่งโครงการที่ไม่อนุมัติส่วนใหญ่มักเกิดจากการเขียนโครงการที่สับสนและไม่ชัดเจน สำหรับกระบวนการขอทุนนี้ เมื่อเขียนโครงการวิจัยเสร็จแล้วส่งให้คณะกรรมการพิจารณา หากผ่านการพิจารณาและอนุมัติทุน จะต้องดำเนินการจัดทำโครงการนั้นๆ ภายหลังเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะมีคณะกรรมการตรวจสอบ และหากเรียบร้อยจะได้รับการตีพิมพ์ลงใน E-journal ของสภาการพยาบาลด้วย

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรองกาญจน์ สังกาศ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประกาศของสภาการพยาบาล ในลักษณะโครงการวิจัยที่ขอรับทุน ประกอบด้วย

  1. เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานประจำ เช่น เป็นงานวิจัยที่ร่วมกับงานสอน เป็นงานวิจัยร่วมกับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น
  2. หัวหน้าโครงการวิจัยต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาหรืองานที่ต้องการพัฒนานั้นโดยตรง
  3. ผลงานวิจัยสามารถนำกลับมาใช้ในหน่วยงานได้
  4. ไม่เป็นโครงการวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหรือเป็นวิทยานิพนธ์

ส่วนคุณสมบัติของผู้รับทุน ต้องเป็นพยาบาลวิชาชีพ และแบบเสนอโครงการ ให้เขียนตามแนวทางที่แต่ละทุนกำหนดไว้

ในการนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคำถามที่เป็นประโยชน์ไว้หลายข้อ โดยสามารถสรุป ได้ดังนี้

  1. โครงการวิจัยที่ประสงค์ขอรับทุนจากสภาการพยาบาลสามารถเป็นโครงการวิจัยที่เน้นการสร้างนวัตกรรมก็ได้
  2. โครงการที่จะขอรับทุนจากสภาการพยาบาล ต้องผ่านการขอการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของมหาวิทยาลัยมหิดล ชุด C (สายพยาบาลศาสตร์) (MU-IRB/C) ก่อน

ท้ายนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรองกาญจน์ สังกาศ ยังได้ฝากข้อคิดไว้ว่า “การทำงานวิจัยนั้นขอให้คิดว่าทำเพื่อการพัฒนางานและตีพิมพ์เพื่อนำเสนอผลงานเป็นหลัก” ซึ่งนับว่าเป็นข้อคิดที่มีประโยชน์กับอาจารย์รุ่นใหม่ที่จะนำไปใช้ได้ดี

สำหรับ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ได้เล่าประสบการณ์การขอรับทุนจากสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ และทีมวิจัยได้ร่วมกันเขียนโครงการวิจัยที่อยู่ในขอบเขตประเด็นวิจัยตามที่สวค. กำหนดไว้ และได้ส่งกลับไปที่สวค. เพื่อให้คณะกรรมการของสวค. เป็นผู้พิจารณาโครงการวิจัย ซึ่งอาจารย์ได้ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการขอทุนส่วนใหญ่ต้องมีการนำเสนอผ่านคณะกรรมการที่ทางหน่วยงานให้ทุนจัดตั้งขึ้น และจะมีผู้ที่เชี่ยวชาญให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ต่องานวิจัยของหน่วยงานที่ให้ทุนจะได้ตรงตามความต้องการของหน่วยงานที่ให้ทุนมากที่สุด และการทบทวนเอกสารควรอ้างอิงเอกสารที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด และหากผู้ทำวิจัยไม่มีความรู้ในด้านใดควรที่จะหาผู้ร่วมโครงการที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์ที่สุด

ท้ายนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการขอทุนว่า “ทุนนั้นมีอยู่มากมายเพียงแต่ว่าเรามุ่งมั่นที่จะขอทุนเพียงใดเท่านั้น และให้คิดว่าการทำวิจัยนั้น ผลงานจะติดอยู่กับตัวเราเอง”

ท้ายกิจกรรม NS Lunch Talk ในวันนี้ ทำให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้เห็นแนวทางในการขอรับทุนจากแหล่งทุนภายนอกได้ดีและชัดเจนมากขึ้น และสามารถพัฒนาโครงการวิจัยให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนมากยิ่งขึ้น

PDF Download


 

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม

1. รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ (วิทยากร)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรองกาญจน์ สังกาศ (วิทยากร)
3. อาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ วิทยากร
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา เสนะสุทธิพันธุ์
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุวดี พงษ์สาระนันทกุล
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนาภรณ์ คงคา
7. อาจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์
8. อาจารย์ ดร.อาภาวรรณ หนูคง
9. อาจารย์ ดร.สุดาภรณ์ พยัคฆเรือง
10. อาจารย์กาญจนา ครองธรรมชาติ
11. อาจารย์ธนิษฐา สมัย
12. อาจารย์กลิ่นชบา คำรส
13. อาจารย์อัจฉริยา พงษ์นุ่มกุล
14. อาจารย์พรรณิภา สืบสุข
15. อาจารย์นันทิยา วัฒายุ
16. นางสาวเบญจวรรณ บุญณรงค์
17. นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร
18. นางสาวชวนันทร์ พรหมโชติ (ผู้บันทึก)