เมื่อกล่าวถึง รศ.รัชนี สีดา ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตำแหน่งล่าสุดของท่านคือประธานสภาอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์ทุกคนในคณะฯ จะต้องนึกถึงภาพผู้บริหารที่เก่ง นึกถึงผู้ที่ลุกขึ้นมาพูดในที่ประชุมได้อย่างฉะฉานและละเอียดยิบ และนึกถึงวิชา Health assessment

…… ไม่น่าเชื่อเลยว่า ท่านจะเกษียณในวันที่ 30 กันยายน 2551 นี้แล้ว คณะทำงานจัดการความรู้ฯ จึงเรียนเชิญ รศ. รัชนี มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของท่าน ในหัวข้อ “เคล็ดลับความสำเร็จในการทำงาน: การบริหารและการสอน” เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กย. 2551 สาระสำคัญมีดังนี้

ประวัติ รศ.รัชนี เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 1 ธค.2514 บรรจุด้วยตำแหน่งครูพยาบาลตรี ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ปีพศ.2521 และเป็นรองศาสตราจารย์ ในพศ. 2542 ท่านดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน เมื่ออายุเพียง 42 ปี และอยู่ในตำแหน่งถึง 8 ปี หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อีก 8 ปี สำหรับรางวัลที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งคือ พยาบาลดีเด่น สาขาการศึกษาการพยาบาล ประเภทผู้บริหารการศึกษา จากสภาการ พยาบาล และอาจารย์ดีเด่น ของสภาอาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เคล็ดลับความสำเร็จ ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมง เราไม่สามารถเรียนรู้เบื้องหลังความสำเร็จของรศ.รัชนีได้หมด อย่างไรก็ตามเคล็ดลับที่เราสกัดออกมาได้มีดังนี้

พรแสวง รศ.รัชนี กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ไปทุกเรื่อง เรื่องใดที่ไม่รู้ก็ต้องศึกษา สอบถาม หาหนังสือหรือระเบียบต่างๆอ่าน ท่านไม่เคยปฏิเสธงาน ขณะเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ทำงานทุกอย่าง เช่นเป็นเลขานุการหลายคณะกรรมการ การ การทำงานทำให้ได้เรียนรู้งานมาก

รศ.รัชนี ฝากว่าอาจารย์ทุกคนต้องผลัดกันเป็นเลขานุการภาควิชา เพราะเชื่อว่า “เขียนรายงานการประชุมเป็น ก็จะเขียนpaper วิชาการได้” อาจารย์ใหม่ๆ อย่าเลี่ยงงาน ต้องคิดมุมกลับว่าทำให้เราได้ฝึกงาน รศ.รัชนี มีนโยบายว่าจะไม่ส่งอาจารย์ในภาคไปเป็นกรรมการของคณะหากไม่ได้เป็นกรรมการระดับภาคเสียก่อน 

ความรู้มาจากหลายแหล่ง ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันทุกหน้าทุกคอลัมภ์ทำให้รอบรู้ในทุกด้าน ด้านการเรียนการสอน รศ.รัชนีเน้นศึกษาด้วยตัวเอง ใช้ลูกหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นที่ฝึกตรวจร่างกาย “ความรู้ไม่ได้มาจากตำราเพียงอย่างเดียว แต่มาจากชีวิตจริง”

มีเครือข่าย การทำงานจำเป็นต้องมีเครือข่ายเป็นผู้สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษา เช่น ขณะที่รศ.รัชนีเป็นรองคณบดี ต้องดำเนินการผันงบประมาณจากหมวดอื่น มาสร้างห้องประชุมดร.ทัศนา บุญทอง ภายในเวลา 1 เดือน ท่านใช้สัมพันธภาพที่ดีและการมีเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถเขียนแบบและดำเนินขั้นตอนต่างๆ จนสำเร็จ ซึ่งการสร้างเครือข่ายนี้เกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดี ต้องมีเทคนิค อาทิ การเลี้ยงอาหาร การมอบสิ่งตอบแทน การมีของฝากเป็นต้น

รักและใส่ใจงาน รศ.รัชนีมีความรักในงานที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นอาจารย์ในภาควิชา เป็นรองคณบดีหรือหัวหน้าภาควิชาฯ ท่านกล่าวว่า “งานไม่เคยทำให้ใครตาย” ด้านการสอนนั้น เราต้องรู้จริงในเรื่องที่เราจะสอน มีการนำผลการวิจัยมาใช้ในการเรียนการสอน การสอนสุขศึกษาไม่จำเป็นต้องสอนเหมือนกัน อาจต่างกันไปตามปัญหา เช่นกรณีลูกป่วยเป็นโรคหัวใจ พ่อแม่อาจต้องการเงิน แต่หากลูกมีปัญหาเรื่องสมอง พ่อแม่ต้องการความรู้เรื่องการเลี้ยงดูมากกว่าเงินทอง

กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวการแข่งขัน ไม่ยอมแพ้ ไม่กลัวคนโกรธถ้าคิดว่าเราทำถูก และไม่เคยปฏิเสธงาน ท่านกล่าวว่าไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้ ไม่อายที่จะขอความรู้จากผู้รู้ นอกจากนั้นต้อง กล้าสอน เมื่อพบนักศึกษามีพฤติกรรมไม่ถูกต้องหรือแต่งกายไม่สุภาพจะตักเตือนทันที เพราะถือว่าไม่สอนวิชาอย่างเดียว ต้องสอนเรื่องอื่นๆด้วย ท่านบอกว่าเป็นนักล่าทุนและกล้าลงสมัครชิงตำแหน่งต่างๆ เพราะไม่อายหากไม่ชนะ ท่านย้ำว่า “งานไม่เคยทำให้ใครตาย” เมื่อรับงานมาแล้ว เรียงลำดับก่อนหลัง เหนื่อยล้าก็พักก่อน

เป็นตัวอย่างที่ดี อาจารย์ต้องถ่ายทอดเก่ง เข้าใจความแตกต่างของนักศึกษา สามารถสอนเรื่องยากให้เข้าใจง่าย สอนเด็กไม่เก่งให้ขยันเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องสอนเด็กเก่งให้รู้สึกสนุกไปด้วย อาจารย์ต้องพูดมีควบกล้ำ ตรงต่อเวลา แม่นในเนื้อหา ครูต้องรู้มากกว่านักศึกษา ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าจะไปหาข้อมูลมาให้ อาจารย์จะเก่งได้ต้องมีงานวิจัย sheetที่แจกนักศึกษาควรอ้างอิงงานวิจัย ซึ่งอาจเป็นงานวิจัยของเราหรือคนอื่นก็ได้

รศ.รัชนีเน้นว่า “การสอนบนward เป็นหัวใจของอาจารย์พยาบาล” อาจารย์ต้องมีบันทึกพฤติกรรมของนักศึกษา เพราะดูแลนักศึกษาหลายคน เช่นบันทึกว่า นส. ก ทำอะไรบ้าง ดีหรือไม่ดี เป็นประโยชน์ในการเตือนนักศึกษาและเป็นเครื่องมือในการประเมินผลนักศึกษา อาจารย์ต้องมีบารมีทางวิชาการ กล่าวคือ เก่ง รู้จริง จะมีคนมาหาเอง รศ.รัชนีทุ่มเทให้กับการสอน เช่นติวนักศึกษานอกเวลา สิ่งที่ได้คือความชื่นใจ 

ขณะท่านดำรงตำแหน่งรองคณบดี ท่านพยายามวางตัวให้มีความสง่างามเพราะคิดว่าเป็นหน้าตาของคณะฯ มีข้อคิดว่าไม่ต้องรอให้มีตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาหรือรองคณบดี แม้เป็นหัวหน้าวิชาก็ต้องมีทักษะของการบริหารแล้ว เทคนิคการประชุมคือ ต้องอ่านรายงานหรือวาระการประชุมทุกหน้า อาจต้องlobby บางคนก่อนเข้าประชุม หากเป็นประธานต้องไม่เข้าไปมือเปล่า จะต้องมีการวางแผนการประชุมหรือวางตุ๊กตาไว้ก่อน

ตั้งเป้าหมายชีวิตและมองการไกล รศ. รัชนีขอให้อาจารย์ตั้งธงไว้ว่า ก่อนเกษียณอายุราชการ อยากได้ตำแหน่งอะไร อาจารย์ต้องหา area ที่เชี่ยวชาญ ต้องมีเป้าหมายชีวิตเช่นตั้งธงว่าจะเขียนตำราสักหนึ่งเรื่อง ควรเขียนร่างไว้ก่อนว่า ตำราของเราจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เขียนสารบัญ แล้ว review literature และทำวิจัยให้ตรงกับเนื้อหาในตำรา

ความภูมิใจของรศ.รัชนีมีมาก หนึ่งในนั้นคือการสร้างชมรมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมองการไกลของท่าน ท่านทิ้งท้ายว่า เราไม่ได้วิ่งอยู่เพียงคนเดียว เรามีคู่แข่ง ถ้าเขายังเดินอยู่ หากเราเดินเหมือนกัน เราจะแซงเขาไม่ได้ “ถ้าเขาเดิน เราต้องเดินเร็วกว่า .....ถ้าเขาเดินเร็ว เราต้องวิ่ง” เราจึงจะชนะ ในวันนั้นแม้หมดเวลาแล้ว ยังมีอาจารย์หลายคนไม่ยอมลุกไปไหน ต่างตั้งคำถามประสบการณ์ของรศ.รัชนี อยู่ไม่ขาด .... ทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่า เสียดายที่อาจารย์มีเวลาให้เราน้อยไป ...... อย่างไรก็ตาม พวกเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ใหม่ๆ ได้รับข้อคิดและแนวทางในการปฏิบัติตนบนหนทางของอาจารย์พยาบาล กันอย่างมากมาย เราขอขอบพระคุณในความรักและความหวังดีของท่านที่มีต่อน้องๆและคณะพยาบาลศาสตร์ มา ณ โอกาสนี้ ........


ผู้เข้าร่วมประชุม
รศ.รัชนี สีดา, รศ.พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร, ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ จิรธรรมคุณ, อ.สุธิดา ธีรพิทยานนท์, อ.กลิ่นชบา คำรศ, อ.ดร.อาภา ยังประดิษฐ, อ.อรุณรัตน์ คันธา, น.ส.ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร , อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330802