• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คณะทำงานพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบซิปปา CIPPA โดยมี ผศ.ดร.กรองได อุณหสูติ ซึ่งเป็น guru ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ CIPPA เป็นรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน โดย CIPPA พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดหลัก 5 แนวคิด ที่ใช้พื้นฐานทฤษฏีพัฒนาการมนุษย์ (Human Development) และทฤษฏีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) ในการเรียนการสอน

คือ แนวคิดการสร้างสรรค์องค์ความรู้ (Constructivism) แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Co-operative Learning) แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (Learning Readiness) แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรูกระบวนการ (Process Learning) และแนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning) ซึ่งการเรียนการสอนแบบซิปปานี้ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียน สามารถอธิบาย ชี้แจงตอบคำถามได้ดี นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม การสื่อสาร รวมทั้งเกิดความใฝ่รู้ โดยที่การจัดการเรียนรู้นี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นเตรียมการ ประกอบด้วย

1.การเตรียมตนเอง ผู้เรียนจะต้องมีการเตรียมตนเอง
2.การเตรียมแหล่งข้อมูล ครูจะต้องเป็นผู้เตรียมแหล่งข้อมูลให้กับผู้เรียน
3.การจัดทำแผนการสอน ครูจะต้องเป็นผู้จัดทำแผนการสอน โดยจะต้องมีการเตรียมกิจกรรม เตรียมสื่อวัสดุอุปกรณ์ และเตรียมการวัดและประเมินผ

ขั้นดำเนินการ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียน

1.สร้างและค้นพบความรู้ด้วยตนเอง (C : Construct)
2.มีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งความรู้หลากหลาย (I : Interaction)
3.มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายอย่างเหมาะสมกับวัยและความสนใจ (P : Physical Participation)
4.ได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ (P : Process Learning)
5.นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (A : Application)

ขั้นประเมินผล จะวัดและประเมินผลตามสภาพจริง โดย

1.วิธีการหลากหลาย
2.จากการปฏิบัติ
3.จากแฟ้มสะสมงาน

อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย ได้นำเสนอเพิ่มเติมว่า CIPPA มีจุดเริ่มต้นมาจาก โมเดล CIPP ซึ่ง รศ.ทิศนา แขมมณี ได้นำมาประยุกต์เป็น CIPPA เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน โดยได้เพิ่ม Application เข้ามา คือผู้เรียนต้องสามารถนำ ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ได้

ลักษณะการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา จะประกอบด้วย

ขั้นนำ สร้าง / กระตุ้นความสนใจหรือเตรียมความพร้อมในการเรียน
  
ขั้นกิจกรรม จัดกิจกรรมตามหลักการ
ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง (C : Construct)
ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ช่วยกันเรียนรู้ (I : Interaction)
ผู้เรียนมีบทบาท / ส่วนร่วมในการสร้าง (P : Physical Participation)
ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการควบคู่กับ (P : Process Learning)
ผลงาน / ข้อสรุปความรู้ผู้เรียน นำความรู้ไปใช้ (A : Application)
  
ขั้นวิเคราะห์ อภิปรายผลจากกิจกรรม
วิเคราะห์อภิปรายผลงาน / ข้อความรู้ที่สรุปได้จากกิจกรรม
วิเคราะห์อภิปรายกระบวนการเรียนรู้ (Process)
  
ขั้นสรุปและประเมินผล สรุปผลและประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

ผศ.ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ สนใจการนำโมเดลซิปปา มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน โดยเห็นว่าถ้านำมาใช้ในการฝึกทักษะผู้เรียน น่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการเรียนการสอนในรายวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนสนใจการปฏิบัติมากขึ้น อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย กล่าวเสริมว่า จะต้องนำขั้นตอนต่างๆ ของซิปปา มาแตกให้ออกว่าเราจะออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละขั้นตอนอย่างไร การกระตุ้นความสนใจหรือเตรียมความพร้อมในการเรียนเราจะทำอย่างไร เช่น การ talk lab ก่อนเรียน การสอบ ฯลฯ ในขั้นกิจกรรม ผู้เรียนมีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เราจะทำอย่างไร ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ช่วยกันเรียนรู้เราจะทำอย่างไร ผศ.ดร.กรองได อุณหสูติ ยกตัวอย่าง เช่น สอนเรื่อง bed bath เราจะใช้กระบวนการกลุ่ม ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ว่าถ้าจะต้อง bed bath จะทำอย่างไร มีปัญหาตรงไหน ให้กลุ่มได้เรียนรู้ร่วมกัน ฯลฯ ผศ.ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ กล่าวว่า การกระตุ้นความสนใจ จะใช้วิธีการตั้งสถานการณ์จำลอง เช่น มีผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้เรียนมีการเรียนรู้กระบวนการในเรื่องชองทักษะการพยาบาลมาแล้ว แต่ว่ายังไม่สามารถผสมผสานความรู้ที่ได้เรียนรู้มา ดังนั้นจึงตั้งสถานการณ์จำลองขึ้นมา แล้วให้ผู้เรียนมโนภาพว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งผู้เรียนก็จะต้องนำความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วมาสร้างใหม่ว่าผู้เรียนจะมีกระบวนการคิดอย่างไร แล้วในกลุ่มก็ช่วยกันเรียนรู้ และผู้เรียนก็จะต้องมีการเก็บเป็นแฟ้มสะสมงาน คุณศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร กล่าวว่า ใ นกระบวนการเรียนการสอน แบบซิปปานี้ ครูผู้สอนจะต้องมีการเตรียมการเรียนการสอน มีการเขียนแผนการสอนด้วย มีสื่อการสอน จะใช้เวลากี่คาบในการสอน จะสอนอย่างไร

