ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ความรับผิดชอบของผู้ป่วยกับการฟื้นตัวทางศัลยศาสตร์ ในวันที่ 20 เมษายน 2559 โดยมีอาจารย์ธิมาภรณ์ ซื่อตรง เป็นวิทยากร มีรายละเอียดดังนี้

          โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ (Urolithiasis) เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในทั่วทุกมุมของโลกและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์โรคนิ่วเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 5.2% สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ทำการสำรวจอัตราชุกของโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะทั่วประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2534 พบอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะเฉลี่ยเท่ากับ 2.2 ต่อประชากรพันคน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดคิดเป็น 4.2 ต่อประชากรพันคน และจากการสำรวจในระดับจังหวัดพบอัตราชุกของโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะมากที่สุดที่จังหวัดอุบลราชธานีสูงถึง 40.2 ต่อประชากรพันคนในปี พ.ศ.2537

          โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีอุบัติการณ์เกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ในประเทศแถบทวีปอเมริกาเหนือโรคนิ่วมีอุบัติการณ์เกิดนิ่วซ้ำถึงร้อยละ50 ภายใน 5 ปี สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำของนิ่วในทางเดินปัสสาวะซํ้าร้อยละ 10 ภายในปีแรก ร้อยละ 35 ในระยะเวลา 5 ปี และร้อยละ 50 ในระยะเวลา 10 ปีจำนวนครั้งของการกลับเป็นซ้ำของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะกล่าวคือการมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆได้ตั้งแต่การทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงและอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้ายซึ่งทำให้เสียชีวิตได้จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยของการเป็นโรคนิ่วซ้ำกับไม่เป็นซ้ำในจังหวัดอุบลราชธานีที่พบอุบัติการณ์ของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากที่สุดในประเทศไทย

          การศึกษาทั่วโลกพบว่าการกำจัดนิ่วด้วยวิธีการสลายนิ่วหรือวิธีผ่าตัดไม่ได้เปลี่ยนแนวโน้มของการเกิดนิ่วซ้ำ ผู้ป่วยยังต้องการคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของนิ่วรวมทั้งการให้คำแนะนำอื่นๆเป็นการเพิ่มความสามารถและเพิ่มพลังอำนาจให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมดูแลตนเองได้มากขึ้นซึ่งเป็นหลักการของการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญที่จะทำให้เกิดนิ่วซ้ำระยะยาวลดลง

          ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเปรียบเทียบดัชนีมวลกาย ความเครียดเรื้อรัง ความแตกฉานทางสุขภาพ ความรับผิดชอบของผู้ป่วยและการรับรู้การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำของนิ่วทางเดินปัสสาวะและผู้ป่วยที่ไม่กลับเป็นซ้ำ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับพยาบาลและทีมสุขภาพในการให้การดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของนิ่วทางเดินปัสสาวะ โดยเป็นการศึกษาเชิงบรรยายเปรียบเทียบ ในผู้ป่วยนิ่วทางเดินปัสสาวะที่มาติดตามอาการภายหลังรักษานิ่วครั้งแรกออกหมดมีระยะเวลาห่างจากการรักษาครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน กลุ่มที่เป็นนิ่วซ้ำและไม่เป็นซ้ำกลุ่มละ 150 ราย รวมทั้งหมด 300 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย (independent sample Z-test)

          การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการดูแลของ Donabedian model เป็นกรอบแนวคิดของการศึกษา ตามระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการดูแลจำแนกระบบการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพเป็น 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1) โครงสร้าง (structure) ได้แก่ ดัชนีมวลกาย ความเครียดเรื้อรัง คามแตกฉานทางสุขภาพ 2) กระบวนการ (process) ได้แก่ ความรับผิดชอบของผู้ป่วย การรับรู้การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง 3) ผลลัพธ์ (outcome) คือ การกลับเป็นซ้ำของนิ่วทางเดินปัสสาวะ

          เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินการรับรู้ความเครียด (Perceived Stress Scale: PSS)แบบประเมินความแตกฉานทางสุขภาพ (health literacy questionnaires)แบบประเมินความรับผิดชอบของผู้ป่วย (Patient Activation Measure: PAM) แบบประเมินการรับรู้การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง (The Consultation Care Measure; CCM)แบบทดสอบสมมรรถภาพสมองของไทย (Thai Mental State Examination; TMSE)แบบประเมินการรับรู้ความเครียด (Perceived Stress Scale: PSS) และแบบประเมินความแตกฉานทางสุขภาพ (health literacy questionnaires) 

ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นนิ่วซ้ำ

          มีความเครียดเรื้อรังอยู่ในระดับต่ำ (x̄ = 6.25, SD = 4.86)มีความแตกฉานทางสุขภาพเท่ากับ 439.21 (SD = 39.78) มีความรับผิดชอบของผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง (x̄ =63.88, SD = 12.90) ในขณะกลุ่มที่เป็นนิ่วซ้ำมีความเครียดเรื้อรังระดับปานกลาง (x̄ = 12.75, SD = 5.23) มีความแตกฉานทางสุขภาพเท่ากับ 336.07(SD = 41.22 )มีความรับผิดชอบของผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ (x̄ =40.33, SD = 19.44) ซึ่งทั้งสามปัจจัยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มเป็นนิ่วซ้ำและไม่เป็นซ้ำ สำหรับดัชนีมวลกายและการรับรู้การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางระหว่างกลุ่มเป็นนิ่วซ้ำและไม่เป็นซ้ำไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

          การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการดูแลของ Donabedian modelที่ว่าการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยโรคนิ่วระบบทางเดินปัสสาวะจะต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ1) โครงสร้าง (structure) ได้แก่ ความเครียดเรื้อรัง ความแตกฉานทางสุขภาพ 2) กระบวนการ (process) ได้แก่ ความรับผิดชอบของผู้ป่วย 3) ผลลัพธ์ (outcome) คือ การกลับเป็นซ้ำของนิ่วทางเดินปัสสาวะหรือไม่กลับเป็นซ้ำ

          ผลการศึกษาดังกล่าวพยาบาลและบุคคลากรทางสุขภาพควรตระหนักและให้การดูแลให้ผู้ป่วยโดยลดความเครียดเรื้อรัง เพราะมีรายงานพบว่าผู้ป่วยจะมีความเข้มข้นของแคลเซียมออกซาเลตและกรดยูริกในปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างมากนอกจากนั้นส่งเสริมความแตกฉานทางสุขภาพให้มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มที่เป็นซ้ำจะมีความแตกฉานทางสุขภาพในช่วงปานกลาง ทำให้ทักษะในการดูแลสุขภาพอาจไม่เพียงพอ ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มีความแตกฉานทางสุขภาพมากกว่าจะสามารถมีความเข้าใจและร่วมวางแผน ตลอดจนปฏิบัติตามแผนการรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องจนถึงระยะฟื้นฟูสภาพที่บ้าน จึงไม่เกิดนิ่วซ้ำ และที่สำคัญคือการส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้ป่วยทั้งขณะและภายหลังการรักษาเอานิ่วออกด้วยการประเมินความรู้ทักษะ และความมั่นใจในการดูแลสุขภาพของตนเองพร้อมทั้งส่งเสริมทั้งความรู้และพฤติกรรมสุขภาพ ให้ผู้ป่วยเกิดความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นหายจากนิ่วเพื่อให้อวัยวะและร่างกายกลับมาทำหน้าที่ได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำ

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ให้ความสนใจและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ การวางแผนนำเครื่องมือแบบประเมินความรับผิดชอบของผู้ป่วย (Patient Activation Measure: PAM)และผลการวิจัยนี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนตลอดจนการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ นอกจากนั้นเผยแพร่ในหอผู้ป่วยเพื่อให้นักศึกษาและพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ใช้ประเมินผู้ป่วยโรคนิ่วรวมทั้งผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการรับผิดชอบต่อตนเองเพื่อการฟื้นตัวในผู้ป่วยศัลยกรรมต่อไป