• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

การฟื้นตัวหลังผ่าตัด (Postoperative recovery) คือ กระบวนกลับเข้าสู่สภาวะปกติของร่างกายภายหลังการผ่าตัด ซึ่งการฟื้นตัวนี้ ประกอบไปด้วยการฟื้นตัวทางด้านร่างกาย (physical) จิตใจ (psychological) ทางด้านสังคม (social) และการดำเนินชีวิตประจำวัน (habitual function) ซึ่งการฟื้นตัว สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด (Early phase) ระยะช่วงสัปดาห์แรกหลังทำผ่าตัด (Intermediate phase) และระยะหลังสัปดาห์แรกถึง 1 เดือน หลังทำผ่าตัด (Late phase)

 

สำหรับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูกหักหลังผ่าตัดในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยทำการประเมินการฟื้นตัวในระยะ Intermediate คือ ประเมินจากความสามารถในการเคลื่อนลุกจากเตียง นั่ง ยืน และเดิน ในช่วงวันที่ 2-7 หลังผ่าตัดซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า ผู้ป่วยกระดูกหักหลังผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมการฟื้นตัวได้72.22% โดยปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ ได้แก่ อายุ เพศ ความปวดภาวะโรคร่วม ความวิตกกังวล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ การรับรู้บกพร่อง ภาวะซึมเศร้า การสนับสนุนทางสังคม อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนวรรณกรรมในประเทศไทย พบว่า มีการศึกษาในเรื่องการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูกหักหลังผ่าตัดน้อยมาก และยังไม่มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคร่วมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ และความวิตกกังวลกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักภายหลังผ่าตัด ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาครั้งนี้ขึ้นเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคร่วมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ และความวิตกกังวลกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักภายหลังผ่าตัด

ซึ่งกรอบแนวคิดในการวิจัย คือ ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน ทำการเก็บข้อมูลในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุ ที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด จำนวน 91 ราย จากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 3 แห่ง เขตกรุงเทพฯ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัด แบบประเมินโรคร่วมของการเจ็บป่วย แบบบันทึกและเครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือ และแบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78 มีภาวะโรคร่วม แต่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อย โดยโรคร่วมที่พบได้มากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง (72.5%) และโรคเบาหวาน(42.9%) และจากการศึกษาความสัมพันธ์ พบว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .57, p < .01) และความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = - .62, p < .01) อย่างไรก็ตาม พบว่า ภาวะโรคร่วมไม่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วย (r = - .06, p > .05)

ผลการศึกษาครั้งนี้ สอดคล้องกับการศึกษาของ Beloosesky และคณะ (2010) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือมาก จะทำให้มีการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ได้ดี เพราะผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมการฟื้นตัวได้ดี เช่น การนั่ง ยืน เดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด และสอดคล้องกับการศึกษาของ Herrick และคณะ (2004) และ Bruggemann, Nixon และ Cavenett (2006) ที่พบว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่มีความวิตกกังวลจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเคลื่อนไหวและยังพบว่าความวิตกกังวลในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะมีผลทำให้การฟื้นฟูสภาพ ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย (Oliver, 2005) ความวิตกกังวลจึงเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความวิตกกังวลขณะเผชิญอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ จากผลการศึกษา พบว่า ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักร้อยละ 42.5 จะสามารถฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ เช่น การยืน เดิน และนั่งได้ดี ประมาณวันที่ 2 ภายหลังผ่าตัด

ดังนั้น จากผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) พยาบาลควรประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือและกำลังของกล้ามเนื้อแขนและมือของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพราะหากผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการกำมือมาก จะทำให้มีการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ได้ดี 2)พยาบาลควรประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญของผู้ป่วย หาสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมครอบคลุม3) พยาบาลควรกระตุ้นการฟื้นตัวด้านการทำหน้าที่ของผู้ป่วยได้อย่างอิสระ เมื่อแพทย์มีแผนการรักษาให้ผู้ป่วยเคลื่อนตัวลงจากเตียงได้

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอาจารย์ที่สอนประจำหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ ได้ร่วมกันวางแผนในการนำผลการวิจัยนี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนและนำผลการศึกษาที่ได้ไปเผยแพร่ในหอผู้ป่วยเพื่อให้พยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ร่วมกันประเมินผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก รวมทั้งผ่าตัดกระดูกบริเวณอื่นด้วยทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกต่อไป

PDF Download


แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดย อ.สุวิมล แคล่วคล่อง
สรุปโดย อ.ดร.เกศศิริ วงษ์คงคำ
21 พฤษภาคม 2557


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322762