• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

ทางด้านศัลยศาสตร์ การฟื้นตัว (recovery) เป็นเป้าหมายหลักที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการดูแลผู้ป่วยทางศัลยกรรมทุกสาขาให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการรักษาพยาบาล ดังนั้นนักวิชาการทางคลินิกจึงได้พัฒนาแบบประเมิน การฟื้นตัว ที่มีความไว ความตรง และความเที่ยงเพื่อใช้วัดความก้าวหน้าในการฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดแต่ละระยะ ตั้งแต่ระยะวิกฤติภายหลังการผ่าตัดทันที ระยะพ้นวิกฤติ และระยะฟื้นฟูสภาพ

 

เมื่อผู้นำเสนอได้ตั้งคำถามว่า "เครื่องมือใด เป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินการฟื้นตัว ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้เหมาะสมที่สุด" และได้สืบค้น เอกสารทางวิชาการ จากฐานข้อมูล OVID โดยใช้คำสำคัญคือ postoperative recovery scale และกำหนดห้วงเวลาของการตีพิมพ์เอกสาร ระหว่าง คศ 2010 ถึง ปัจจุบัน พบเอกสาร ๔ ฉบับ ที่ตรงกับ ประเด็นที่ต้องการตอบคำถาม ดังต่อไปนี้

  • Colin F. Royse, Stanton Newman,Frances Chung, Jan Stygall, Rachel E. McKay, Joachim Boldt, Frederique S. Servin, Ignacio Hurtado, Raafat Hannallah, Buwei Yu & David J. Wilkinson. Development and Feasibility of a Scale to Assess Postoperative Recovery The Post-operative Quality Recovery Scale. Anesthesiology. 2010; 113: pp 892–905.
  • Jan Jakobsson. Assessing recovery after ambulatory anaesthesia, measures of resumption of activities of daily living. Current Opinion in Anesthesiology. 2011,24:601–604.
  • Colin F. Royse, Frances Chung, Stanton Newman, Jan Stygall and David J. Wilkinson. Predictors of patient satisfaction with anaesthesia and surgery care: a cohort study using the Postoperative Quality of Recovery Scale. European Journal of Anaesthesiology. 2013; 30:106–110.
  • Peter A. Stark, Paul S. Myles, Justin A. Burke. Development and Psychometric Evaluation of a Postoperative Quality of Recovery Score The QoR-15. Anesthesiology. 2013; 118: pp......(in print)

เมื่อ อ่าน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เอกสารทั้ง ๔ ฉบับ ได้ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือการประเมินดังนี้

  1. การประเมินการฟื้นตัวสามารถกำหนดประเด็น หรือมิติในการประเมินได้หลากหลาย ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ เช่น วิสัญญีพยาบาล และพยาบาลที่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัด อาจประเมิน เรื่องของ ความสามารถในการหายใจ ความรู้สึกตัว เพื่อประเมินความพร้อมก่อนตัดสินใจย้ายผู้ป่วยออกจากห้องพักฟื้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย พยาบาลที่ทำงานในหน่วย ambulatory surgery อาจ ประเมิน ระดับความปวดก่อนผู้ป่วยกลับบ้าน และโทรติดตามเพื่อประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันในวันต่อมา
  2. การประเมินที่ดี ควรประเมินให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง แม้ว่าการประเมินแบบเฉพาะเจาะจง (single domain recovery) โดยใช้แบบวัดต่างๆ เช่น แบบวัด ภาวะ SIR, MODS จะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เพราะสามารถสะท้อนสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของผู้ป่วย ได้อย่างชัดเจน แต่ หลักการประเมินที่ดี ควร ประเมินครั้งเดียว แต่นำไปใช้ประโยชน์ได้กว้าง ทั้งประโยชน์ด้าน ผู้ป่วย ด้านระบบคุณภาพ และด้านองค์กร
  3. แบบประเมินที่ปัจจุบันวงการศัลยกรรมทางนิยมใช้ในการประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ที่เป็นแบบ multiple domain recovery คือ Post-operative Quality Recovery Scale (PQRS) พัฒนาโดย Prof Myles และคณะ ในปี คศ ๑๙๙๙ Prof Myles เป็นวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย ที่ต้องการหาวิธีการประเมินผลลัพธ์ ที่สะท้อนคุณภาพของการให้ยาระงับความรู้สึก ในกลุ่มผู้ป่วยหลังผ่าตัด ทั้งในกลุ่มที่เป็น ambulatory surgery และกลุ่มที่เป็นการผ่าตัดที่ต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยเหตุผลที่ว่า การประเมินเฉพาะ อัตราตาย อัตรารอดชีวิต ระยะเวลาใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะเวลาการใส่ท่อหายใจ อาจไม่ได้แสดงถึงผลลัพธ์ที่แสดงคุณภาพการรักษาพยาบาลที่แท้จริงได้ Myles และคณะ จึงได้เริ่มหาคำตอบว่า วิธีการประเมินแบบใด หรือ มี parameter ใด ที่สามารถแสดงผลลัพธ์ในลักษณะดังกล่าวได้

