• MUQF2023-Slide1.PNG
  • MUQF2023-Slide2.PNG
  • MUQF2023-Slide3.PNG

ภาควิชาการพยาบาลศัลย์ศาสตร์ได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 เวลา 12:00 - 13:00 น. ณ ห้องประชุม 704 ผู้ดำเนินการได้แจ้งถึงการจัด KM ของภาควิชาฯ กล่าวคือ ภายหลังการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศของภาควิชาฯ คือ ศูนย์กระตุ้นการฟื้นตัว (Center of Recovery Management : CRM) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 นั้น อาจารย์ในภาควิชาฯ ได้ดำเนินการในหน่วยย่อย (area of specialty) ไปแล้วในระดับหนึ่ง ในขณะที่อาจารย์บางท่านก็มีความเข้าใจในมโนทัศน์ของการฟื้นตัวแตกต่างกันไป ประกอบกับคณะฯ มีนโยบายส่งเสริมให้จัดทำ KM ในภาควิชาฯ ดังนั้นคณะกรรมการ CRM จึงคิดว่า ควรริเริ่มจัดทำ KM โดยนำกรอบความรู้ในเรื่อง การฟื้นตัว (Recovery) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้มีความชัดเจนและเข้าใจถึงกรอบแนวคิดของการฟื้นตัวในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนางานของอาจารย์สอดคล้องไปในทิศทางของ CRM

 

โดยการจัด KM ของภาควิชาฯ นี้ มีรูปแบบ lunch talk ในเวลา 12.00 – 13.00 น. ก่อนประขุมภาควิชาฯ (วันพุธที่ 2 ของเดือน)

การจัด KM ครั้งแรกนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยใช้บทความวิชาการเรื่อง “Postoperative recovery: a concept analysis” ของ Allvin R., Berg K.l, Idvall E. & Nilsson U. จากวารสาร Journal of Advanced Nursing, 57(5), 2007 ซึ่งสรุปสาระจากการดำเนินการได้ดังนี้

การศึกษาด้านการฟื้นหายในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ปัจจุบันยังมีการศึกษาค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่เป็นการศึกษาของแพทย์ดมยา ทำให้ยังขาดความชัดเจนในเรื่องของการฟื้นตัวอีกมาก ซึ่งจากบทความนี้ได้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลของ MEDLINE และ CINAHL จาก ปี ค.ศ. 1982 ถึง ตุลาคม 2005 ซึ่งมีงานตีพิมพ์ทั้งสิ้น 26 ฉบับ และตำรา 1 เล่ม และสรุปว่าการฟื้นตัวหลังผ่าตัด หมายถึง กระบวนการใช้พลังงานของร่างกายเพื่อกลับสู่สภาวะปกติ และสุขภาพแข็งแรง เทียบเท่าสุขภาพก่อนเจ็บป่วยหรือก่อนการผ่าตัด” โดยแบ่งระยะของการฟื้นตัวหลังผ่าตัดออกเป็น 3 ระยะคือ

  1. ระยะ Early phase เป็นระยะตั้งแต่ผู้ป่วยยุติการได้รับยาสลบจนถึงระยะที่ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองในการปกป้องชีวิต (vital protective reflexes)
  2. ระยะ Intermediate phase เป็นระยะตั้งแต่ผู้ป่วยมีการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่แสดงถึงการมีชีวิต (vital function) คงที่จนถึงพร้อมกลับบ้าน
  3. ระยะ Late phase เป็นระยะหลังกลับบ้านจนถึงการมีภาวะสุขภาพเหมือนก่อนผ่าตัดและมีความผาสุก (well – being)
    ในระยะ Late phase ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยกลับบ้าน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
    1. ระยะ Passivity คือ ช่วงเวลาของการพักเพื่อการฟื้นตัวทางกาย
    2. ระยะ Activity resumption คือ การเตรียมเพื่อกลับสู่การทำกิจกรรมตามปกติได้อย่างเต็มกำลัง และ
    3. ระยะ Stabilization เริ่มเมื่อผู้ป่วยกลับสู่สภาพร่างกายที่สมบูรณ์ก่อนเจ็บป่วย การแสดงบทบาททางสังคมได้อย่างเต็มที่ โดยในแต่ละระยะจะทำการศึกษาครอบคลุมทั้งในด้านร่างกาย (physiological) จิตใจ (psychological) สังคม (social) ทำกิจกรรมที่เป็นประจำในชีวิต การฟื้นตัวหลังผ่าตัด แบ่งเป็น 4 มิติคือ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม

การฟื้นตัวด้านร่างกาย (physiological recovery) ผู้ป่วยมีภาวะที่ดีขึ้นของ functional status โดยสามารถควบคุม reflexes และ motor activities, การทำงานของร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ ความเจ็บปวดลดลง ภาวะอ่อนล้าลดลง และสามารถรักษาพลังงานของร่างกายไว้ได้ การอยู่เฉยๆ (Passivity) เป็นส่วนของการฟื้นตัวด้านร่างกายด้วย

การฟื้นตัวด้านจิตใจ (psychological recovery) คือการมีความผาสุกทางจิตใจอย่างสมบูรณ์ การกลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ การเปลี่ยนผ่านจากการเจ็บป่วยไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ภาวะซึมเศร้าลดลง ความโกรธ ความวิตกกังวล ภาวะเหนื่อยล้า และ passivity ลดลง

