• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

ภาควิชาการพยาบาลศัลย์ศาสตร์ได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุม 704 ผู้ดำเนินการได้แจ้งถึงการจัด KM ของภาควิชาฯ วันนี้เป็นครั้งที่ 2 ตามกำหนดหัวข้อเรื่องเดิมนั้น เป็นเรื่องของ Recovery Management ใน specialty area ต่างๆ โดยเริ่มที่ระบบประสาทศัลยศาสตร์ แต่เนื่องจากอาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวติดภารกิจ จึงขอปรับเปลี่ยนหัวข้อเป็นเรื่องของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการฟื้นตัว (Recovery) โดยได้แจกบทความวิชาการเรื่อง Validity and reliability of a postoperative quality of recovery score: the QoR-40 ของ Myles, P.S., Weitkamp, B., Jones K., Melick J., Hensen S. ในวารสาร British Journal of Anaesthesia, 84(1), 2000. กับอาจารย์ทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนความรู้วันนี้

 

จากบทความดังกล่าวคณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพของการฟื้นตัว QoR-40 โดยทีมวิสัญญีแพทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกภายหลังการผ่าตัดใน 24 ชม.แรก เครื่องมือประเมินการฟื้นตัว QoR-40 ประกอบด้วย 40 ข้อคำถาม ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ Emotional state 9 ข้อคำถาม, Physical comfort 12 ข้อคำถาม, Psychological support 7 ข้อคำถาม, Physical independence 5 ข้อคำถาม, และ Pain 7 ข้อคำถามตัวเลือกในการตอบคำถามเป็นแบบ Likert scale 5 ระดับ คะแนนต่ำสุด 40 คะแนน และคะแนนสูงสุด 200 คะแนน คณะผู้พัฒนาเครื่องมือได้มีการทดสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยการใช้ประเมินการฟื้นตัว (Recovery) ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและได้รับยาระงับความรู้สึกแบบ General anaesthesia ใน 24 ชม. แรกหลังผ่าตัด ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ทั้งหมด 192 ราย มีการนำข้อมูลจากเครื่องมือประเมินที่กลุ่มตัวอย่างตอบสมบูรณ์จำนวน 160 ราย มาวิเคราะห์ข้อมูล จากการรายงานวิจัยพบว่าคุณภาพของเครื่องมืออยู่ในระดับดี มี internal consistency (Cronbach’s alpha=0.93, p<0.001) และ Split-half coefficient (alpha=0.83, p<0.001) โดยกลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการตอบแบบประเมินการฟื้นตัว QoR-40 น้อยกว่า 6.3 นาที (เฉลี่ย 4.9 นาที) สำหรับเครื่องมือนี้นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ได้ขออนุญาตจากเจ้าของเครื่องมือเพื่อ

แปลกลับ (Back translate) เป็นภาษาไทย เพื่อใช้ในการประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งก็ได้รับอนุญาตและอยู่ในระหว่างการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลของโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดฉุกเฉินต่อการรับรู้สมรรถนะของตนเองและคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องแบบฉุกเฉิน”

ภายหลังการเรียนรู้เครื่องมือ QoR-40 แล้วผู้เข้าร่วม KM ที่ได้เคยศึกษาเครื่องมือดังกล่าวก็ได้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยมีผู้เสนอความคิดเห็นว่าเครื่องมือ QoR-40 มีความเหมาะสมในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดในระยะแรก ๆ แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยในระยะเวลาหลังผ่าตัดที่ยาวนานขึ้น อาจจะต้องพิจารณาใช้เครื่องมือ อื่น ๆ เช่น Health status หรือ SF-36 ซึ่งสามารถสะท้อนผลของการฟื้นตัวที่ยาวนานมากขึ้น อีกทั้งในตัวเลือกของเครื่องมือ QoR-40 ที่เป็นแบบ Likert scale หากพบว่าในบางกิจกรรมที่ระบุอยู่ในเครื่องมือ ผู้ป่วยยังไม่ได้ทำในกิจกรรมนั้น ๆ ควรจะมีตัวเลือกให้กับผู้ป่วยได้เลือกว่ายังไม่ได้ทำกิจกรรมนั้น เพื่อให้สามารถประเมินได้อย่างเที่ยงตรง นอกจากนี้ที่ประชุมอีกหลายท่านได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมืออื่น ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยมาแล้ว เช่น Six minute walk test ที่ใช้ประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดช่องท้องและพบว่ามีการใช้ประเมินผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดหลอดเลือดส่วนปลายเช่นกัน ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยระบบประสาทมีการพัฒนาเครื่องมือ FOUR ใช้ในการประเมินการฟื้นตัว ซึ่งมีความแตกต่างจาก Glasgow coma scale (GCS) ที่มีข้อจำกัดในการใช้ประเมินในผู้ป่วยระบบประสาทที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร (Verbal response) เช่น ผู้ป่วยใส่ท่อทางเดินหายใจ สำหรับแบบประเมิน FOUR ไม่มีการประเมินในส่วนของการตอบสนองในเรื่องของการสื่อสาร (Verbal response) ทำให้สะดวกขึ้นในการใช้ประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยระบบประสาทในระยะวิกฤติ

จากการทำ KM ในครั้งก่อนได้พูดคุยกันถึงความหมายของการฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยแต่ละระยะจะคลอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ การฟื้นตัวด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้าน สังคม และด้านการทำกิจกรรมที่เป็นประจำในชีวิต ทั้งนี้เครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนั้นสามารถใช้ได้อีกหลากหลายเครื่องมือ การเลือกใช้เครื่องมือจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มประชากรที่จะใช้เครื่องมือในการประเมิน ระยะเวลาภายหลังการผ่าตัด รวมทั้งตัวแปรที่ผู้วิจัยมีความสนใจต้องการจะศึกษาในกลุ่มประชากรนั้น ๆ สำหรับในครั้งต่อไปการจัด KM เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อเรื่อง Recovery Management ในระบบประสาทศัลยศาสตร์ ซึ่งดำเนินการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกศรินทร์ อุทริยะ-ประสิทธิ์ และคณะ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 เวลา 12.00 น. ณ ห้อง 704


 

รศ.สุวิมล กิมปี, ผศ.ทิพา ต่อสกุลแก้ว, ผศ.วัลย์ลดา ฉันท์เรืองวณิชย์, ผศ.นภาพร วาณิชย์กุล, ผศ.ปรางทิพย์ ฉายพุทธ, ผศ.ปิยะวาท เกสมาส, ผศ.พิกุลทิพย์ หงษ์เหิร, ผศ.ยุวดี ชาติไทย, ผศ.สุพร ดนัยดุษฎีกุล, ผศ.อุษาวดี อัศดรวิเศษ, อ.ปิยาภรณ์ เยาวเรศ, อ.พรสินี เต็งพานิช


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322735