เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง หยุดทุกข์ด้วยธรรม เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้อง 1111 อาจารย์ได้กรุณาเล่าประสบการณ์ของอาจารย์ที่ทำงานที่ คณะพยาบาลศาสตร์มาเป็นเวลา 38 ปี โดยเริ่มจากภายหลังจบอนุปริญญาและประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ในปี 2514

อาจารย์เป็นพยาบาลประจำการที่หอผู้ป่วยท่านผู้หญิงวิจิตราและพระสุจริตสุดา ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยพิเศษเป็นเวลา 2 ปี จากความคิดที่ว่าชีวิตนี้ต้องเรียน การศึกษาในระดับอนุปริญญาไม่เพียงพอ ต้องเรียนถึงระดับปริญญาตรีจึงเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ตัดสินใจย้ายมาเป็นอาจารย์ ในปี 2516 ในขณะนั้นตึกเก่าของคณะพยาบาลศาสตร์กำลังถูกรื้อ เมื่อย้ายมาที่คณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์จึงเรียนต่อครุศาสตร์บัณฑิต สาขาพยาบาลศึกษา 2 ปี หลังจากจบปริญญาตรีต้องทำงานใช้ 2 ปีจึงกลับไปเรียนปริญญาโท ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารการพยาบาลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างที่เรียนนั้นต้องเรียนเป็น part time คือไปเรียนตอนกลางวันแล้วต้องไปทำงานใช้โดยการขึ้น ward ในวันเสาร์อาทิตย์ เพราะขณะนั้นมีการแยกส่วนกัน ระหว่างคณะแพทย์และคณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์เล่าว่าขณะที่เรียนปริญญาโท กำลังตั้งครรภ์จึงพบปัญหาในระหว่างเรียน เช่น เคยเป็นลมบนรถเมล์ ตอนใกล้คลอดต้องเอาเก้าอี้มาต่อเพื่อนอนพักในช่วงกลางวันแล้วเรียนต่อในช่วงบ่าย แม้ว่าจะพบปัญหาแต่การมองโลกในแง่บวกและมีเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้อาจารย์ผ่านปัญหาต่างๆ มาได้โดยไม่ได้มองว่าเป็นทุกข์

ในการสอนภาคปฏิบัติบนหอผู้ป่วย อาจารย์ประจำที่หอผู้ป่วยเด็กโตโรคเรื้อรัง เช่นโรคไต โรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม อาจารย์ต้องขึ้นนิเทศในหอผู้ป่วยเด็กอีกหลายแห่งแทนอาจารย์ท่านอื่น ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นความเครียดหรือความทุกข์ที่ต้องปรับตัว แต่อาจารย์กลับมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะการที่อาจารย์จบปริญญาโททางด้านจิตเวชขั้นสูง จึงสามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยเด็กทุกวัย ถึงแม้ว่าแต่ละแห่งต้องมีความเป็น specialty area แต่เมื่อไม่มีอาจารย์ขึ้นสอน อาจารย์ก็สามารถสอนแทนได้ ที่สำคัญคืออาจารย์มองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้รู้จักบุคลากรในหอผู้ป่วยต่างๆ ได้เห็นธรรมชาติของคนในแต่ละแห่ง แม้ว่าจะเป็นความทุกข์แต่หากปรับความทุกข์นั้นให้เป็นโอกาสที่ท้าทายความสามารถ ก็จะสามารถผ่านพ้นปัญหานั้นได้และส่งผลให้อาจารย์เป็นที่รู้จักของเจ้าหน้าที่ในทุกๆหอผู้ป่วย ในการสอนภาคปฏิบัตินั้นจะสอน 5 วันต่อสัปดาห์และต้องทำแผนการสอนเช่นเดียวกับปัจจุบัน กล่าวคือก่อนขึ้นสอนบน ward จะต้องมีการเขียนแผนการสอนเปรียบเสมือนเป็นทิศทางในการสอนช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ และประสบการณ์ได้อย่างครอบคลุม แผนการสอนแต่ละวิชาจะถูกบันทึกลงในสมุดปกสีน้ำเงินเล่มใหญ่ ในการทำเอกสารประกอบการสอนหรือเอกสารคำสอนต้องใช้การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้การทำงานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นอาจารย์ในปัจจุบันจึงโชคดีที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกล่าวได้ว่าอาจารย์รุ่นก่อน หรืออาจารย์ในปัจจุบันมีความทุกข์มากกว่ากันเพราะแต่ละคนมีขีดจำกัดไม่เหมือนกัน

