งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ NS Lunch Talk ครั้งที่ 2/2554 ในหัวข้อ “เทคนิคการตีพิมพ์ผลงานวิจัย” สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการแนะนำเทคนิคการตีพิมพ์ผลงานวิจัย โดยมีกูรูผู้รู้มาชี้แนะแนวทาง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ อาจารย์จากภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้อง 504 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรยากาศการพูดคุยกันในวันนี้เป็นไปอย่างสบายๆ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ ได้กล่าวถึงเทคนิคการตีพิมพ์ผลงานวิจัยว่ามีจุดหลักที่ควรเน้นคือ “การเตรียม” ใน 5 ประเด็นสำคัญๆ คือ

  1. เตรียมตัว ได้แก่ การค้นหาตัวตนให้พบ, การค้นหาความเป็นนักวิจัยของตนเองให้พบ, การค้นหาเป้าหมายในชีวิต, การบริหาร “เวลา” และ “ชีวิต” เพื่อให้เกิดความสมดุลกัน เช่น การลดเวลาส่วนตัวลงบางส่วน และเพิ่มเวลาให้กับการทำวิจัย เป็นต้น), การปรับเปลี่ยนนิสัย บุคลิกภาพ การแสดงออกให้เป็นแบบ “นักวิจัย”, ทักษะ : ฟัง พูด อ่าน เขียน และทักษะเพิ่มเติมด้านการค้น ---> คิด ---> วิเคราะห์ ---> สังเกต โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ ได้กล่าวว่า ทักษะการอ่านและการค้นมีความสำคัญมาก การค้นที่ดีนั้นจะต้องค้นให้เร็ว ค้นให้เก่ง ค้นให้แม่น และค้นให้ตรงประเด็น จึงจะมีความได้เปรียบกว่าผู้อื่น
  2. เตรียมงาน ได้แก่ การหาความโดดเด่นในงานวิจัยของเรา, ต้องศึกษาอย่างต่อเนื่อง ลุ่มลึก รอบรู้ แตกฉาน และที่สำคัญคือ ต้องทันสมัย, การเลือกที่จะเป็นศิลปินเดี่ยวหรือสร้างทีม ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่หากเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ควรใช้แบบการสร้างทีม, การเริ่มต้นด้วยการสร้าง “คำถามวิจัย”
  3. เตรียมเขียน
    • ศึกษาก่อนล่วงหน้าว่าจะนำผลงานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารใด โดยศึกษาจากการยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติ รวมถึงงานวิจัยที่ทำสามารถลงตีพิมพ์ในวารสารประเภทใดได้บ้าง
    • ศึกษาระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของวารสารที่ต้องการลงตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมถึงรูปแบบงานวิจัย วิธีวิจัย ผลการวิจัย ข้อเสนอแนะ สรุปผลการวิจัย ฯลฯ
      สำหรับการเขียนงานวิจัยนั้น มีเทคนิคที่น่าสนใจ ดังนี้
           1) เริ่มจากการเขียนในเชิงกว้าง อย่างรวดเร็วและหยาบ
           2) จากการเขียนอย่างหยาบๆ ก็ปรับให้เป็นเชิงลึกมากขึ้น
           3) ทำการแก้ไขไปเรื่อยๆ (โดยขั้นตอนนี้อาจให้ผู้อื่นช่วยตรวจให้ เพราะจะได้เห็นมุมมองที่ต่างออกไป)
           4) อ่านต้นฉบับก่อนส่งลงตีพิมพ์อย่างรอบคอบ
    • ทำการส่งผลงานวิจัยเพื่อลงตีพิมพ์ และควรจำไว้ว่า “ขั้นตอนทุกอย่างต้องใช้เวลา”
  4. เตรียมแก้ไข เมื่อส่งผลงานวิจัยแล้ว จะมีผู้ตรวจผลงานวิจัยให้กับเรา ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ จากนั้นทางผู้ตรวจจะส่งผลการตรวจให้แก่บรรณาธิการ และส่งต่อถึงเรา โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะได้รับคำแนะนำ/ข้อแก้ไข ก็คือผู้ที่เขียนผลงานวิจัยไม่ชัดเจนหรือถูกต้อง ถ้าหากเราคิดว่าผลงานวิจัยของเรามีความชัดเจน ถูกต้อง และไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ก็ให้แย้งกลับอย่างมีเหตุผล
  5. เตรียมใจ หากผลที่ได้รับคือ การไม่ได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ แนะนำว่า ให้คิดว่าเป็น “ความท้าทาย” และให้ใช้ “ความพยายาม” ในการสร้างผลงานใหม่อีกครั้ง

สิ่งที่อยากจะเล่าถึง ผลจากการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ ในรอบ 6 ปี โดยท่านสามารถสร้างโครงร่างการวิจัยที่สามารถทำวิจัยได้หลายเรื่อง ซึ่งสามารถเสนอขอรับทุนวิจัยจากแหล่งทุนได้ถึง 3 แหล่งทุน และยังมีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์อีกหลายเรื่อง ซึ่งในการผลิตผลงานวิจัยนี้ ได้มีการวางแผนและตระเตรียมการดำเนินโครงการวิจัย รวมถึงการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างลุ่มลึก

ท้ายกิจกรรม NS Lunch Talk ในวันนี้ คงทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นพลังและแรงจูงใจในการทำงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ พร้อมเคล็ดลับส่วนตัวที่ทำให้เห็นแนวทางในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและเทคนิคต่างๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยต่อไป

PDF Download


 

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทนา ธนาโนวรรณ (วิทยากร)
2. รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ
4. อาจารย์อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์
5. อาจารย์รัตติมา ศิริโหราชัย
6. อาจารย์พวงเพชร เกษรสมุทร
7. อาจารย์อรุณรัตน์ คันธา
8. อาจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์
9. นายอัครเดช เกตุฉ่ำ
10. นางสาวเบญจวรรณ บุญณรงค์
11. นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร (ผู้บันทึก)
12. นางสาวชวนันทร์ พรหมโชติ (ผู้บันทึก)


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330752