เนื่องจากคณะทำงานพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักดีถึงคุณค่าของ tacit knowledge ของอาจารย์พยาบาลที่สั่งสมมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในโอกาสที่อาจารย์อาวุโสของคณะฯ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2551 คณะทำงานจึงได้เรียนเชิญ รศ.พรศรี ศรีอัษฎาพร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ ผศ.ทัศนีย์ ตั้งตรงจิตต์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ มาเล่าประสบการณ์การสอนในคลินิกและเกร็ดความรู้ต่างๆ เพื่อให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้ทราบว่าการเป็นอาจารย์พยาบาลที่ประสบความสำเร็จนั้นควรปฏิบัติอย่างไร

 

เวลาเที่ยงของวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2551 ทั้งอาจารย์เก่าและอาจารย์ใหม่มานั่งล้อมวงกันในห้อง 602 แววตาของทุกคนเต็มไปด้วยความกระหายที่อยากจะฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์อาวุโสทั้งสองคน รศ. วิไลวรรณ ทองเจริญ เป็นผู้นำการสนทนา ส่วนอาจารย์ ดร. อาภา ยังประดิษฐ ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต สาระที่ได้จากการสนทนามีดังต่อไปนี้

รศ. พรศรี เล่าว่ารุ่นอาจารย์เป็น clinical instructor รุ่นแรกของคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ทุกคนได้รับการเตรียมการเป็นอย่างดี ด้วยความที่เป็นคนชอบสอนอยู่แล้ว ประกอบกับได้มีอาจารย์ต้นแบบที่ดี (เช่นผู้ตรวจการพยาบาล) อาจารย์จึงมีต้นทุนที่ดีอยู่ในตัว

เส้นทางของอาจารย์ ที่ทำให้เป็น รศ.พรศรี ในวันนี้คือ อาจารย์ทำให้นศ.เห็นว่าท่านไม่ใช่เป็นแค่ครู แต่เป็นพยาบาลด้วย อาจารย์เน้นถึงการแสดงบทบาทของอาจารย์พยาบาลที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมการรักษา ท่านนำนศ. ตาม round ของแพทย์ โดยท่านจะไม่ยืนเฉยๆ แต่ท่านจะเตรียมข้อมูลของคนไข้เป็นอย่างดีเพื่อ share ข้อมูลกับแพทย์ ทำให้ทีมแพทย์เห็นความสำคัญของเรา

รศ.พรศรี เล่าต่อไปว่า ด้วยความที่แสดงให้แพทย์เห็นความสามารถในการสอนและการมีความรู้จริง ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา จึงชวนร่วมทำวิจัยเป็นครั้งแรก และยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในค่าย อาจารย์ก็ทำแผนการสอนแล้วติดตามผล ทำให้ได้ package แผนการสอน

ความภูมิใจของรศ.พรศรี คือการที่อาจารย์อยู่ในทีมเบาหวาน และ care team อาจารย์ใช้หลักการกลมกลืนการสอน บริการและวิจัยเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากการรักษาแล้วอาจารย์ยังให้ความสนใจในการป้องกัน โดยเข้าไปดำเนินการในโรงเรียนด้วย ทำให้อาจารย์มีผลงานทางวิชาการมากมาย และอาจารย์ภูมิใจที่ถูกเลือกเป็น speaker ใน symposium การประชุมนานาชาติร่วมกับแพทย์ชื่อดังของโลก หลักในการสอนของอาจารย์คือทำให้นศ. ภูมิใจในตัวของนศ.เอง ไม่ทำให้นศ.ขึ้น ward อย่างไม่มั่นใจ เราต้องเดินขึ้นไปอย่างสง่างาม แสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของทีมการรักษา

ส่วนผศ.ทัศนีย์ นั้น รศ.พรศรี ให้คำจำกัดความว่าเป็น “ ครูคลินิกในอุดมการณ์ ” ตัวจริง ผศ. ทัศนีย์ มีหลักการทำงานว่า เราต้องรักษามาตรฐานการสอนที่ดี อาจารย์กล่าวว่าบางครั้งเราไปเสียเวลากับ non nursing เนื่องจากพยาบาลอยู่ใกล้ชิดแพทย์มากกว่าเรา จึงได้รับความรู้ประสบการณ์มากกว่า ครูพยาบาล ต้องเก่งเรื่อง patho – physio เพราะเป็นหัวใจ ต้องสอนให้นศ.รู้ว่าเหตุผลของการปฏิบัติการพยาบาลนั้นๆ คืออะไร ไม่เช่นนั้นก็จะเป้นการทำงานแบบ PN อาจารย์ไม่ชอบการ lecture บน ward เพราะเสียเวลา แต่ชอบเดินไป conference ไปตามเตียง เมื่อนศ.ทำอะไรไปก็ให้วิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาแล้วเล่าให้เพื่อนฟัง เพราะเด็กชอบฟังเพื่อนมากกว่าฟังเราอาจารย์ให้ข้อคิดว่าเราต้องมีจุดเด่นในตัวที่เหนือกว่าพยาบาลบน ward เพื่อให้เขายอมรับเรา สำหรับอาจารย์พยาบาลที่จบปริญญาโท อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าพยาบาลบน ward เพราะเสียเวลาไปเรียนและปัจจุบันพยาบาลบน ward ก็จบปริญญาโทหลายคน ดังนั้น อาจารย์ใหม่ต้องพยายามทำตัวให้โดดเด่นในด้านความรู้ ส่วนอาจารย์ที่ไม่ใช่ศิษย์เก่าของศิริราช จะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของที่นี่ให้เร็วที่สุด ต้องสร้างบารมีคือ วิทยาทาน หาความรู้ใส่ตัวให้มากๆ ต้องหา area ความเชี่ยวชาญของตัวเอง โดยเป็น major หนึ่งอย่าง เช่นรศ.พรศรี มีความเชี่ยวชาญหลักคือ เบาหวานในเด็ก และยังต้องมี minor อีกอย่าง ซึ่ง รศ.พรศรี เชี่ยวชาญ โรคหอบหืดด้วย

