ความสำคัญของการจัดการความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ได้กำหนดไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ต้องการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามนโยบายของคณะฯ โดยใช้การจัดการความรู้ (KM) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ จึงอยากให้อาจารย์ทุกคนเข้าใจและมีส่วนร่วม หลังจากนั้นได้เชิญให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเขียนวัตถุประสงค์สำหรับโครงการการศึกษาชุมชน จากรายงานของนักศึกษาในวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลในครอบครัวและชุมชนและให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เสนอข้อคิดเห็นใน 3 ประเด็น

PDF Download

  1.  การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนควรเป็นแบบใด
  2. การเขียนวัตถุประสงค์โครงการการศึกษาชุมชนควรเป็นอย่างไร
  3. ควรใช้คำใดในการระบุประธานของประโยคในการเขียนข้อวินิจฉัยชุมชน

ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เสนอข้อคิดเห็น และมีข้อสรุป ดังนี้

  1. การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชน 

         1.1 ข้อวินิจฉัย 

                1.1.1 การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนให้ระบุปัญหาและตามด้วยสาเหตุ ในส่วนสาเหตุของข้อวินิจฉัยจะมี หรือไม่มีสาเหตุก็ได้ 

                1.1.2 การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนไม่ต้องระบุขนาด (ร้อยละของปัญหา) เช่น

  • ประชาชนที่สำรวจมีพฤติกรรมการออกกำลังกายไม่เหมาะสม เนื่องจากขาดความรู้
  • กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
  • ประชาชนในชุมชนเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก เนื่องจากชุมชนมีสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
  • ชุมชนมีสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม

          1.2 ข้อมูลสนับสนุน

                1.2.1 ข้อมูลสนับสนุนมีทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ และข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งข้อมูลเชิงปริมาณต้องมีการระบุปริมาณเป็นร้อยละ เช่น

  • ประชาชนที่สำรวจไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 42.88 (58 คน)
  • กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานอาหารรสหวาน ร้อยละ 72.88 (68 คน)
  • ภายในชุมชนมีแหล่งน้ำขังหลายพื้นที่

ตัวอย่างการเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนและข้อมูลสนับสนุน

ข้อวินิจฉัยชุมชน

กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม

ข้อมูลสนับสนุน

  1. ไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 6800 (68 คน)
  2. รับประทานอาหารรสหวานมากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 44.00 (44 คน)
  3. รับประทานอาหารรสเค็มมากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 42.00 (42 คน)
  4. ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 3 ขวด/สัปดาห์ ร้อยละ 40.00 (40 คน)
  5. รับประทานอาหารทอดมากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 32.00 (32 คน)

     2. การเขียนวัตถุประสงค์โครงการการศึกษาชุมชน มี 2 รูปแบบ คือ Goal and Objective และ วัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์เฉพาะ ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ขอให้ใช้วัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์เฉพาะ เนื่องจากตรงกับการสอนตามทฤษฎีที่นักศึกษาได้เรียนมา มีรายละเอียด ดังนี้

        2.1 วัตถุประสงค์หลัก 

                2.1.1 การเขียนวัตถุประสงค์หลักเขียนเป็นภาพรวม ภาพกว้าง ไม่ต้องระบุขนาด (ร้อยละของปัญหา) 

                2.1.2 การเขียนวัตถุประสงค์หลักเขียนต้องมีประธาน ซึ่งสามารถใช้คำต่อไปนี้ได้ เช่น ผู้เข้าร่วมโครงการ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ฯลฯ เช่น

  • ครัวเรือนมีการควบคุม/กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเหมาะสม
  • ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อเพื่อป้องกันอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้ม

       2.2    วัตถุประสงค์เฉพาะ

               2.2.1 การเขียนวัตถุประสงค์เฉพาะต้องเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม สอดคล้องกับข้อมูลสนับสนุนที่เป็นสาเหตุของปัญหา สามารถวัดและประเมินผลได้ มีระยะเวลากำกับ เช่น 

  • ทุกครัวเรือนมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (House Index) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10
  • ทุกครัวเรือนใส่ทรายอะเบตลงในแหล่งน้ำขังบริเวณบ้านและรอบๆบริเวณบ้านทุกเดือน
  • ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่ได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 60.00 สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้อย่างน้อย 6 ข้อ จาก 10 ข้อ
  • ผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่ได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 60.00 สามารถเลือกภาพอาหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและข้อได้อย่างน้อย 8 ภาพจาก 10 ภาพ
  • ผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่เข้าร่วมโครงการ หรือได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 60.00 สามารถสาธิตกลับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อได้อย่างน้อย 6 ท่าจาก 9 ท่า 

หมายเหตุ สามารถละคำว่า “หลังการดำเนินโครงการ หรือหลังจบโครงการ” ซึ่งเป็นระยะเวลากำกับการเสร็จสิ้นโครงการในฐานที่เข้าใจตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์เฉพาะ

วัตถุประสงค์หลัก

ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมีความรู้ในการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

วัตถุประสงค์เฉพาะ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ 80.00 มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยตอบคำถามได้ถูกต้อง 8 ข้อ จาก 10 ข้อ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ 80.00 สามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมกับโรคได้ถูกต้องอย่างน้อย 3 ชุด จาก 5 ชุด
  3. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ 80.00 สามารถเรียงปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ถูกต้องอย่างน้อย 3 ชนิด จาก 5 ชนิด
  4. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ 80.00 สามารถสาธิตย้อนกลับท่าการออกกำลังกายได้ถูกต้องอย่างน้อย 8 ท่า จาก 10 ท่า

ก่อนจบการเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัน สุวรรณรูป ได้สอบถามผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ถึงหัวข้อต่อไป และวันที่จะจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้เสนอ ควรจัดวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เวลา 9.00-12.00 น. ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ศิริราช เรื่อง Team- based learning มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา นาคะเกษียณ เป็นผู้นำเสนอ และให้เพิ่มหัวข้อ Project- based learning โดยมอบหมายให้ อาจารย์ ดร.สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร เป็นผู้นำเสนอ และมีผู้เสนอให้เชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ช่อทิพย์ สันธนะวนิช มาร่วมแลกเปลี่ยนรู้เรียนรู้ในหัวข้อ Team- based learning


 ผู้บรรยาย: ผศ. ดร.นันทวัน สุวรรณรูป 

ผู้บันทึก: อ.เพ็ญจันทร์ สิทธิปรีชาชาญ