จากที่อาจารย์นำเรื่อง “หยุดทุกข์ด้วยธรรม” มาเป็นหัวข้อในการเสวนาในวันนี้เนื่องจากสภาพการทำงานเช่นการทำ PA และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันดูเหมือนจะมีความทุกข์โถมเข้ามาหลายด้าน อาจารย์จึงต้องการพูดเรื่องที่จะช่วยให้น้อง ๆมีความสุขมากขึ้นโดยนำประสบการณ์และความรู้ในเรื่อง “ทุกข์” และ “การหยุดทุกข์”มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มจากคำถามว่า “ทุกข์” คืออะไร ทุกข์คือความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือ“ทุกข์”คือสภาพที่ทนได้ยาก อะไรก็ตามที่เป็นสภาพที่ทนได้ยากเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ข้อสำคัญคือเราต้องหยุดทุกข์ ซึ่งจะมีอยู่ 2 นัย คือ หยุดก่อนทุกข์เกิด เปรียบเสมือนการป้องกัน เหมือน Safety cut ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด หยุดทุกข์ก่อนไม่ต้องรอให้ทุกข์เกิด หรือหยุดเมื่อทุกข์เกิด ขณะที่ทุกข์เกิด เราจะหยุดมันสักนิดได้ไหม วันนี้เรามีทุกข์หรือไม่ ต้องถามตัวเอง คนที่มองเห็นทุกข์ของตัวเอง นั้นคือ เราก้าวไปสู่ความสุขแล้วเพราะหากเรารู้ว่านั่นคือความทุกข์ หมายถึงตัวสติเกิดขึ้นแล้ว ความทุกข์มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ เช่น ทุกข์จากการทำงานไม่ทัน เราต้องรู้ว่าจุดไหนจะแก้ได้แล้วพยายามแก้จุดนั้น เพราะเรารู้ว่าเป้าหมายจริงๆคืออะไร มีหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวโยงให้เราเป็นทุกข์ ทุกข์จะเกิดขึ้นเมื่อเรานำเรื่องนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา เช่น เราได้ยินว่าเครื่องบินตก เราเป็นทุกข์หรือไม่ ถ้าเราเป็นทุกข์ แสดงว่าเราเอาใจของเราเข้าไปเกาะ หรือว่าเมื่อเราเอาใจของเราเข้าไปเกาะ แต่เราคิดได้ว่ามันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้มันเกิดขึ้น หากเราเชื่อว่าทุกสิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุ เราก็จะทุกข์น้อยลง ทุกสิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุซึ่งเราไม่ควรจะแบกเอาไว้ ไม่มีใครรู้ ว่าเราทุกข์เรื่องอะไร นอกจากตัวเรา เป็นเพราะเราไปแบกเอาไว้เราจึงทุกข์

อาจารย์สรุปให้ฟังว่าทุกข์ตามประสาชาวบ้านมี 11 อย่าง คือ ชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ พยาธิ โทมนัส อุปายะสะ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น หรือได้ในสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไม่อยากทำ PA แต่จำเป็นต้องทำ นั่นจึงเป็นทุกข์ เป็นต้น ขณะที่ทุกข์ของชาววัดมี 160 อย่าง ได้แก่ รูป 28 เจตสิก 51 (เว้นโลภะเพราะชาววัดจะไม่มีความโลภ) โลกียะ 81 แต่ทุกข์ในอริยะสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่ควรคือ รู้ว่าอะไรคือทุกข์ รู้ว่า “ทุกข์” คือ สิ่งที่เกิดขึ้น หรืออะไรก็ตามที่ได้รับ หรือ “ผล” นั่นเอง “ผล”ย่อมเกิดจาก “เหตุ” เสมอ ผลจะเกิดเองไม่ได้ ถ้าไม่มีการกระทำ ที่เรียกว่า “กรรม” หรือ “เหตุ” มาก่อน ดังคำกล่าวว่า “เยธัมมา เหตุปปะภะวา สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดแต่เหตุ” ดังนั้นทุกข์ จึงเป็นผลหรือสิ่งที่เราได้รับ ขณะที่สมุทัย เป็นเหตุเพราะหมายถึงการกระทำหรือกรรมที่ทำให้เกิดทุกข์ นิโรธ เป็นผลคือสิ่งที่เราได้รับ และมรรคเป็นเรื่องของเหตุเพราะเป็นข้อปฏิบัติให้พ้นทุกข์

