คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ผู้เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ Share & Learn คุยเพลินๆ กับครูผู้มากประสบการณ์ ปี 2562 เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมสงวนสุข ฉันทวงศ์ ชั้น 11 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายการศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง โควศวนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ เป็นวิทยากร และมีอาจารย์จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจได้ดังนี้

 

ผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา

          จบการศึกษาที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.2519 และบรรจุเป็นอาจารย์ที่คณะพยาบาลศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 จนถึงปัจจุบันระยะเวลาการทำงานยาวนานถึง 42 ปี ความภาคภูมิใจตลอดชีวิตการทำงาน อันดับแรก คือ การได้เป็นอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป้าหมายแรกของอาจารย์ คือ ต้องเป็นอาจารย์ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์เท่านั้น อันดับที่สอง ได้ตามหวัง จริงๆ ไม่ได้อยากเป็นพยาบาล เนื่องจาก ครอบครัวทางคุณแม่เป็นหมอยา ทางบ้านมีกิจการร้านขายยา จึงอยากเป็นเภสัชกร ได้เรียนปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านเภสัชศาสตร์ อันดับที่สาม คือ ได้ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คนแรกของรุ่น อันดับที่สี่ การได้เป็นหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ถึง 2 วาระ ซึ่งตอนนั้นทำงานสนุกและมีความสุขมากอยากมาทำงานทุกวัน เรามีทีมงานที่ดี เป็น 8 ปีที่มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ อันดับที่ห้า การได้เป็นรองคณบดีฝ่ายการศึกษา เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับตำแหน่งนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่ยากมาก และทำงานร่วมกับอาจารย์ทั้งคณะฯ แต่การที่ตัวเองได้เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ทำให้คิดว่าทำงานได้ แต่จะไม่เหมือนการบริหารงานในภาควิชาฯ แต่เป็นการบริหารระดับคณะฯ ถ้าถามว่ามีปัญหา อุปสรรคหรือไม่นั้น ในระหว่างที่ทำงานมีเรื่องที่ต้องมีการตัดสินใจอย่างมาก ตั้งแต่การรับรองสถาบันการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรอง 5 ปี การปรับปรุงหลักสูตรซึ่งครบวงรอบและปรับปรุงหลักสูตรเสร็จก่อนกำหนดการที่จะเปิดใช้ และประชาสัมพันธ์ทันระบบ TQF และเป็นหลักสูตรสุดท้ายที่ทันระบบ TQF และปรับปรุงหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA อันดับที่หก การรับรองหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ระดับอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรอง 5 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง โควศวนนท์

          จบการศึกษาที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.2523 และได้ศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ เริ่มปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสูงเนิน และโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 – 2527 ต่อจากนั้นได้เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลหัวเฉียว และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และได้ย้ายมาทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบันระยะเวลาการทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์เป็นเวลา 28 ปี ความภาคภูมิใจของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง คือ รู้สึกสุขภาพของตัวเองไม่ดีจึงอยากเรียนพยาบาล ซึ่งได้สอบสายตรงแต่ไม่ติด และหลังจากนั้นก็ entrance เลือกพยาบาลศิริราช เป็นนักศึกษามหิดลคนเดียว และคนแรกที่เดินในซอยวัดหงษ์ซึ่งภูมิใจที่ได้เป็นคนมหิดล ในตอนนั้นเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ 2 ปี (ตึกกลม) และย้ายมาเรียนปี 3 ปี 4 ที่ศิริราช เพื่อนร่วมรุ่นสมัยนั้นเข้าเรียน 30 คน ลาออก 5 คน เหลือ 25 คน ในตอนนั้นขึ้นward ช่วงเช้าทุกวัน ช่วงบ่ายเรียน ซึ่งเหนื่อยมาก 

