ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ปัจจัยด้านมารดา สังคม และที่ทำงานต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ในมารดาทำงานที่อาศัยในเขตเมืองประเทศไทย: การศึกษาแบบกลุ่มศึกษา-กลุ่มควบคุม” ในวันที่ 15 มีนาคม 2560  โดยมีรศ.ดร. ศิริอร สินธุ รศ.ดร.ชูเกียรติ วิวัฒน์วงศ์เกษม Prof. Diane L. Spatz ผศ.ดร.เอมพร รตินธร และผศ.พรนภา ตั้งสุขสันต์ เป็นวิทยากร

ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้ 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก (Black et al., 2008; Chiu et al., 2011; Victora et al., 2015) อย่างไรก็ตามพบว่ามีมารดาทั่วโลกเพียงร้อยละ 38 ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวซึ่งเป็นอัตราเดียวกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากพิจารณาถึงอัตราดังกล่าวในประเทศไทยพบว่ามีเพียงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดของกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นหนึ่งในสิบอันดับที่ต่ำสุดของโลก (UNICEF, 2014; สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2555) การศึกษาที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างต่อเนื่อง (Negayama et al., 2012; Ogbuanu et al., 2011; Sasaki et al., 2010; Weber et al., 2011) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาที่อาศัยในเขตเมือง (Setegn et al., 2012; Tan, 2011) และทำงานในระบบ (Attanasio et al., 2013; Bonet et al., 2014; Skafida, 2012) การวิจัยแบบกลุ่มศึกษา-กลุ่มควบคุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านมารดา สังคม และที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของมารดาทำงานที่อาศัยในเขตเมืองของประเทศไทย โดยนำทฤษฏีระบบนิเวศวิทยา (Bronfenbrenner, 1994) มาเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาทำงานที่พาบุตรมารับบริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลจำนวน 6 แห่ง กลุ่มศึกษาเป็นมารดาทำงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจำนวน 57 ราย กลุ่มควบคุมเป็นมารดาทำงานที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจำนวน 228 ราย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการถดถอยโลจิสติคพหุคูณ

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบโมเดลที่สามารถทำนายได้ 2 โมเดลคือ Multivariate logistic model และ Interaction effect model ซึ่งสามารถทำนายความแปรปรวนของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนได้ ร้อยละ 56.3 และร้อยละ 59.2 ตามลำดับ โดยใน Multivariate logistic model พบว่า ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเป็นตัวทำนายที่ดีทีสุดในการศึกษานี้ (AOR 60.68, 95% CI 5.90-624.09, p = .001) นอกจากนั้นยังพบว่า มารดาที่มีรายได้ครอบครัวมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน (AOR 4.80, 95%CI 1.64-14.07, p = .004), มีทัศนคติทางบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (AOR 3.62, 95%CI 1.37-9.55, p = .009 ), มีความมั่นใจต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับสูง (AOR 3.99, 95%CI 1.74-9.15, p = .001), และมีความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับสูง (AOR 2.77, 95%CI 1.23-6.24, p = .014), มีชั่วโมงทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีระยะเวลาในการลาคลอดที่เพียงพอ (AOR 2.57, 95%CI 1.08-6.14, p = .034) จะช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนมากกว่า และพบตัวแปรเพิ่มเติมใน Interaction effect model ที่สามารถทำนายได้คือ มารดาที่มีระยะเวลาในการลาคลอดที่เพียงพอและมีทัศนคติทางบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (AOR 8.09, 95%CI 1.08-60.60, p = .042) และมีแรงสนับสนุนของครอบครัวเพียงพอ (AOR 2.67, 95%CI 1.12-6.39, p = .027) จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนมากกว่า

ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการพยาบาลที่ช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการผสมผสานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้เข้ากับชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว และพัฒนาการดูแลมารดาในระยะตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมเกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ การประเมินทัศนคติ ความมั่นใจและความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายใต้สภาพแวดล้อมของมารดาแต่ละคน การอภิปรายถึงความเป็นไปได้และการวางแผนในการผสมผสานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการทำงานภายใต้รูปแบบการตัดสินใจที่ใช้ร่วมกันในการดูแล (a shared decision-making model of care) เพื่อเสริมสร้างอำนาจในตนเองให้กับมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ควรมีการทบทวนนโยบายการลาคลอด 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมของมารดาทำงาน ตลอดจนการสนับสนุนและดำเนินการให้สถานประกอบการส่วนใหญ่มีนโยบายเกี่ยวกับสถานที่และเวลาที่เอื้อให้มารดาทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควบคู่ไปกับการทำงานได้อย่างเป็นจริง

อาจารย์จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ ผู้ลิขิต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330717