การฟื้นตัวด้านสังคม (Social postoperative recovery) ผู้ป่วยพยายามฝ่าฟันให้มีความเป็นอิสระ และสามารถทำงานเกี่ยวข้องด้านสังคมอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

การฟื้นตัวด้านการทำกิจกรรมที่เป็นประจำในชีวิต (Habitual part of recovery) ผู้ป่วยสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยรับผิดชอบและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การดูแลความสะอาดร่างกาย ความเคยชินในการรับประทานและดื่ม การกลับไปสู่การทำงานและการขับรถยนต์ เป็นต้น

กระบวนการฟื้นตัว (recovery process) ความหมายครอบคลุมถึงจุดเปลี่ยนหักเห หรือสภาวะของผู้ป่วย หรือตัวชี้วัดการฟื้นตัว (recovery indicatiors) หมายถึงวิถีการฟื้นตัว (recovery trajectories) ซึ่งขึ้นกับความเชื่อของผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นตัวนั้น เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจจะคำนึงถึงโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น หรือภาวะสุขอนามัยของบุคคล เป็นตัน วิถีการฟื้นตัวจะทำให้เกิดควบคุมการทำงานของร่างกายของผู้ป่วยให้มุ่งไปสู่การฟื้นตัว การเคลื่อนสู่การควบคุมสี้เร่ยกว่า ตัวบ่งชี้การฟื้นตัว (recovery markers)

จากงานวิจัยพบว่า pain, fatigue เป็นอาการที่พบมากที่สุด และมีความรุนแรงในการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ซึ่ง pain, fatigue และ Depression มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับ functional status และ self – perception เกี่ยวกับการฟื้นตัว (Moor 1977, Hodgson & Given 2004, Zalon 20045, Nilsson et.al. 2006) ในขณะที่การฟื้นตัวมีสัมพันธ์กับการจำหน่ายกลับบ้านของผู้ป่วย ซึ่งการฟื้นตัวเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับระยะเวลาพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล

Social Support มีความสำคัญในการเกิดความผาสุกด้านจิตใจในขณะที่อยู่ในกระบวนการฟื้นตัว (Baker 1990, Nilsson et.al. 2006) ความผาสุกของจิตใจเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวด้านร่างกายเมื่อควบคุมอายุ โรคร่วม โรคที่เป็นและอาการ (Hodgson & Given 2004)

หลังจากการแลกเปลี่ยนมโนทัศน์การฟื้นตัวแล้ว มีการพูดคุยประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคือ เรื่องการหาตัวชี้วัดเพื่อระบุถึงการฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้มีการศึกษาในตัวแปรหลายตัว เช่น Functional status, Health status, ADL เกณฑ์การประเมินผู้ป่วยในแต่ละหน่วย เช่น RR, ICU เป็นต้น จึงนำมาสู่การค้นหาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการฟื้นตัวซึ่งมีอาจารย์ในแต่ละหน่วยได้ทบทวนและค้นหาไว้ รวมถึงนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ได้ค้นหาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งในขณะนี้ภาควิชาฯ มีนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิตได้นำเครื่องมือ quality of recovery 40 items (อ้างอิงด้วย) มาแปลเป็นภาษาไทย และขออนุญาตเจ้าของเครื่องมือนี้ เพื่อใช้ทำวิทยานิพนธ์การฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งเครื่องมือนี้เหมาะสำหรับการประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่เหมาะกับภาวะวิกฤต

แนวทางการพัฒนางานวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาฯ โดยใช้ concept of recovery ในขณะนี้เป็นการศึกษาวิจัยในกลุ่มอาจารย์ตาม specialty area และในแต่ละ area ของอาจารย์ ยังมีกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจทำวิจัยใน Theme ของ recovery โดยแต่ละหน่วยในภาควิชาฯ ยังความแตกต่างและหลากหลายในการวิจัยภายใต้มโนทัศน์การฟื้นตัว จึงยังไม่สามารถรวบรวมทิศทางของงานวิจัยให้เป็นชุดโครงการใหญ่ได้ ในขณะนี้ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงงานวิจัยที่แต่ละหน่วยควรไปวางแผนสำหรับอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อความชัดเจนของทิศทางของศูนย์ RM ต่อไป จึงมีความคิดเห็นพ้องกันว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ CRM ในแต่ละหน่วยเพื่อให้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ดังนั้นเพื่อให้ศูนย์ความเป็นเลิศ Center of Recovery Management (CRM) มีการพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การจัด KM ในครั้งต่อไป จะพูดคุยกันในประเด็นของการวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับ Recovery Management ใน specialty area ต่างๆ โดยเริ่มที่ระบบประสาทศัลยศาสตรค์


 

รศ.สุวิมล กิมปี, รศ.ผ่องศรี ศรีมรกต, ผศ.ทิพา ต่อสกุลแก้ว, ผศ.วัลย์ลดา ฉันท์เรืองวณิชย์, ผศ.เกศรินทร์ อุทริยะประสิทธิ์, ผศ.นภาพร วาณิชย์กุล, ผศ.ปรางทิพย์ ฉายพุทธ, ผศ.ปิยะวาท เกสมาส, ผศ.พิกุลทิพย์ หงษ์เหิร, ผศ.ยุวดี ชาติไทย, ผศ.สุพร ดนัยดุษฎีกุล, อ.พิเชต วงรอต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330902