          ความภาคภูมิใจตอนเป็นนักศึกษา ได้รับตำแหน่งนายกสโมสรของคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุด สโลแกนที่หาเสียงในตอนนั้น คือ อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่ง เลือกสมหญิง เบอร์ 1 ผลการเรียนเมื่อจบปริญญาตรีได้เกรดเฉลี่ย 2.67 เนื่องจากมีเวลาเรียนและอ่านหนังสือน้อย เพราะทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมด้วย กิจกรรมที่สำคัญ คือ เป็นคนที่กระตุ้นและเคลื่อนไหวขอให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากอนุปริญญาเป็นปริญญาตรี ในตอนนั้นมีเพียง 2 หลักสูตรที่เป็นอนุปริญญา ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อน้องๆ ที่เรียนอยู่ระดับอนุปริญญา โดยมีการประท้วงเกิดขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสได้เข้าพบกับรองนายกรัฐมนตรี ในตอนนั้น คือ ดร.สมภพ โหตกิจ ท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้น เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต เมื่อศึกษาจบมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นพยาบาลชุมชน จึงมีการก่อตั้งทีมแคร์ ซึ่งเป็นทีมในฝัน โดยแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมารวมเป็นทีม และไปอยู่ที่โรงพยาบาลสร้างใหม่ คือ โรงพยาบาลชุมพวง ซึ่ง ในตอนนั้นโรงพยาบาลยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องไปอยู่โรงพยาบาลสูงเนินเพื่อเรียนรู้งานก่อน รอบโรงพยาบาชุมพวงเป็นป่าเมื่อต้องถากหญ้า เย็บผ้า บ้านพักยังสร้างไม่เสร็จ ต้องไปนอนในโรงพยาบาลก่อน ซึ่งเราก็เหมือนเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเลย และได้เป็นหัวหน้าฝ่าย ความภาคภูมิใจระหว่างที่อยู่ที่นั่น คือ ได้ช่วยชาวบ้านจริงๆ เข้าไปช่วยเหลือ ดูแล เจอเด็กคนหนึ่งเป็นโปลิโอเดินไม่ได้ ต้องคลานและหาปลาทานเอง และเรียนหนังสือไม่ได้ เพราะโรงเรียนไม่รับคนพิการเรียน เราก็ได้ช่วยเขาจนได้รับการผ่าตัดและเดินได้ เมื่อรู้ข่าวก็ปลื้มใจที่เราได้ช่วยเขา ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลชุมพวงประมาณ 4 ปี จนได้เรียนต่อ และไม่ได้กลับไปทำงานที่เดิม เมื่อจบปริญญาโท มีรุ่นพี่ให้ไปสมัครงานที่โรงพยาบาลหัวเฉียวทำงานอยู่ 1 ปี และต่อมาไปทำงานที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อรับราชการ 4 ปีตลอดชีวิตการทำงานไม่เคยต้องหางานเลย เพราะมีเพื่อนชักชวนตลอด พอแต่งงานคิดว่าจะต้องกลับมาทำงานใกล้บ้าน ดูแลคุณแม่ จึงได้มาทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ 

          ความภูมิใจที่อยู่ในภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ รู้สึกเหมือนได้กลับมาบ้านเก่า ที่ๆ มีความอบอุ่น มีอาจารย์ในภาควิชาที่ช่วยดูแลทุกอย่าง แต่ความประทับใจเมื่อมาทำงานแล้ว นอกจากเป็นอาจารย์ที่มีหน้าที่สอนแล้ว ได้ทำหน้าที่สภาอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 สมัยๆ ละ 2 ปี โดยรับตำแหน่งเป็นประธาน ทำหน้าที่คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่าง แล้วส่งไประดับประเทศของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ระดับประเทศ มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอาจารย์ตัวอย่างระดับประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี 

 

ความประทับใจในการทำงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา

          เป็นคนที่โชคดีที่เจอแต่คนดีๆ ตั้งแต่เข้ามาทำงาน รุ่นพี่ดูแลคอยชี้แนะทุกอย่าง มีผู้ร่วมงานที่เป็นทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง การทำงานมีการแบ่งงานกันทำ ช่วยเหลือกัน สมัยก่อนพี่อาวุโสจะฝึกให้น้องทำหลายๆ อย่าง ตัวเองไม่เคยปฏิเสธที่จะทำกิจกรรมเลย ได้รับหน้าที่เป็นเลขาทุกกรรมการ จากวันนั้นถึงวันนี้ตัวเองมีความรู้สึกว่า มีความโชคดีที่เราได้เป็นเลขาในหลายๆ กรรมการทำให้เข้าใจทุกๆ งานอย่างถ่องแท้  อีกทั้งมีหัวหน้าที่ดี ดีตั้งแต่ระดับภาควิชาฯ จนถึงคณบดีที่คอยสนับสนุนทุกอย่างรองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา ทำการสอนระดับปริญญาโท ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 ก็เจอแต่ผู้ร่วมงานที่ดี จนกระทั่งเป็นหัวหน้าภาคฯ ก็เจอแต่สิ่งๆ ดี ตื่นเช้ามาก็อยากมาทำงาน โดยมาถึงที่ทำงานเวลาประมาณ 06.30 น. ประทับใจสิ่งแวดล้อม คน เพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เราทำงานได้ถึงเป้าหมาย ทำให้เราทำงานทุกๆ วันอย่างมีความสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง โควศวนนท์