กระบวนการในการพัฒนาแบบวัดของ Myles และคณะมีดังนี้

  1. comprehensive literature review เพื่อค้น postoperative recovery scales ที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น และวิเคราะห์ ข้อจำกัดของเครื่องมือ
  2. ใช้ เทคนิค Delphi เพื่อวิเคราะห์มุมมองในการฟื้นตัวจากทั้งมุมมองของผู้ป่วยและมุมมองของบุคลากรสุขภาพ
  3. สรุปคำจำกัดความ นิยามของ การฟื้นตัวว่าหมายถึงการกลับคืนสู่ baseline เดิม หรือ ดีขึ้นกว่าเดิม
  4. พัฒนา ข้อคำถาม (ยกร่างข้อคำถามรอบแรก-เครื่องมือนำร่อง) เพื่อการประเมินการฟื้นตัว โดยใช้ข้อมูลจากการทำ Delphi
  5. กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อการประเมินการฟื้นตัว (เช่น ควรประเมินในชั่วโมงที่เท่าใดหลังการผ่าตัด ควรประเมินซ้ำเมื่อใด)
  6. แปลเครื่องมือนำร่องเป็นภาษาต่างๆ
  7. กำหนดโครงการการฝึกใช้เครื่องมือ เพื่อให้เป็นไปในทิสทางเดียวกัน
  8. พัฒนาโครงการนำร่องเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการนำเครื่องมือไปประเมิน ในกลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดจำนวน ๑๓๓ คน
  9. ปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือใหม่อีกรอบ จากการวิเคราะห์ผลที่ได้จากข้อ 8 โดยในรอบนี้ได้คำนึงถึงค่าคะแนนที่ได้จากข้อต่างๆ ที่มี "floor" or "ceiling" effects
  10. เขียนแบบประเมิน PQRS ฉบับสมบูรณ์ วิธีการใช้แบบประเมิน เวลาเหมาะสมที่ควรใช้แบบประเมิน และเริ่มแปลเป็นภาษาต่างๆอีกหลายภาษา
  11. นำไปหาความตรงเชิงโครงสร้างโดยใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 701 คน

เนื่องจากแบบประเมินชุดเดิมมีจำนวนข้อมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกในกการตอบ ในปี ค.ศ. 2013 Prof Myles และคณะจึงได้ปรับปรุงเครื่องมือ PQRS และตัดข้อที่มีความซ้ำซ้อนออกไป เหลือแบบประเมิน 15 ข้อ และได้มีการนำไปใช้ในผู้ป่วยพบว่ามีความตรงและความเชื่อมั่นในระดับดี และใช้ชื่อว่าแบบประเมิน QoR-15 patient survey เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ได้ทำจดหมายขอแปลเป็นภาษาไทย และใช้เครื่องมือดังกล่าวสำหรับการวิจัยของภาควิชา และได้รับอนุญาตเป็นทางการแล้ว แบบประเมิน QoR-15 patient survey ต้นฉบับภาษาอังกฤษ และ แบบประเมิน QoR-15 patient survey ที่แปลเป็นภาษาไทย โดยทีมอาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการ CRM ของภาควิชา ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ศูนย์จัดการการฟื้นตัว ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330691