สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนในวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพจิตเบี่ยงเบน (พยสจ 481) โดยคณาจารย์ในภาควิชาฯทุกท่านร่วมกันแลกเปลี่ยน และนำเสนอในประเด็นต่อไปนี้

คือ

การบันทึกการสนทนากับผู้ป่วยนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ นักศึกษามักจะบันทึกไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะในส่วนของการวิเคราะห์บทสนทนาที่ได้พูดกับผู้ป่วย ยังขาดในประเด็นของ non-verbal ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาสามารถสังเกตเห็นได้ แต่นักศึกษาไม่ได้วิเคราะห์มาด้วยว่าพฤติกรรมนั้นๆต้องสังเกต และจะให้การพยาบาลอย่างไรต่อไปเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลที่ถูกต้อง เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยมากที่สุด และภาควิชาฯได้อาจารย์ใหม่เพิ่มมาอีก 1 คน จึงอยากให้อาจารย์ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับอาจารย์ในภาควิชาฯด้วยดังนั้นประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

1.  ส่วนนำ เนื้อหาที่จะต้องบันทึกประกอบด้วย

สถานภาพของนักศึกษา

• สิ่งที่นักศึกษาจะต้องบันทึกตามแบบฟอร์ม ได้แก่ ชื่อนักศึกษา... หลักสูตร........ หอผู้ป่วยที่นักศึกษาฝึกปฏิบัติ.... วันที่..."เป็นวันที่นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย"..... เวลา..."ช่วงเวลาที่สนทนา"... ครั้งที่สนทนา..."นักศึกษาสนทนากับผู้ป่วยครั้งที่เท่าไร"... และครั้งที่ส่งงาน.....

ข้อมูลของผู้ป่วย

• สิ่งที่นักศึกษาจะต้องบันทึกตามแบบฟอร์ม ได้แก่ ชื่อผู้ป่วย..."ควรระบุเฉพาะชื่อ ไม่ต้องใส่นามสกุล"... อายุ.... สถานภาพการสมรส..... เชื้อชาติ.... สัญชาติ... ศาสนา... อาชีพ... ระดับการศึกษา.... ที่อยู่...."ระบุเพียงอำเภอ และจังหวัด".... วันที่รับไว้ในโรงพยาบาล..... วันที่รับไว้ในความดูแล.... การวินิจฉัยโรค..."ตามการวินิจฉัยของแพทย์".....

อาการสำคัญและประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

•  บันทึกอาการสำคัญและประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยในครั้งนี้ สำหรับการบันทึกประวัติการเจ็บป่วย เป็นการสรุปการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยในครั้งนี้ของผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มป่วยจนกระทั่งปัจจุบัน และถ้าผู้ป่วยมีการรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลหลายครั้ง ให้ระบุว่าการรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไร

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

•  บันทึกประวัติการเจ็บป่วยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยในครั้งนี้

ประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัว

• สรุปประวัติส่วนตัว เพื่อให้เห็นพัฒนาการและบุคลิกภาพก่อนป่วย และบันทึกประวัติครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป

• เป็นการระบุลักษณะของผู้ป่วยที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป(General appearances) เช่น รูปร่าง ผิวพรรณ การแต่งกาย สีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว ความสะอาดของร่างกาย เป็นต้น

อาการหลังจากรับไว้ในความดูแล

•  บันทึกอาการที่นักศึกษาสังเกตและรวบรวมได้ ภายหลังจากที่นักศึกษารับผู้ป่วยไว้ในความดูแลแล้ว

วัตถุประสงค์ของการสนทนา

• บันทึกวัตถุประสงค์ของการสนทนา ที่นักศึกษาได้ตั้งไว้ในครั้งนั้น ซึ่งวัตถุประสงค์นั้นต้องสามารถวัดพฤติกรรมของผู้ป่วยได้และการสนทนาจะต้องดำเนินไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์นั้น

สถานการณ์ก่อนการสนทนา

•  เป็นการบันทึกเหตุการณ์สั้นๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าที่นักศึกษาจะเริ่มต้นเข้าไปพบและสนทนากับผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยกำลังทำอะไร หรือมีความพร้อมเพียงใดต่อการสนทนา ให้เน้นก่อนที่นักศึกษาจะได้สนทนากับผู้ป่วยในช่วงเวลาที่นัดหมายกันไว้