          ตอนที่มาอยู่ที่คณะฯ มีความสุขมาก อบอุ่นมาก เพราะอาจารย์ในภาควิชาฯ เป็นอาจารย์ที่เคยสอนมา และอาจารย์ภาคกุมารฯ เป็นอาจารย์ที่ใจดีที่สุด ในสมัยที่เรียนพี่ๆ ก็จะสอน เมตตาด้านวิชาการ ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ มีปัญหาส่วนตัวก็สามารถคุยกันได้ เหมือนบ้านที่ สองของเรา การแบ่งงานในสมัยนั้นเราก็แบ่งกันเลย ไม่มี PA กำหนดเราก็สามารถทำงานกันได้และช่วยกันทำงาน เพราะเรารู้ว่างานที่อยู่ในภาควิชาฯ มีอะไรบ้างและแบ่งกันทำงานอย่างไร สมัยนั้นพิจารณา 2 ขั้น เราก็ใช้ระบบการเวียน หรือป๊อบปูล่าโหวต เพราะเราเห็นการทำงานของทุกท่านหมด ทำงานใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่างกัน จึงเกิดความรัก ความสามัคคี ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนนี้ที่มี PA เข้ามา ทำให้เกิดความแตกแยก ถ้า PA ไม่มีการครอบคลุมก็ไม่มีใครอยากทำ จึงอยากฝากไว้ว่า มีวิธีการทำอย่างไรที่ทำให้การทำงานร่วมกันอย่างมีความรัก ความสามัคคี สันติ และมีความสุข อยากให้สถานการณ์แวดล้อมสมัยก่อนมาอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั้งอาจารย์ในคณะฯ ก็จะรู้จักกันหมด จะไม่มีแบบว่า เฮ้อ น้องชื่ออะไร เพราะปัจจุบันนี้มีอาจารย์เพิ่มมากขึ้น มีอาจารย์หมุนเวียนกันมากขึ้น มีลาออกมากขึ้น  แต่ตอนนี้ใครเข้ามาหรือออกไปเราไม่รู้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในรุ่นตัวเอง อยากให้ผู้ร่วมงานมีความรัก และช่วยเหลือกันทำงาน เพราะว่าเราใช้เวลาในการทำงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้ว

 

สิ่งที่อยากฝากไว้กับคณะพยาบาลศาสตร์ และน้องๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา

          วัน เวลา เปลี่ยนไป คนก็เปลี่ยน ก็ทำให้เราจำกันไม่ได้ สิ่งที่อยากจะฝากไว้ มีหลายๆ เรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเรา เพราะเราเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้คนอยากทำงานกับเราหรือไม่ และเราก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เราอยากจะทำงานกับเขาหรือไม่ คำขวัญที่ว่า อตฺตานํ อุปมํ กเร พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะจะทำอะไรให้นึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพูดแบบนี้คนอื่นเขาอยากฟังไหม ถ้าเราทำแบบนี้คนอื่นเขาอยากจะทำไหม อีกข้อหนึ่งคือ การสะท้อนกลับ เราทำอย่างไรก็จะสะท้อนกลับมาอย่างนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิมา ยังเชื่อในการทำดี ถ้าเราทำดีจะมีสี่งที่ดีสะท้อนกลับมา คนที่ไม่ดี หรือคนที่อารมณ์ไม่ดี เราต้องศึกษาเขาก่อน  ทุกครั้งที่เราได้สิ่งที่สะท้อนกลับมาไม่ดี สิ่งที่เราจะต้องคิดเสมอว่า เอ๊ะ! เขาเป็นอะไรหรือเปล่า เขามีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต สมัยที่เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ 8 ปี เราต้องรู้แผนที่ของคนแต่ละคน ต้องมานั่งคิดวิเคราะห์ว่า คนนี้เป็นเพราะอะไร บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนเขาไม่ได้แต่งงานหรอกแต่เขาก็มีปัญหา เช่น พ่อแม่ ไม่สบาย น้องไม่สบาย เขาก็หงุดหงิด เขาก็อารมณ์เสีย เราต้องใจเย็นต้องเข้าใจเขา จริงๆ เราได้เปรียบเพราะเราเป็นพยาบาลเราดูแลคนไข้ตั้งมากมาย ทำไมคนที่ร่วมงานกับเรามีทั้งคุณและโทษกับเรา เราต้องทำกับเขาให้ดีๆ งานที่ทำเราต้องทำทันที ทำดีที่สุด ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ตัวเองยึดถือมาตั้งแต่เรียนระดับประถม อีกข้อหนึ่งที่เป็นความคิดที่เราวิเคราะห์คน คือ นกชนิดเดียวกันจะบินไปทางเดียวกัน เราจะต้องมีใจที่ให้อภัยคนอื่นเสมอ ถ้าเราเป็นผู้บริหารและดูแลคน อันดับที่สำคัญที่สุดคือ ความมีเมตตา ถ้าเรามีความเมตตากับคนทุกๆ คน เราจะไม่แรง ความแรงทำให้ไม่เกิดผลดี เพราะฉะนั้นในเรื่องของคนสำคัญที่สุด ท่านที่เป็นผู้บริหารทุกคน คนต้องได้ใจ ถ้าได้ใจคนถึงไหนถึงกัน 