ก่อนทำการสอนต้องวางแผนการสอนเป็นลำดับ ดังนี้

1.ศึกษา วิเคราะห์ปัญหาการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา
2.ศึกษาหลักสูตร เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ จุดหมาย และโครงสร้างของหลักสูตร และศึกษาคำอธิบายรายวิชา
3.วิเคราะห์คำอธิบายรายวิชา เพื่อกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ จุดประสงค์ปลายทาง จุดประสงค์นำทาง และเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักการ จุดหมาย จุดประสงค์ กลุ่มวิชา และคำอธิบายรายวิชา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
4.วางแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สื่อการเรียนการสอน และวัดผลประเมินผล

การจัดเตรียมการสอนให้จัดทำแผนการสอนตามขั้นตอนดังนี้

1.ขั้นการทบทวนความรู้เดิม เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
2.ขั้นการแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นนี้เป็นการแสวงหาความรู้ โดยผู้สอนจัดเตรียมข้อมูลมาให้หรือบอกแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาได้
3.ขั้นการศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล / ความรู้ใหม่และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล / ความรู้ที่หามาได้ ผู้เรียนต้องสร้างความหมายของข้อมูล / ประสบการณ์ใหม่โดยใช้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด และกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
4.ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
5.ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งความรู้เดิม และความรู้ใหม่ และจัดสิ่งที่เรียนรู้เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
6.ขั้นการแสดงผลงาน เป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นการช่วยผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง และช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์
7.ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนเองไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหา และความจำเป็นในเรื่องนั้นๆ ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น สามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง และมีการประยุกต์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ในด้านการประเมินนั้น ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด เราจะประเมินผลในขั้นตอนนี้อย่างไร อาจใช้ Rubric scale ในการประเมิน ซึ่งเป็นการประเมินแบบ Summative Evaluation ส่วนการประเมินระหว่างปฏิบัติ จะเป็น Formative Evaluation อาจใช้เป็นแบบสังเกตก็ได้ และจะต้องมีการหา interrater ระหว่างผู้ประเมินด้วย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ที่สุดก็คือ ผู้สอนจะต้องมีการเขียนแผนการสอน และในการเขียนแผนการสอนนั้น ผ.ศ.ธิติมา จำปีรัตน์ กล่าวว่า จะต้องมีวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม หัวข้อที่สอน กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล ซึ่งอาจจะต้องเขียนละเอียดลงไปให้เห็นภาพเลยว่า เราต้องการให้เกิดอะไร เช่น นักศึกษาต้องทำอะไรได้ และเราจะวัดผลอย่างไรว่าผู้เรียนเกิดสิ่งนั้นจริง การทำแฟ้มสะสมงาน ก็เป็นสิ่งที่จะเก็บผลงานเหล่านั้นไว้ และสามารถส่งต่อไปได้ การมอบหมายงานให้ไปค้นในสิ่งที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ ก็จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในระดับหนึ่งก่อน

จากการเข้าร่วมแลกเป ลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ผศ.ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ จะนำแนวคิดที่ได้ไปเขียนโครงการวิจัยด้านการเรียนการเรียนการสอน โดยจะนำโมเดล CIPPA มาใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน ในวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ซึ่งจะได้นำมาเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในครั้งต่อไป


ผู้เข้าร่วมประชุม

ผศ.ดร.กรองได อุณหสูติ (ประธาน), ผศ.ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์, อ.ดร.กีรดา ไกรนุวัตร, ผศ.ธิติมา จำปีรัตน์, ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร, อ.ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย (ผู้จดบันทึก)

 


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322586