งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้ชื่องาน "ศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุน" สำหรับการจัดประชุมในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความก้าวหน้า/การขอตำแหน่งทางวิชาการของสายสนับสนุนฯ" โดยมีนายอัครเดช เกตุฉ่ำ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 ณ ห้อง 1103/1-2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรยากาศการพูดคุยกันในวันนี้เป็นไปอย่างสบายๆ และมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดยนายอัครเดช เกตุฉ่ำ ได้กล่าวถึงประเด็นเนื้อหาในวันนี้ จะเกี่ยวกับลักษณะผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับคุณวุฒิทางการศึกษาและระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

ทำอย่างไรจึงจะมีความก้าวหน้าในสายอาชีพของผู้ปฏิบัติงานสายสนับสนุน

นายอัครเดช เกตุฉ่ำ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นที่หลักการพัฒนางาน โดยในการทำงานประจำของเรา สิ่งที่มุ่งหวังที่จะให้เกิดก็คือ ทำงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่หน่วยงาน และผลงานนั้นจะสะท้อนกลับมาสู่ตัวเอง ต้องมีความเชื่อมั่นว่าโอกาสแห่งความก้าวหน้ามีแน่นอน ต้องทำงานให้เป็นระบบ โดยมีการแก้ไขปัญหา พัฒนา/ปรับปรุง และเก็บข้อมูล/วิธีการต่างๆ ไว้ เพื่อพัฒนางานประจำ/สร้างสรรค์สิ่งใหม่ พร้อมทั้งมีการสะสมผลงาน และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบความก้าวหน้าในอาชีพของผู้ปฏิบัติงานสายสนับสนุน แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ความก้าวหน้าของตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งชำนาญงาน ชำนาญการ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ และความก้าวหน้าของตำแหน่งทางวิชาชีพ โดยผู้ปฏิบัติงานสายสนับสนุนสามารถดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารในตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถในการทำงานของแต่ละบุคคล acheter metronidazole

สำหรับเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งประเภทสนับสนุนนั้น ในเบื้องต้นต้องเข้าใจตำแหน่งงานตนเองก่อนว่าเป็นตำแหน่งงานที่อยู่ในระดับใด ได้แก่

  • ระดับชำนาญการ แบ่งเป็น
    กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เดือนละ 11,200 บาท
    กลุ่มสนับสนุนวิชาการ เดือนละ 7,000 บาท
    กลุ่มสนับสนุนทั่วไป เดือนละ 5,000 บาท
  • ระดับผู้เชี่ยวชาญ เดือนละ 19,800 บาท
  • ระดับผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เดือนละ 26,000 บาท

วิธีการเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ

วิธีการเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ มี 2 วิธี คือ หน่วยงานเป็นผู้เสนอขอให้ โดยได้รับความยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอขอ และผู้ขอเป็นผู้เสนอแต่งตั้ง พร้อมผลงาน และมีวิธีการแต่งตั้ง 2 วิธี คือ วิธีปกติ ได้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ระเบียบกำหนด และวิธีพิเศษ ได้แก่ ผู้ขอมีคุณสมบัติแตกต่างจากมาตรฐานของตำแหน่ง เช่น ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งไม่ครบ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าปกติ เป็นต้น

เกณฑ์ที่ใช้ในการยื่นขอตำแหน่งชำนาญการ

เกณฑ์ที่ใช้ในการยื่นขอตำแหน่งชำนาญการ กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งงานปฏิบัติการตามระยะเวลาจำแนกตามคุณวุฒิ ดังนี้

  • ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวส., อนุปริญญา) ต้องอยู่ในตำแหน่งชำนาญงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ระดับปริญญาตรี ต้องอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 5 ปี
  • ระดับปริญญาโท ต้องอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 3 ปี
  • ระดับปริญญาเอก ต้องอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 2 ปี

ขั้นตอนการขอตำแหน่งทางวิชาการ

ขั้นตอนการขอตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มจากการกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มการขอตำแหน่งแล้วส่งไปยังมหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยจะประกาศชื่อผู้ขอแต่งตั้ง รายชื่อผลงาน สัดส่วนของผลงานในส่วนที่ตนเองปฏิบัติและรายชื่อผู้ร่วมงาน (ถ้ามี) ทางอินเตอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆ และกำหนดให้มีการทักท้วงได้ภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ขอมีหน้าที่ติดตามข้อมูลเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง

การประเมินผลงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์และสรุปผลงานที่ผ่านมา และข้อเสนอแนวคิดเพื่อการพัฒนางานหรือปรับปรุงงานและแผนงาน/โครงการ รวมทั้งผลงานที่จะทำในอนาคตใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. ปริมาณงานในหน้าที่ ได้แก่ งานมีลักษณะเป็นอย่างไร รวมถึงความยากง่ายของงาน เป็นต้น
  2. คุณภาพผลงานในหน้าที่ ซึ่งดูที่ความสามารถในการแก้ปัญหาทางการปฏิบัติ ความรอบรู้และประสบการณ์การทำงาน งานที่ปฏิบัติได้สำเร็จ ฯลฯ
    นายอัครเดช เกตุฉ่ำ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในการเขียนรายละเอียดของงาน ควรหาตำรา/หนังสือที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของงานตนเอง เพื่อศึกษาหาความรู้ด้านวิชาการว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากวิธีพิจารณานั้น ผู้ประเมินจะดูว่างานของเราใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการมากน้อยเพียงใด
  3. คุณสมบัติต่างๆ ของผู้ขอ เช่น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การตัดสินใจแก้ปัญหา การพัฒนาตนเอง การปฏิบัติตามจรรยาบรรณข้าราชการพลเรือน โดยผลการประเมิน Competency ในทุกๆ องค์ประกอบต้องไม่ต่ำกว่าระดับ 3

ผลงานที่ใช้ยื่นพิจารณาจะต้องเกี่ยวข้องกับภาระงานหลักของเรา จะต้องไม่ใช่ผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหรือการฝึกอบรม ไม่ใช่ผลงานเดิมที่เคยใช้ในการประเมินแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นมาแล้ว และต้องระบุการมีส่วนร่วมและมีคำรับรองจากผู้มีส่วนร่วม (กรณีที่เป็นผลงานร่วม) อันได้แก่ คู่มือการปฏิบัติงาน, สิ่งประดิษฐ์, งานวิเคราะห์/สังเคราะห์, ตำรา, เอกสารประกอบการสอน, เอกสารประกอบคำสอน, หนังสือ, งานวิจัย, บทความ ทั้งที่เป็นบทความทางวิชาการและบทความวิจัย, งานแปล

จำนวนผลงานที่ใช้ยื่นพิจารณา

จำนวนผลงานที่ใช้ยื่นพิจารณา จะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 3 ผลงาน ผลการประเมินอย่างน้อย 2 เรื่องมีคุณภาพในระดับ ดี และต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างน้อยร้อยละ 50

นานาข้อคิดเห็น

นางสาวพณีพรรณ วงศ์เป็ง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลงานที่จะใช้ยื่นว่า ผลงานที่เสนอจำเป็นต้องเป็นผลงานที่เป็น "งานวิจัย" เท่านั้นหรือไม่ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ว่องสิริมาศ ได้เสริมว่า ตามระเบียบปี 2552 การขอตำแหน่งชำนาญการ ระบุว่าจะต้องมีจำนวนผลงานอย่างน้อย 3 เรื่อง ผลงานอย่างน้อย 2 เรื่องจะต้องเป็นชื่อแรกของงาน แต่ไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นผลงานประเภทใด แต่ในระดับเชี่ยวชาญ จะมีการระบุประเภทของผลงานที่จะใช้ขอตำแหน่งว่าต้องเป็นผลงานวิจัยอย่างน้อย 1 เรื่อง

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์ ได้เสนอแนะว่า สำหรับหัวข้อผลงานที่ใช้ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการนี้ จะได้ให้ผู้มีความรู้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล/ความรู้ต่อไป รวมถึงได้ขอให้ผู้ทำวิจัยสถาบันกลับไปดำเนินงานเกี่ยวกับงานวิจัยของตนเอง แล้วนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันในการประชุมครั้งต่อไปด้วย

บทส่งท้าย สำหรับกิจกรรมศูนย์วิจัยฯ พบบุคลากรสายสนับสนุนในวันนี้ คงทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นแนวทาง การขอตำแหน่งทางวิชาการมากยิ่งขึ้น สำหรับครั้งต่อไปผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับทราบถึงขั้นตอน/วิธีการดำเนินงานวิจัยสถาบัน ในหัวข้อ "การทบทวนวรรณกรรม/การหาหัวข้อวิจัย" ขอให้ติดตามกันในครั้งต่อไปค่ะ

PDF Download


 

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม
1. นายอัครเดช เกตุฉ่ำ (วิทยากร)
2. รศ.ดร.รัชนี ศุจิจันทรรัตน์
3. อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย
4. ผศ.ดร.นพพร ว่องสิริมาศ
5. นางสาวขวัญใจ เนียมพิทักษ์
6. นางจรินทิพย์ อุดมพันธุรัก
7. นางสาววรบูรณ์ เหลืองรุ่งเรือง
8. ว่าที่ร้อยตรีสุรบดี กลิ่นจันทร์
9. นางสาวชัญญา แสงจันทร์
10. นายฐิติวัชร พึ่งเงิน
11. นางสาวดารานิตย์ กิ่งวัน
12. นายนุกูล ม่วงโมรี
13. นายบุลากร บัวหลวง
14. นางสาวพณีพรรณ วงศ์เป็ง
15. นายวีระชัย คุ้มพงษ์พันธุ์
16. นางสาวศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร
17. นางสาวศรีนวล ยืนนาน
18. นางสาวสิริลักษณ์ หยองอนุกูล
19. นางสาวชวนันทร์ พรหมโชติ (ผู้บันทึก)


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322721