          เรื่องความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อยากจะแชร์ที่สุด คือ เรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานที่นี่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เรื่องของการเจ็บป่วย คงไม่มีใครไม่เจ็บป่วย เพราะเป็น 1 ในชีวิตมนุษย์ จากประสบการณ์ตัวเอง ไม่ชอบพยาบาลเลย เมื่อมาเป็นพยาบาลแล้ว ทุกวันนี้รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่เป็นพยาบาล เพราะเวลาเราเจ็บป่วย เราได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด เพราะได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยการที่หาหมอที่ดีที่สุดและได้รับการรักษาที่ดีที่สุด สามารถเลือกหมอได้ และสามารถใช้เวลาบางส่วนจากการทำงานขออนุญาตไปหาหมอ การทำงานที่คณะฯ จะหาความสุขได้อย่างไร ถ้าส่วนนึงของความสุขถูกริดรอนไป ตอนที่มี meet the dean ให้ถามเพื่อแก้ปัญหา เพื่อให้มีความสุข ผู้บริหารรับฟังเป็นอย่างมาก โดยก่อนที่จะมี meet the dean ผู้บริหารทุกคนจะทำการบ้าน มีคำถามมาต้องดูว่าคำตอบคืออะไร ไม่ใช่ผู้บริหารไม่เอาใจใส่ ผู้บริหารมีความกังวลทุกครั้งที่จะตอบคำถามและแก้ปัญหาให้กับบุคลากร ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง โควศวนนท์

          อาจารย์ และรุ่นพี่เคยสอนไว้ว่า เมื่อประชุม/ปรึกษาหารือกันเราขัดแย้งกันได้ แต่ออกจากห้องประชุมให้ทิ้งไว้ตรงนั้น แล้วเป็นเพื่อน พี่น้องกันเหมือนเดิม จะทำงานได้อย่างมีความสุข อย่าทนงว่าเราดี เราเก่ง เพราะคนแต่ละคนมีความชำนาญไม่เหมือนกัน ต้องหาประสบการณ์ใหม่ๆ ต้องกล้าแสดงออก เนื่องจากคนเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง  คนอยู่ในคณะฯ แล้วอยู่ไม่ได้ เข้าก็ยาก ฝากถึงผู้บริหารด้วย ทำงานแล้วเจอปัญหาให้กล้าถาม เช่น Meet the Dean ทุกคนมีปัญหา แต่ทุกคนไม่อยากพูด ไม่อยากแสดงตัว ไม่ว่าจะสายวิชาการ หรือสายสนับสนุน  อยากให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์  เราไม่ได้ว่าใคร แต่เราพูดให้เห็นปัญหาว่า องค์กรมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน มีปัญหาตรงไหน ซึ่งผู้บริหารจะเป็นผู้ที่ช่วยได้มากที่สุด และมีการแก้ไข จะทำให้คณะฯ ของเราพัฒนาไปเรื่อยๆ อยากให้ทุกคนเมื่อเห็นปัญหา หรือมีความคิดอะไรดีๆ อยากให้พวกเราช่วยกันเสนอ อย่านั่งเงียบ อย่าทำเหมือนถูกบังคับให้เข้าฟัง ช่วยกันเสนอ คณะฯ จะได้พัฒนา 

 

บทสรุป

“ฝากเรื่องของความสุข ความสุขอยู่ที่ตัวเรา เราไม่สามารถที่จะสร้างให้คนอื่นมีความสุขได้ ถ้าตัวเรามีความสุข การทำงานก็จะมีความสุข งานหลักคืองานสอนหนังสือ ถ้าเราไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถสอนเด็กให้มีความสุขได้” 

 

 

นางสาวดารานิตย์ กิ่งวัน ผู้ลิขิต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330784