ดังนั้นปัจจุบันจะเป็นได้ทั้งเหตุและผล ขณะที่เรานั่งสบายอยู่ที่คณะพยาบาลศาสตร์แห่งนี้ไม่ใช่คณะแพทย์ เป็นเพราะเหตุหรือผลบุญที่เราเคยเกี่ยวข้องกับคณะพยาบาลศาสตร์ในอดีต เราเคยทำเหตุในอดีตเช่น เคยให้ความรู้ และสร้างบุญไว้เราจึงได้มาทำงานที่นี่ เป็น “กรรมสัมพันธ์” เราจึงต้องสร้างเหตุใหม่ให้ดี เพื่อจะนำไปสู่ผลที่ดีต่อไป เหตุดี ผลดี เหตุไม่ดี ผลย่อมไม่ดี ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ศรัทธาจะเกิด ศรัทธาตัวจริงจะต้องมีปัญญาเข้ามาประกอบด้วย ปัญญาคือความรู้ ตัวรู้ ก็จะเกิดสัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ศรัทธาที่มั่นคง หากเราเชื่อในเรื่องการทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี การทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ซึ่งเป็นคำสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธองค์ที่อาจารย์กรุณานำหนังสือมาแจกในกิจกรรมนี้ด้วย อาจารย์ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่าชีวิตคนเรามี 31 ภพภูมิ ถ้าทำดีก็ไปสู่สุคติภูมิ แต่ถ้าโมโหโกรธาก็จะนำไปสู่ทุคติภูมิ จึงควรหลีกเลี่ยงอกุศลกรรม 10 อย่าง ซึ่งเป็นข้อ 1 ของโอวาทปาฏิโมกข์ อาจารย์ตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมช่วยกันตอบหลายข้อเช่น ฆ่าไก่ เพื่อทำอาหารเลี้ยงพระเป็นความชั่วหรือความดี อาจารย์เฉลยว่าต้องแบ่งแยกว่าการฆ่าไก่เป็นการเบียดเบียน ขณะที่การเลี้ยงพระเราได้บุญ ไก่มีชีวิตแต่เรามีจิตที่จะฆ่าจนกระทั่งไก่ถึงแก่ความตาย ดังนั้นจะได้รับผลกรรมนั้น ได้แก่เกิดโรคภัยเบียดเบียน จึงควรละความชั่วข้อ 1 หรือแม่ค้าทอนเงินเกินจึงเก็บไว้ใช้ เป็นบาปหรือไม่ อาจารย์ชี้แจงว่า เป็นบาปเพราะเป็นเงินที่เราได้มาโดยที่เจ้าของไม่ได้มีเจตนามอบให้ จึงควรละความชั่วข้อ 2 เป็นต้น

อาจารย์ให้ดูรูปภาพคนปีนเขาและถามว่าตัวเราปีนเขาอยู่หรือไม่ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าถ้าเรารู้เท่าทันสติก็จะไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญคือ ต้องไม่ประมาท ต้องรู้เท่าทัน ทำอย่างไรสติจึงจะเกิด คำตอบคือ ต้องฝึกจิต แล้วจะฝึกอย่างไร อาจารย์อธิบายว่า“สติมาปัญญาเกิด” สติ คือ การระลึกได้ ขณะที่สัมปชัญญะคือการรู้ตัวทั่วพร้อม ดังนั้น ต้องฝึกมอง ฝึกค้น ฝึกสำรวจ ตรวจสอบตัวเราเอง ฝึกจับผิดตัวของเราเอง มองข้อบกพร่องของตัวเราเอง พิจารณาตัวของเราเองอย่างสม่ำเสมอ ดังปัจฉิมโอวาท ที่กล่าวว่า “วยธัมโม สังขารา อัปปมาเทน สัมปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” อาจารย์ได้แต่งกลอนดีๆมาให้พวกเรารู้จักการหยุดทุกข์ด้วยธรรมดังนี้

ไม่ต้องการรับ “ผลทุกข์” ต้องฉุกคิด
หยุดสักนิดไตร่ตรอง “มองเหตุผล”
เน้นธรรมะ ช่วยได้ “ให้มองตน”
“ตนค้นตน” จึงจะรอด ปลอดบ่วงมาร

อาจารย์ได้เล่าถึงการทำความดี หรือบุญกิริยาวัตถุ 10 ทุกข์ และการทำจิตให้บริสุทธิ์ ตลอดจนการนำธรรมะมาแก้ปัญหา และที่สำคัญคือ นำธรรมะมาช่วยหยุดทุกข์ งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การที่เรามีภาระงานมาก หากเรามีการแบ่งงาน จัดลำดับการทำงาน เช่น กำหนดว่าเวลาใดจะทำอะไร จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีความสุข อาจารย์กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟังว่า “เราทำให้ทุกคนเป็นคนดีไม่ได้ แต่เราต้องทำให้คนดี และควบคุมคนไม่ดีไว้”

ในตอนท้ายของการเสวนา ท่านคณบดีได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำธรรมะมาใช้หยุดทุกข์ ในการทำงานโดยการทำทุกเวลาให้มีค่า นอกจากนี้อาจารย์หลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ในการนำธรรมะมาใช้ในการหยุดทุกข์รวมทั้งกล่าวถึงอาจารย์บัญจางค์ว่า เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีธรรมะ รวมทั้งนำธรรมะมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ ในการคำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงานและช่วยพัฒนาจิตใจของนักศึกษาโดยอาจารย์ก่อตั้งหลักสูตรพัฒนาตนตามหลักศาสนา


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330674