เทคนิคการทำงานของผศ.ทัศนีย์ คือ การมีทั้งพระเดชและพระคุณ ต้องสร้างบารมีโดยต้องใจกว้าง มีสัมพันธภาพที่ดีกับพยาบาล ใครชวนไปไหนก็ไป ทำตัวเป็นกันเอง พยาบาลมีอะไรก็จะเล่าให้ฟัง ขณะเดียวกันเรามีปัญหาอะไรก็ใช้วิธี sit & talk กับพยาบาล บางทีก็กระซิบพยาบาลให้ช่วยจับตาดูนศ.บางคนที่มีปัญหา อาจารย์เล่าว่าอาจารย์ชอบ human to human service ชอบรู้จักคน และใช้อารมณ์ขันเป็นตัวผ่อนคลายสถานการณ์ อาจารย์ชอบทำให้บรรยากาศใน ward สนุก

รศ.พรศรี แนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้อมี CoP ของครูคลินิก ( Community of Practice of clinical instructor) เพราะมีอาจารย์ใหม่ๆ เข้ามามาก การมี CoP จะช่วยป้องกัน mal practice โดยอาจารย์ทุกๆ ภาค ควรมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนปัญหาการเรียนการสอน เช่นวันนี้มีการเขียนรายงาน หรือการสอนมีปัญหา คนนี้สอนสนุก วันนี้มี case น่าสนใจ หรือไปอ่าน article แล้วมาเล่าให้ฟัง โดยอาจจัดเดือนละ 2 ครั้ง หมุนเวียนกันรับผิดชอบ ทำเป็นตาราง ซึ่งรศ.พรศรี แนะนำว่าในการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง ควรมีอาจารย์ที่อยู่ใน 4 กลุ่มต่อไปนี้เข้าร่วมด้วย คือ อาจารย์อาวุโส ทำงานมากกว่า 10 ปี, อาจารย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรต "อาจารย์สอนภาคปฏิบัติดีเด่น", อาจารย์สอนภาคปฏิบัติที่มีประสบการณ์ 5-10 ปี, อาจารย์ใหม่ ประสบการณ์ต่ำกว่า 5 ปี, รศ.พรศรี ย้ำว่าการประชุมแต่ละครั้งต้องมีคุณลิขิต บันทึกไปเรื่อยๆ ต่อไปอาจเป็น guideline ก็ได้

ข้อสรุปจากอาจารย์ทั้งสองท่านคืออาจารย์พยาบาลจะต้องมีการเตรียมตัวที่ดี มีความรู้ลึก รู้จริง ต้องแสดงความสามารถให้พยาบาลและแพทย์ยอมรับ มีสัมพันธภาพที่ดีกับทีม และเพื่อความก้าวหน้าอย่าปล่อยให้โอกาสดีๆหลุดลอยไป โดยรศ. พรศรีกล่าวว่า “ โอกาส คือราชรถ... เมื่อรู้ว่าราชรถอยู่ตรงไหน ให้ไปรอ....และให้เสนอตัวขอขึ้นราชรถนั้น ” จึงจะทำให้ชีวิตการทำงานเจริญก้าวหน้า

เวลาหนึ่งชั่วโมง น้อยไปสำหรับประสบการณ์ที่มีอย่างมากมายของท่านอาจารย์ทั้งสอง ถึงอย่างไรก็ตาม เพียงแค่นี้หากพวกเราทุกคนนำประสบการณ์และคำแนะนำของท่านไปปฏิบัติ อาจจะทำให้กลายเป็นอาจารย์คลินิกดีเด่นได้ และหวังว่าเราจะมี CoP ด้าน clinical teaching ในไม่ช้านี้ โปรดติดตามต่อไป


วิทยากร
รองศาสตราจารย์ พรศรี ศรีอัษฎาพร ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ทัศนีย์ ตั้งตรงจิตต์ ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์

บันทึกโดย อาจารย์ ดร.อาภา ยังประดิษฐ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 คณะทำงานพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง KM: Best Practice in Clinical Teaching เวลา 12.00-13.30 น. ณ ห้อง 602.

วัตถุประสงค์

  1. ค้นหาประสบการณ์การสอนที่ดีจากการสอนภาคปฏิบัติของอาจารย์
  2. ค้นหาดัชนีชี้วัด ผลลัพธ์ของการสอนภาคปฏิบัติที่ดี
  3. ระดมแนวร่วมในการก่อตั้ง CoP ของ Clinical Nurse Instructors

สมาชิกกลุ่ม
รศ.พรศรี ศรีอัษฎาพร, ผศ.ทัศนีย์ ตั้งตรงจิตต์, รศ.วิไลวรรณ ทองเจริญ, อ.อรุณรัตน์ คันธา, อ.ธัญยรัชต์ องค์มีเกียรติ, อ.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์, อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย์, น.ส.ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร, อ.อาภา ยังประดิษฐ (ผู้จดบันทึก)


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330799