• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้ชื่องาน “ศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุน” สำหรับการจัดประชุมในวันนี้จะเป็นการแนะนำ ทำความรู้จักกับ “โครงการสร้างงานวิจัยจากงานประจำ (R2R)/ วิจัยสถาบัน” โดยมีอาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร และนางสาวเบญจวรรณ บุญณรงค์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2554 ณ ห้อง 1103/1-2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรยากาศการพูดคุยในวันนี้เป็นไปอย่างสบายๆ โดยอาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ ได้กล่าวถึงประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัยจากงานประจำ (R2R) / วิจัยสถาบัน โดยนำเสนอความคาดหวังของศูนย์วิจัยทางการพยาบาล และการสนับสนุนความก้าวหน้าในสายงานของบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งมีประเด็นที่นำเสนอในวันนี้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. โครงการวิจัยสถาบัน ถือเป็นโครงการเชิงรุกของหน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสายสนับสนุน คณะพยาบาลศาสตร์สามารถพัฒนางานวิจัยจากงานประจำได้ และสอดคล้องกับความต้องการของคณะฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ เพื่อต้องการให้บุคลากรสายสนับสนุนขอตำแหน่งทางวิชาการของสายสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าในสายงานได้
  2. ความหมายของการวิจัยสถาบัน โดยการวิจัยสถาบัน หมายถึง กระบวนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์กรเพื่อให้ได้คำตอบที่มีความถูกต้องและเชื่อถือได้สำหรับการกำหนดแผนหรือนโยบายขององค์กร และ/หรือสำหรับการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาการบริหารงานขององค์กร โดยการใช้งานวิจัยเพื่อหาความรู้/ข้อเท็จจริงเพื่อการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนางาน
  3. หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยสถาบัน มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้
    • ประเด็นที่ทำวิจัยต้องเกี่ยวข้องกับงานในภาระหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก หากต้องการความก้าวหน้าในสายงาน จะต้องทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานประจำเป็นหลัก
    • ผลของการศึกษาวิจัยจะต้องใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดแผนหรือนโยบายขององค์กร และ/หรือเพื่อการปรับปรุง และพัฒนาการบริหารงานขององค์กร
    • การวิจัยสถาบันอาจดำเนินการโดยนักวิจัยคนเดียวหรือคณะนักวิจัยก็ได้ โดยมีหลักคิดคือ การพิจารณาเกี่ยวกับเป้าหมายของหน่วยงาน และปัญหาที่มีอยู่ แล้วนำประเด็นปัญหาเหล่านั้นมาเป็นหัวข้อวิจัย
    • การวิจัยสถาบันสามารถทำได้ทั้งประเภทของการวิจัยทั้งแบบเชิงคุณภาพ เช่น การสังเคราะห์เอกสาร หรือการวิจัยเชิงปริมาณ เช่น การวิเคราะห์เชิงสถิติ
    • ผู้ที่จะทำวิจัยจำเป็นต้องมีความพร้อมในด้านวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการวิจัย
    • การทำวิจัยสถาบันจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยค่อนข้างสั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งรวมถึงการขอรับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน (IRB) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนด้วย
    • การทำวิจัยสถาบันจะมีขั้นตอนการดำเนินการที่มีความกระชับ/ทำได้รวดเร็ว
    • คณะฯ มีงบสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เพียงพอ โดยมีงบสนับสนุนจำนวน 30,000 บาท/โครงการ (จากเดิมในปีงบประมาณ 2553 มีงบสนับสนุนจำนวน 5,000 บาท/โครงการ)
    • การวิจัยสถาบันเป็นการดำเนินการวิจัยในหน่วยงานโดยเฉพาะ จะพิจารณาปัญหาจากงานประจำ และหาข้อมูลว่าประเด็นปัญหาใดสามารถทำได้และไม่ยากจนเกินไป
    • ผู้วิจัยควรเป็นบุคลากรที่สังกัดในหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานในด้านการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และต่อตนเองในด้านความก้าวหน้าในสายงาน
  4. ประเด็นสาระ (Issues) ในการทำวิจัยสถาบัน

อาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ ได้ยกตัวอย่างประเด็นที่สามารถทำวิจัยสถาบันได้ ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนิสิตนักศึกษา บุคลากร หลักสูตรและโปรแกรมการเรียน งานพัสดุและการเงิน อาคารและสถานที่ และประเด็นอื่นๆ ที่จัดว่าเป็นภาระหน้าที่ของสถาบัน เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นที่จะทำงานวิจัยว่า “ต้องดูจากความสำคัญเร่งด่วน” และ “ประเด็นที่สนใจ” ซึ่งประเด็นวิจัยอาจจะมีความแตกต่างจากที่ยกตัวอย่างก็ได้ขึ้นอยู่กับภาระงานประจำ

ในการพูดคุยกันในวันนี้ นางจรินทิพย์ อุดมพันธุรัก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำวิจัยมาแล้วจำนวน 2 เรื่อง ซึ่งเรื่องที่กำลังดำเนินการในขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับการรับรองจาก IRB ซึ่งมีการแก้ไขเป็นครั้งที่ 3 โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการทำให้กระบวนการทำงานมีความล่าช้า ซึ่งในประเด็นนี้ นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการขอรับการรับรองจาก IRB จะทำให้ผลงานวิจัยได้รับการรับรองและสามารถนำไปเผยแพร่โดยการนำเสนอและตีพิมพ์ลงในวารสารได้อย่างสะดวก และแสดงถึงการพิทักษ์สิทธิ์ของกลุ่มตัวอย่างด้วย นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคำถามที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำวิจัยที่สามารถขอผลงานทางวิชาการได้ ต้องเป็นงานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรมไม่น้อยกว่า 2 เรื่อง และคู่มือการปฏิบัติงาน 1 เรื่อง โดยต้องมีคุณภาพงานอยู่ในระดับดี ซึ่งรายละเอียดของผลงานที่สามารถทำได้อาจขอให้นางสาวกรุณา คุ้มพร้อม เป็นผู้ให้ข้อมูลในการพูดคุยครั้งต่อไปก็ได้

นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับวิจัยสถาบันให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ขณะนี้ คณะฯ ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ว่องสิริมาศ เป็นหัวหน้าชุดโครงการศึกษาเรื่องความพึงพอใจที่มีต่อหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรายละเอียดจะได้ขอให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ว่องสิริมาศ เป็นผู้ให้ข้อมูลต่อไป

ท้ายกิจกรรม ศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุนในวันนี้ คงทำให้บุคลากรสายสนับสนุนได้เห็นแนวทางในการสร้างงานวิจัยจากงานประจำ (R2R) / วิจัยสถาบันได้ดีและชัดเจนมากขึ้น และทำให้เห็นประโยชน์ของการทำวิจัยสถาบันมากยิ่งขึ้น

PDF Download


 

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1. อาจารย์อัครเดช เกตุฉ่ำ (วิทยากร)
2. นางจรินทิพย์ อุดมพันธุรัก
3. นางสาวชัญญา แสงจันทร์
4. นางนริศรา คำทอง
5. นางสาวเสมือนทิพย์ ศิริจารุกุล
6. นางกิติมา วันทอง
7. นางบุลากร บัวหลวง
8. นายวีระชัย คุ้มพงษ์พันธุ์
9. นางสาวเบญจวรรณ บุญณรงค์
10. นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร (ผู้บันทึก)
11. นางสาวชวนันทร์ พรหมโชติ (ผู้บันทึก)


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322535