2. บทสนทนา

วิธีการบันทึก การบันทึกจะแบ่งออกเป็น 2 ช่อง นักศึกษาจะบันทึกบทสนทนาทั้งคำพูดและกริยาท่าทางไว้ในช่องบันทึกการสนทนาระหว่างนักศึกษา – ผู้ป่วยที่อยู่ทางซ้ายมือ และวิเคราะห์หรือแปลความหมายไว้ในช่องวิเคราะห์การสนทนาที่อยู่ทางขวามือ

การวิเคราะห์บทสนทนา จะต้องวิเคราะห์ หรือแปลความหมาย หรืออธิบาย คำพูดและพฤติกรรมการแสดงออกทั้ง ของผู้ป่วย และของนักศึกษาพยาบาล

• ด้านผู้ป่วย จะต้องพิจารณาว่าคำพูดและพฤติกรรมของผู้ป่วยนั้น มีความหมายอย่างไร โดยนำทฤษฎีและหลักการทางจิตเวชมาแปลความหมาย ตลอดจนระบุความรู้สึกของพยาบาลที่มีต่อคำพูดและพฤติกรรมนั้นๆของผู้ป่วย

• ด้านนักศึกษา จะบอกเหตุผลของการพูดและการแสดงพฤติกรรมที่นักศึกษาแสดงออกมา ระบุเทคนิคของการสื่อสารที่ใช้ และบอกถึงความรู้สึกที่มีต่อคำพูดและพฤติกรรมของตัวนักศึกษาเอง รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อบทสนทนานั้น

****ทั้ง 2 ด้าน ให้เน้นทั้ง verbal และ non-verbal เพื่อนักศึกษาจะได้นำมาวางแผนการพยาบาลได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม****

3. ส่วนสรุป

เรื่องสำคัญที่สนทนา เป็นการสรุปประเด็นที่สำคัญจริงๆสำหรับการสนทนาในครั้งนี้ อาจมี 1-2 ประเด็นเท่านั้น

ความรู้สึกของพยาบาลที่มีต่อการสนทนา

นักศึกษาจะระบายถึงความรู้สึกที่ตนเองมีต่อการสนทนาในครั้งนี้อย่างอิสระ ตามความรู้สึกที่แท้จริงของตน อาจจะเป็นความพอใจ ไม่พอใจ อยากปรับปรุง รู้สึกสบายใจ หรือมีความกังวลใจ เป็นต้น

การวางแผนการสนทนาครั้งต่อไป

เป็นการบันทึกแผนที่นักศึกษาจะใช้เป็นแนวทางในการสนทนาครั้งต่อไป โดยมีความสอดคล้องต่อเนื่องกับการสนทนาที่จบลงไปในครั้งนี้

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อติรัตน์ วัฒนไพลิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประภา ยุทธไตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริลักษณ์ เวชการวิทยา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ้งนภา ผาณิตรัตน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พวงเพชร เกษรสมุทร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรรยา ธัญญาดี
อาจารย์วิมลนันท์ พุฒิวนิชพงศ์
อาจารย์ภาศิษฎา อ่อนดี
อาจารย์อทิตยา พรชัยเกตุ โอว ยอง
อาจารย์วไลลักษณ์ พุ่มพวง
อาจารย์กนกรัตน์ พิมพ์รุณ
อาจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์
อาจารย์ฐินีรัตน์ ถาวร
อาจารย์สุดารัตน์ เพียรชอบ

การนำองค์ความรู้ไปใช้

สำหรับกิจกรรมนี้แนวทางที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นทางกรรมการวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพจิตเบี่ยงเบน (พยสจ 481) จะนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อเตรียมสำหรับการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2557 โดยผู้ที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้คือคณาจารย์ในภาควิชาฯทั้งหมด และจะมีการติดตามผลของการนำองค์ความรู้ไปใช้ในปีการศึกษา 2557 พร้อมกับผลการประเมินการเรียนการสอนของรายวิชาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

นภวัลย์ กัมพลาศิริ พวงเพชร เกษรสมุทร และกลิ่นชบา สุวรรณรงค์.(2554).เอกสารประกอบการสอนวิชา ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะสุขภาพจิตเบี่ยงเบน (พยสจ 481) เรื่อง การบันทึกการสนทนาระหว่างนักศึกษาพยาบาลและผู้ป่วย (Process recording).

PDF Download


วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12.00 -13.00 น ห้อง 711
วิทยากร: อาจารย์ทุกท่านในภาควิชาฯ
อาจารย์ ฐินีรัตน์ ถาวร ผู้ติดตามผลการนำองค์ความรู้ไปใช้


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1331354